ตรัง - เทศบาลตำบลนาตาล่วง อ.เมืองตรัง เร่งพัฒนา “ถ้ำเขาสามบาตร” ให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และทางประวัติศาสตร์ โดยมีความเชื่อมโยงกับหลายจังหวัดทางภาคใต้
วันนี้ (31 ก.ค.) นายณัฐพงษ์ เนียมสม นายกเทศมนตรีตำบลนาตาล่วง อ.เมือง จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวเข้าชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติชุมชนเขาสามบาตร และความสวยงามของถ้ำเขาสามบาตร บนพื้นเนื้อที่ 17 ไร่ ซึ่งตลอดเส้นทางมีพันธุ์ไม้หายากหลายชนิด เช่น ต้นนมควาย ต้นตะเคียนทอง ต้นจิกน้ำ ที่เทศบาลตำบลนาตาล่วง ได้อนุรักษ์เอาไว้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยบริเวณทั่วไปยังคงอุดมสมบูรณ์ และมีความชุ่มชื้น ซึ่งเห็นได้จากเห็ดที่เจริญเติบโตงอกงาม
ขณะที่การเดินทางก็สะดวกสบาย เพราะได้มีการทำถนนคอนกรีต และสะพานไว้ให้ชมธรรมชาติ หรือพันธุ์ไม้ลัดเลาะไปตามพื้นที่ต่างๆ จนมาถึงถ้ำเขาสามบาตร ซึ่งมีความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 5 เมตร และปากถ้ำกว้างประมาณ 4 เมตร โดยเพดานถ้ำมีลักษณะโค้งรูปโดม ส่วนตามผนังทั้งสองข้างมีเป็นซอกเล็กๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ สูงจากระดับพื้นถ้ำขึ้นไปประมาณ 3 เมตร จะมีตัวอักษรไทยสีแดงเขียนลงบนพื้นสีขาว ที่มีเนื้อหาที่บอกเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปไว้ เมื่อ พ.ศ.2157 ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้ทรงคัดลอกข้อความ และบันทึกไว้ในหนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู เมื่อ ร.ศ.121
ภายในถ้ำเขาสามบาตร ยังมีหินงอกหินย้อย รวมทั้งเสาหินค้ำยันถ้ำ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เสาภูมิ” ขณะที่บนเพดานถ้ำมีค้างคาวจำนวนมากนับพันตัวอาศัยอยู่ ลึกเข้าไปจนถึงด้านหลังสุดของถ้ำทางทิศใต้ จะมีถ้ำพระ ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เคยมีพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่องค์หนึ่ง แต่ปัจจุบันได้พังทลายไปแล้ว และยังมีถ้ำน้ำ ที่แยกมาจากถ้ำพระ ไปตามซอกแคบๆ ยาวประมาณ 3 เมตร นอกจากนั้น ภายในถ้ำยังมีหลักฐานสำคัญหลายอย่าง ทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในสมัยประวัติศาสตร์
เช่น ภาพเขียนสี ที่มีรูปทรงคล้ายภูเขาสามลูกต่อกัน เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ที่มีเนื้อดินหนา สีแดง และสีดำ รูปทรงแตกต่างกัน ขวานหินขัด และลูกปัดที่ทำด้วยเปลือกหอย เศษภาชนะดินเผา ที่มีเนื้อดินละเอียด สีขาว รูปทรงคล้ายคณโฑ และพวยแบบกาน้ำ ซึ่งในอดีตเชื่อว่า ภายในถ้ำแห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่กระทำพิธีกรรมการล้างบาปด้วย
พร้อมกันนั้น บริเวณใกล้กับถ้ำเขาสามบาตร ยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ซากเรือโบราณ อายุประมาณ 700 ปี มีห้องประวัติศาสตร์แสดงของโบราณ อย่างเครื่องปั้นดินเผาในลักษณะรูปแบบต่างๆ ประติมากรรมมนุษย์ยุคหิน ประติมากรรมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือประติมากรรม นายสมบูรณ์ เมียนโอ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว และความเป็นมาของถ้ำเขาสามบาตร เมื่อปี 2550
นายณัฐพงษ์ เนียมสม นายกเทศมนตรีตำบลนาตาล่วง กล่าวว่า เนื่องจากบริเวณถ้ำเขาสามบาตร เป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับวัดไพรสณฑ์ และวัดป่าหมาก ซึ่งต่างก็มีความสำคัญ ดังนั้น ทางเทศบาลจึงต้องการส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาทางวัฒนธรรม และทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองอันดับที่ 2 ของ จ.ตรัง ก่อนจะย้ายไปตั้งเมืองที่ ต.ควนธานี อ.กันตัง จึงได้อนุรักษ์ไว้เพื่ออนุชนคนรุ่นหลังได้สืบทอด รวมทั้งในอดีตยังมีความเชื่อมโยงกับ จ.กระบี่ พังงา และ จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย