xs
xsm
sm
md
lg

ยุติกลางคัน! ชาวบ้านเดินหน้าล้มเวทีวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม “ระเบิดเขาโต๊ะกรัง” ที่สตูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - ต้องยุติลงกลางคัน! เวทีวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม “ระเบิดเขาโต๊ะกรัง” ซึ่งอยู่รอยต่อ อ.ควนโดน และ อ.ควนกาหลง จ.สตูล หลังถูกกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยแท้จริง เดินหน้าคัดค้านด้วยการโห่ร้อง และถือป้ายคัดค้านการทำเวทีในครั้งนี้ที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอควนโดน จ.สตูล มีการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ของบริษัท ภูทองอันดา จำกัด ตามคำขอประทานบัตร ที่ 4/2559 ต้องยุติลงกลางคัน หลังกลุ่มผู้คัดค้านการระเบิดเขาโต๊ะกรัง ซึ่งอยู่รอยต่อ อ.ควนโดน และ อ.ควนกาหลง จ.สตูล ได้รวมตัวกันคัดค้านด้วยการโห่ร้อง และถือป้ายคัดค้านการทำเวทีในครั้งนี้ที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ทั้งที่ชาวบ้านได้ร้องคัดค้านมาโดยตลอด และมีการตั้งเวทีด้วยการระดมคนที่ไม่ได้รับผลกระทบมาฟังเท่านั้น แถมการเริ่มประชุมทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาที่กำหนด
 

 
โดยตามกำหนดการเวลา 10.30 น. ตัวแทนบริษัท ภูทองอันดา จำกัด จะกล่าวรายงานต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนโดน ถึงการดำเนินงานของทางบริษัทฯ พร้อมแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยนักวิชาการสิ่งแวดล้อมของทางบริษัทฯ จากนั้นจะเปิดการรับฟังความคิดเห็น และตอบข้อซักถามโครงการเหมืองแร่

แต่มีการเปิดเวทีเร็วกว่ากำหนด และยุติเวทีลงไป เนื่องจากทนแรงคัดค้านของกลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง ไว้ไม่ไหว ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัด และตำรวจในพื้นที่ รวมทั้งกำลังทหารจาก ร.5 พัน 2 ซึ่งมีการเก็บใบแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านอย่างสงบ

ส่วนผู้คัดค้านยังคงยืนยันว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือไปถึงยังที่ว่าการอำเภอควนกาหลง และอำเภอควนโดน ถึงเจตนารมณ์ของชาวบ้านที่ไม่ต้องการเหมืองแร่หินที่มีแต่โทษ ทั้งสิ่งแวดล้อม มลพิษ อีกทั้งเป็นแหล่งป่าที่อุดมสมบูรณ์ ต้นน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของคนในพื้นที่
 

 
ชาวบ้านที่คัดค้านการระเบิดหินเขาโต๊ะกรัง ยังคงเดินหน้าในการคัดค้านตลอด ทำทุกวิถีทางในการเดินเรื่องเพื่อคัดค้านการระเบิดเขาลูกนี้ ที่เชื่อว่า มีประโยชน์ต่อคนในชุมชน 2 อำเภอ คือ อ.ควนกาหลง และ อ.ควนโดน นอกจากจะเป็นแหล่งซับน้ำตามธรรมชาติ พันธุ์ไม้ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ต้องถูกทำลายไป ถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ติดกับเขาจะคงอยู่ ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจโดยประเมินค่าไม่ได้ และเชื่อว่าการทำประชาพิจารณ์ในครั้งที่ผ่านมา มีการหมกเม็ดไม่โปร่งใส

โดยได้มีการประกาศเมื่อปี พ.ศ.2539 ต่อเนื่อง 2540 ตามประกาศอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมสตูล มีด้วยกัน 8 ลูก คือ 1.ภูเขาพลู ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 2.ภูเขาจำปา ภูเขาโต๊ะช่าง และภูเขาเณร หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 3.ภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า 4.เขาลูกช้าง โดยเขาโต๊ะกรัง เป็นลูกเขาในกลุ่มนี้ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 5.เขาวังบุมาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 6.เขาละใบดำ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 7.เขาจุหนุงนุ้ย ต.กำแพง อ.ละงู และ 8.เขาละมุ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล
 

กำลังโหลดความคิดเห็น