xs
xsm
sm
md
lg

ต้องอย่าเชื่อแค่ “นายพล” และ “หมอดู” รอบกาย แล้วการดับไฟใต้จะไปได้สวย / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
วันนี้เป็นวันที่ต้องขอชื่นชม พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ศชต. หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พล.ต.โภชน์ นวลบุญ ผบ.ฉก.ปัตตานี และ ผบ.มณฑลทหารบกที่ 46  ที่สามารถคลี่คลายคดีการสังหารโหด นายสมาแอ ดอเลาะ นายก อบต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้เป็นผลสำเร็จ โดยสามารถควบคุมผู้ต้องหาได้ 8 คน พร้อมทั้งได้ปืนของกลางที่ใช้ก่อเหตุ
 
เป็นการคลี่คลายคดีที่ค่อนข้าง “หมดจด” มีที่มาที่ไปให้สามารถ “จับต้องได้” ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดเป็น “ของจริง” ที่ไม่ใช่ “แพะ” ให้ประชาชนคลางแคลงใจ
 
มีสิ่งที่เป็นที่น่าสังเกตคือ ผู้ต้องหาชุดนี้มีทั้งที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน อดีตนายก อบต.รวมอยู่ด้วย ซึ่งสาเหตุของการสังหารโหดมาจากเรื่องความขัดแย้งทาง “การเมืองท้องถิ่น เป็นด้านหลัก ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่อง “ความมั่นคง และที่สำคัญผู้ที่เป็น “มือสังหาร ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามโฆษณาชวนเชื่อ หรือปลุกระดมให้ “มุสลิม ในพื้นที่เข้าใจผิดว่า นั่นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ด้วยการโยงประเด็นความขัดแย้งระหว่างผู้ตายกับหัวหน้าฝ่ายใน อบต.ที่ผู้ตายนั่งเป็นนายกฯ อยู่ และมีนายทหารระดับผู้นำเข้าไปเกี่ยวข้อง จนเกิดการข่มขู่เกิดขึ้น ซึ่งหลังเกิดเหตุคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นภาพของมือปืนทั้ง 3 คน ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เห็นถึงยุทธวิธีในการใช้อาวุธปืน และการปฏิบัติการ จึงเชื่อว่ามือสังหารเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ดังนั้น การที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ให้ความสำคัญต่อคดีนี้ และสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนติดตามจับกุมคนร้ายได้ถึง 8 คน และอาจจะมีคนที่ 9 และ 10 ซึ่งยังไม่รวมถึง 3 มือสังหารที่ปรากฏในภาพของกล้องวงจรปิด ได้ทำให้ความคลางแคลงใจของคนในพื้นที่ว่า การตายของนายก อบต.ปิยามุมัง มีสาเหตุจากความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ใน อบต. และเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้สั่งตายเป็นอันหมดข้อสงสัย
 
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเมืองท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นการเมืองที่มี “ความขัดแย้ง” มีการแย่งชิงตำแหน่ง มีการฆ่าคนเก่าเพื่อเปิดทางให้แก่คนใหม่ได้นั่งในตำแหน่งนายกฯ ในขณะท้องถิ่นเองก็มีการแย่งชิงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วยวิธีการ “สั่งตาย คู่แข่งมากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ
 
ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี “ก๊วน” หรือ “เจ้าพ่อ” ในวงการการเมืองท้องถิ่นที่ทำหน้าที่บงการให้ในแต่ละท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของตนเอง ซึ่งพบว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คนในวงการ “ท้องที่” และ “ท้องถิ่น” แบ่งพรรคแบ่งพวกกันถึง 30 กว่าก๊วน
 
การใช้ความรุนแรงแย่งชิงตำแหน่งทั้งทางท้องถิ่น และท้องที่ แสดงให้เห็นว่าการเมืองท้องถิ่น และตำแหน่งผู้นำท้องที่เป็นตำแหน่งที่มี “อิทธิพล” และมี “ผลประโยชน์” อยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องมีการ “ลงทุน” ทั้งในเรื่องเงิน และอื่นๆ สุดท้ายจึงคือการสั่งตายให้แก่คู่แข่ง
 
