คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณิพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
หยุดเขียนถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มา 1 สัปดาห์ ด้วยหวังลึกๆ ว่าความรุนแรงจะสงบลงต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่ย่างเข้าเดือนรอมฎอนเป็นต้นมา การก่อเหตุลดลงเรื่อยๆ แม้จะไม่แน่ใจว่ามาจากฝีมือของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” หรือเป็นเพราะ “บีอาร์เอ็น” ที่นำโดย “ดูลเลาะ แวมะนอ” อยู่ระหว่างการปรับทิศทาง หลังจากที่ถูกรัฐบาลมาเลเซียกดดัน โดยเฉพาะสันติบาลมาเลเซีย เรียกตัวไปพูดคุยเมื่อไม่นานมานี้
เพราะลึกๆ แม้จะยกประโยชน์ให้จำเลย คือ ยกความชอบให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่สามารถทำให้การก่อเหตุลดลง ถ้าเทียมกับการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อปี 2559 แต่จากการตรวจสอบการทำหน้าที่ของกองกำลังในพื้นที่กลับยังเห็น “จุดอ่อน” เห็น “ช่องว่าง” มากมายที่โจรใต้ยังสามารถก่อเหตุได้ถ้าคิดจะทำ จึงทำให้เเชื่อว่าเหตุร้ายที่ลดลง 2 เดือนที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยภายในของ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นเอง
และน่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องเพราะนับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ เหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างเกิดขึ้นแบบ “ถี่ยิบ” แม้จะไม่ใช่ปฏิบัติการ “คาร์บอมบ์” หรือ “ระเบิดแสวงเครื่อง” เป็นหลัก แต่ก็มีปฏิบัติการ “รายวัน”อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเหตุที่สำคัญๆ ได้แก่
การขว้างระเบิดแบบไปป์บอมบบ์ใส่จุดตรวจตำรวจที่ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ผลคือตำรวจตาย 1 เจ็บ 1 ส่วนโจรใต้ลอยนวล ยิงดาบตำรวจ สภ.สายบุรี เสียชีวิตในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ยิงอาสาสมัครประจำ อ.สายบุรี เสียชีวิต 1 มีประชาชนถูกลูกหลงด้วย 1 ราย ยิงพ่อค่าเร่ขายฟูก 2 แม่ลูกชาวไทยพุทธ ลูกตาย แม่เจ็บ ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และเหตุยิงบ้านคนไทยพุทธที่ริมถนนสายปัตตานี-หาดใหญ่ 8 หลัง มีคนเจ็บ 8-10 คน นี่ยังไม่รวม เหตุยิงรายวันอีกหลายราย ซึ่งยังก้ำกึ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องความมั่นคง
ที่สังเกตคือ ทุกเหตุเป็นการก่อเหตุใน “ชุมชน” เช่น จุดตรวจปาลุกาสาเมาะ ตั้งอยู่ในชุมชน ยิงบ้านคนไทยพุทธในเวลาเดียว 8 หลัง ที่ตั้งอยู่ในชุมชน ไม่ห่างจากจุดตรวจเท่าไหร่ ยิงนายดาบพบขับ ผกก.สภ.สายบุรี ห่างจากจุดตรวจไม่มาก ยิง อส.สายบุรี ยิงในร้านน้ำชากลางหมู่บ้าน และยิง 2 แม่ลูกที่ขับรถเร่ขายฟูกก็เป็นการปฏิบัติการในชุมชน แถมมีการ “ทิ้งใบปลิว” แสดงความรับผิดชอบว่า เป็นโจรใต้ที่มีเป้าหมายต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ
ปฏิบัติการของโจรใต้ทั้งหมด นั่นคือ “คำตอบที่ชัดเจน” ว่า กลุ่มโจรใต้ หรือแนวร่วมยังมี “ขีดความสามารถ” ในการปฏิบัติการต่อ “เป้าหมาย” ที่ต้องการอย่างได้ผล โดยปราศจาก “การขัดขวาง” จากเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งที่พื้นที่ปฏิบัติการของโจรใต้อยู่ในเขตชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการรักษาความสงบมากกว่าพื้นที่ห่างไกล แต่โจรใต้ยังปฏิบัติการได้สำเร็จ เป้าหมายเสียชีวิต และที่สำคัญหลังการปฏิบัติการ คือ สามารถหลบหนีได้อย่าง “ลอยนวล” และ “ปลอดภัย”
อันเป็นไปตามหลักการของขบวนการบีอาร์เอ็น ที่หลังการปฏิบัติการต่อเป้าหมายแล้วต้องหลบหนีอย่างปลอดภัยของทั้ง “คนลงมือ” “คนมารับปืน” และ “คนพาหลบหนี” ตามยุทธวิธี “โอกาสมี ทางหนีสะดวก” ให้ปฏิบัติการได้ทันที
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันที่จะมีเหตุรายวันที่เกิดความสูญเสียอย่างต่อเนื่องเกิดขึ้น พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะ “พูดคุยสันติสุข” ฝ่ายไทย ได้แถลงข่าวถึง “ความก้าวหน้า” ของกระบวนการพูดคุยว่า คณะทำงานเทคนิคร่วมของคณะพูดคุยสันติสุขระหว่าง “รัฐไทย” กับ “มาราปาตานี” และ “รัฐบาลมาเลเซีย” ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกไว้ว่า
ได้ทำการตัด “คณะกรรมการประเมินพื้นที่” เพื่อกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟตี้โซน” ออกจากคณะพูดคุยไปแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อเพื่อความคล่องตัวในการเดินหน้าของคณะทำงาน มีการยกเลิกพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนจากที่เคยกำหนดไว้ 5 อำเภอ เหลือเพียง 1 อำเภอในแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นการ “นำร่อง” ในการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นพื้นที่ของอำเภอไหน หรือในจังหวัดอะไร
