xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านฮือบุกศาลากลางยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ สตูล ค้านสร้างเหมืองแร่หินฯ เขาโต๊ะกรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - ชาวบ้านลุกฮือบุกศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ จ.สตูล เพื่อประท้วงคัดค้านสร้างเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมเขาโต๊ะกรัง หวั่นชุมชนได้รับผลกระทบ และถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่ดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (1 ส.ค.) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ย่านถนนสายสตูลธานี ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ได้มีนักศึกษาโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิฯ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ ต. ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง และพื้นที่ ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล กว่า 150 คน เดินทางมาปักหลักชุมชน พร้อมป้ายข้อความต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อขั้นตอนการให้ประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมเขาโต๊ะกรัง ที่ตั้งอยู่ในระหว่างพื้นที่หมู่ 6 ต.ควนโดน อ.ควนโดน และพื้นที่หมู่ 7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล

พร้อมทั้งต้องการยื่นหนังสือต่อ นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ติดราชการ จึงมอบหมายให้ นายสุริยัน เดชรักษา ผู้อำนวยการกลุ่มงาน หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล และคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออกมารับหนังสือแทน
 

 
ทั้งนี้ นายอับดุลมายีด ดาหมาน อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ 9 ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล พร้อมด้วย นายมูฮัมหมาด ปะดุกา อายุ 56 ปี ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิฯ ร่วมกันกล่าวว่า ที่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ควนโดน และ อ.ควนกาหลง รวมถึงนักศึกษาโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เรื่องการที่ภาครัฐอนุญาตให้ประทานบัตรแก่บริษัท ภูทองอันดา จำกัด ทำโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมฯ เขาโต๊ะกรัง ซึ่งเป็นภูเขาตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างหมู่ที่ 6 ต.ควนโดน และพื้นที่หมู่ 7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง ซึ่งเป็นภูเขาอยู่ใกล้ชุมชน โดยที่มีการทำ EIA หรือการทำรายงานผลกระทบที่ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2560 ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เป็นการทำครั้งแรก แต่เป็นการทำครั้งที่ 3 แล้ว

ในขณะที่การทำครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นั้น ประชาชนในพื้นที่ยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามีการทำกันเมื่อไหร่ ซึ่งตรงนี้ประชาชนรับไม่ได้ เพราะประชาชนที่อยู่บริเวณรอบๆ เขาโต๊ะกรัง ต่างหวั่นวิตก และเป็นห่วงกันทั่วหน้าว่าหากโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมา ชุมชนก็อาจจะได้รับผลกระทบ และถูกทำลายจากการทำเหมือนแร่หินอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างแน่นอน
 

 
“แม้ว่าผู้นำท้องถิ่นบางส่วนในพื้นที่เป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมโครงการ หรือผู้ขอประทานบัตรดังกล่าวนั้นก็ตาม แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับ เนื่องจากการโครงการฯ ดังกล่าวนี้จะต้องมีการระเบิดหินด้วย ประการสำคัญชุมชนอยู่ห่างจากเขาโต๊ะกรัง ในรัศมีเพียง 500 เมตรเท่านั้น ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนบริเวณนั้นไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน โดยประชาชนนับ 1,000 คนเศษ ถ้าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปต้องเดือดร้อนแน่ ทั้งสถานศึกษา หรือโรงเรียน และชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว”

ฉะนั้น ชาวบ้านจึงร่วมตัวกันคัดค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด โดยไม่ว่าจะถึงขั้นดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนก็ตาม ชาวบ้านก็จะคัดค้าน และที่ผ่านมา มีการร้องคัดค้านมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล และการตอบรับจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือผู้นำในพื้นที่ที่ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนแต่อย่างใด ฉะนั้น วันนี้จึงรวมตัวกันเดินทางมาเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ จ.สตูล อีกครั้งดังกล่าว
 

 
ทางด้าน นายสุริยัน กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเขาโต๊ะกรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รับทราบมาอย่างต่อเนื่อง โดย ผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจต่อประชาชนเป็นระยะๆ ในขณะเดียวกัน ทาง จ.สตูล เองก็ทำหนังสือไปถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุญาตประทานบัตรให้แก่ผู้ขอประทานบัตรฯ ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านมายื่นหนังสือก็จะได้นำหนังสือของชาวบ้านนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมต่างพอใจ และเดินทางกลับด้วยความสงบในเวลาต่อมา
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้ทาง จ.สตูล ตรวจสอบการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งตรวจสอบการจัดทำเวทีประชาคม เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2560 และเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2560 ที่ผ่านมาด้วย พร้อมทั้งขอให้มีการสั่งการให้เป็นโมฆะ และให้สั่งยกเลิกมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลควนโดน สมัยวิสามัญที่ 3/2559 (ครั้งที่ 2) ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องดังกล่าว รวมถึงให้สั่งยกเลิกรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ (พร.211) และสั่งยุติการให้ประทานบัตรแก่บริษัทฯ โดยทันทีด้วย หากการร้องขอดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าใดๆ ภายใน 15 วันนั้น ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะรวบรวมรายชื่อ เพื่อยืนหนังสือต่อผู้เกี่ยวข้องในระดับสูงต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น