คดีการสังหารโหด นายสะมาแอ ดอเลาะ ถูกโยงไปถึงคดีเก่าคือ การเสียชีวิตของอดีดกำนันเก่าในพื้นที่ เพราะก่อนที่นายสะมาแอ จะมาเป็นนายก อบต.ปิยามุมัง เคยเป็นกำนันมาก่อน และลาออกจากกำนันลงแข่งขันกับคู่แข่งจนได้เป็น นายก อบต. และมีความขัดแย้งทั้งในเรื่องการเมืองท้องถิ่น และผลประโยชน์จากงบประมาณของ อบต.
 
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายตรงข้ามของผู้ตายรอจังหวะ รอโอกาสในการแก้แค้นมาเป็นเวลานาน จนมีความขัดแย้งใน อบต. และมี “นายทหาร คนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงได้ลงมือให้มือสังหาร เป็นปฏิบัติการเพื่อให้เห็นว่าประเด็นการสังหารโหดมาจากความขัดแย้งภายใน อบต. และมี “ทหาร” เข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยมี “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” เป็นผู้รับลูก และเป็นผู้นำไปโฆษณาเพื่อผลทางการเมืองของขบวนการ
 
วันนี้ประเด็นที่สำคัญคือ การติดตามมือสังหารทั้ง 3 คน ที่ปรากฏในภาพ ซึ่งน่าจะไม่ใช่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นมือปืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เนื่องจากถ้าเป็นการ “ว่าจ้างหรือการ “ขอแรง จากแนวร่วม หลังปฏิบัติการเสร็จจะไม่มีการ “ทิ้งรถยนต์ ของกลาง เพราะแนวร่วมมีสถานที่เก็บรถ และดัดแปลงสภาพ และที่สำคัญ “อาวุธปืน” ที่ใช้ในการสังหาร ถ้าเป็นของแนวร่วม “ปืนกองกลาง หลังการปฏิบัติการจะไม่นำไปโยนทิ้งในลำคลอง เพราะเป็นปืนที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของขบวนการเป็นอย่างยิ่ง
 
ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องคลี่คลายประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจน และต้องติดตามจับกุม 3 มือสังหารในภาพของกล้องวงจรปิดให้ได้โดยเร็ว หรืออย่างน้อยก็ต้องสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 8 คนให้เปิดปากว่า มือสังหารทั้ง 3 คนเป็นใคร มีส่วนเกี่ยวข้องต่อหน่วยงานใดของทางการหรือไม่
 
แต่โดยภาพรวมตำรวจภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ทำคดีนี้ได้ดี รวมทั้งคดียิงพ่อค้ารับซื้อยางพาราที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับคดียิงนายก อบต.ปิยามุมัง เพราะการจับกุมได้อย่างมีพยานหลักฐานเช่นนี้ ย่อมสร้างความมั่นใจ และความเชื่อถือให้เกิดขึ้น และข้อสำคัญคือ สังคมจะได้รับรู้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ส่วนหนึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งในทางการเมืองท้องถิ่น และผลประโยชน์ของธุรกิจผิดกฎหมาย
 
สมควรอย่างยิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องให้ ศชต. และ ศอ.บต. ทำการขยายผล นำข้อเท็จจริงมาตีแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในเรื่องของท้องที่ และท้องถิ่น รวมทั้งต้องเข้าไปขจัดอิทธิพลของนักการเมืองที่ทำตัวเป็นเจ้าพ่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการสร้างอาณาจักรทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ทั้งจากงบประมาณของรัฐ และผลประโยชน์แอบแฝงในเรื่องของเถื่อน ยาเสพติด และอื่นๆ
 
สิ่งที่นักการเมืองท้องถิ่นใช้เป็นอาวุธในการสร้างอาณาจักรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เรื่องความเข้มข้นของคำว่า “มลายู ซึ่งสอดคล้องต่อแนวทางของขบวนการบีอาร์เอ็นที่นำเอาเรื่อง “เชื้อชาติมาลายู และ “ศาสนาอิสลาม รวมถึง “ประวัติศาสตร์ปาตานี มาร้อยเรียงเข้ากัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างฐานของมวลชน
 