สิ่งที่ พล.อ.อักษรา ต้องการ “สื่อสาร” ถึงคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุข “ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง” แต่การพูดคุยคือการ “ลดความรุนแรง” ดังนั้น การที่สื่อมวลชน และประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า การเดินหน้าการพูดคุยทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรง จึงเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้”
นั่นคือ “คำชี้แจง” และถือเป็น “ทัศนะ” ของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย
แต่ใน “ความสอดคล้อง” คือ หลังการออกมาแถลงข่าวของ พล.อ.อักษรา ก็เกิด “เหตุร้ายขึ้นแบบถี่ๆ” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้นักวิเคราะห์สถานการณ์ และคนในพื้นที่อดคิดไม่ได้ว่า สถานการณที่เกิดขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โจรใต้ต้องการแสดงถึง “นัย” อะไรหรือไม่ต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่กำลังจะมีการประชุมร่วมในอีกไม่ช้านานนี้
หรือนี่เป็นการแสดงออกของบีอาร์เอ็นที่ “ไม่เห็นด้วย” และประกาศ “ไม่เข้าร่วมกับกลุ่มมาราปาตานี” หลังจากที่ฝ่ายไทยพยายาม “ขอร้อง” รัฐบาลมาเลเซียให้นำตัวแทนของบีอาร์เอ็นใน “ปีกการเมือง” มาร่วมคณะเพื่อเจรจากับฝ่ายไทยแต่ก็ไม่เป็นผล
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียได้สั่งการให้สันติบาลที่ “ดูแล” กลุ่มบีอาร์เอ็นอยู่ในแดนเสือเหลือง ไปกดดันผู้นำบีอาร์เอ็นไม่ว่าจะเป็น ดูลเลาะ แวมะนอ กับ เด็ง แวกาจิ และ อดุลย์ มุณี ฯลฯ ให้ทำให้ 2 เรื่องคือ 1. ทำความต้องการของฝ่ายไทยที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมาราปาตานี และ 2.ห้ามยุ่งเกี่ยวกับขบวนการรัฐอิสลาม หรือไอเอส
ดังนั้น ที่ในห้วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาการก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดน้อยลง นั่นอาจจะมาจากการพูดคุยระหว่างผู้นำบีอาร์เอ็นกับตำรวจสันติบาลมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสูงสุด ในการ “คงอยู่” ของขบวนการบีอาร์เอ็น
แต่ก็มีสัญญาณที่ทำให้เชื่อว่า ดูลเลาะ แวมะนอ ยังคงปฏิเสธการส่งตัวแทนปีกการทหารเข้าร่วมกับกลุ่มมาราปาตานี เพื่อร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนรัฐไทย ที่สำคัญบีอาร์เอ็นไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่เซฟตี้โซนที่เหลือเพียง 1 อำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ การลดพื้นที่เซฟตี้โซนจาก 5 อำเภอ เหลือแค่ 1 อำเภอ ถือเป็น “ความได้เปรียบ” ของฝ่ายมาราปาตานีที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ออกคำสั่งอยู่เบื้องหลังมากกว่า แม้จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถที่จะหาพื้นที่ปลอดภัยได้ง่ายขึ้นก็ตาม
แต่ถ้าเหลือพื้นที่เซฟตี้โซนแค่ 1 อำเภอเดียว แล้วยังเกิดเหตุร้ายขึ้นในพื้นที่ได้อีก นั่นจะเป็นการพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น อนาคตของกลุ่มมาราปาตานีกับเวทีการพูดคุยที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้กำหนดก็อาจจะต้อง “ปรับเปลี่ยนวิธีการ” อีกครั้ง
สิ่งที่ต้องจับตามองใกล้ชิดต่อไป คือ หลังความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำอีกในรอบกว่า 10 วันที่ผ่านมา นับจากนี้ไปจนถึงวันเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบหน้าจะยังเกิดความรุนแรงต่อเนื่องไปอีกหรือไม่ และกำลังในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะปฏิบัติการอย่างไรให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลดลง
โดยเฉพาะเพราะปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” และ “คนไทยพุทธ” ในรอบ 10 วันที่ผ่านมาเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ดูลเลาะ แวมะนอ ยังให้บีอาร์เอ็นคงยุทธศาสตร์การใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และคนไทยพุทธอย่างเป็นด้านหลัก
บางทีการเข้าไปของไอเอสสู่ประทศมาเลเซีย นั่นจะยิ่งทำให้บีอาร์เอ็นมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิม เพราะรัฐบาลมาเลเซียอาจจะต้องอาศัยบีอาร์เอ็นในการขับไล่ไอเอส โดยอาจจะต้องให้สิทธิพิเศษแก่บีอาร์เอ็นมากขึ้นอีก
หากเป็นเช่นนั้นยิ่งนับเป็นไปตาม “ความฝัน 100 ปี” ของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานทองของไทยให้ได้ และที่สำคัญเป็นไปตามที่มี “มุสลิมกลุ่มหนึ่ง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้วาดหวังไว้ด้วย