ดังนั้น “เจ้าพ่อ ในการเมืองท้องถิ่น จึงสามารถเดินทางสายเดียวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะมีผลประโยชน์ที่เหมือนกัน
 
แต่การทำความจริงให้ปรากฏในเรื่องการสังหารโหด นายก อบต.ปิยามุมัง และการคลี่คลายคดีการฆ่าพ่อค้ายางที่ อ.ยี่งอ ยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพราะวันนี้แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด จะมีระเบิดแสวงเครื่องน้อยลง แต่กลับมี “คนตาย” รายวัน เพิ่มมากขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ และที่น่าสังเกตคือ คนตายจะเป็น “มุสลิม” เกือบทั้งหมด  ตรงนี้คือ “ปม” ความขัดแย้ง ความเคลือบแคลงในพื้นที่ ซึ่งตำรวจต้องให้ข้อเท็จจริงที่มีเหตุและผลถึงการตายแบบ “ใบไม้ร่วง” ให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ด้วย
 
นอกจากข่าวที่เป็นด้านบวกในการคลี่คลายคดีการสังหาร นายก อบต.ปิยามุมัง แล้ว วันนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังให้ความสนใจในเรื่องการ “พูดคุยสันติภาพ” ซึ่งมีข่าวจาก พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยว่า ในวันที่ 28 ก.พ.นี้จะมีการตั้งโต๊ะพูดคุยระหว่างฝ่ายไทยกับ “มาราปาตานี”
 
โดยมีสาระสำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีการพูดคุยกัน 4 ปีคือ การร่วมกันกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟตี้โซน” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากเป็นจริงนั่นคือข่าวคราวความคืบหน้าที่เป็น “บวก” และเป็นผลสำเร็จที่เป็นบันไดขั้นแรกของคณะพูดคุยที่เป็นชิ้นเป็นอันที่สุด
 
แต่จะเป็นจริงได้แค่ไหน เมื่อกำหนดเซฟตี้โซนแล้วจะกลายเป็นพื้นที่ “อำเภอกระสุนตก หรือไม่ ก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะเรื่องกระสุนตกเป็นเรื่องปกติของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่แล้ว แต่ถ้ากำหนดเซฟตี้โซนแล้ว เป็นไปได้ นั่นย่อมถือว่ามาราปาตานีคือ “ของจริง” และบันไดแห่งสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว โดยมีผู้นำมาเลเซียเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น
 
เพราะปัญหาการก่อการร้ายของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติไม่ได้เลย ถ้าผู้นำมาเลเซียยังเพิกเฉย โดยยอมให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดอยู่ในหลายรัฐของประเทศ และทำตัวปกป้องกลุ่มก่อการร้ายให้อาศัยอยู่อย่างปกติสุข รวมทั้งวางเฉยต่อแผนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเป็นหลังพิงให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของไทย
 
ดังนั้น ความสำเร็จของการยุติการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาราปาตานี หรือกับบีอาร์เอ็นเป็นสำคัญ แต่เป็นผู้นำประเทศมาเลเซียต่างหากที่จะ “ชี้เป็น-ชี้ตาย” กับมาราปาตานี และบีอาร์เอ็นให้ปฏิบัติตามความต้องการของมาเลเซีย เพราะเวทีการพูดคุยทั้งหมด คนที่นั่งในโต๊ะพูดคุยล้วนแต่เป็นตัวละครที่ต้องทำตามความต้องการของมาเลเซียทั้งสิ้น
 
ดังนั้น จึงอยู่ที่ผู้นำของไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะ “ยุติสงครามประชาชน” และ “การก่อการร้าย” ในแผ่นดินปลายด้ามขวาน
 
แต่ในฐานะของ “นกกระจอก ที่หากินอยู่บนผิวดิน เห็นการทับถมของสิ่งต่างๆ เห็นการเน่าเปื่อยของต้นไม้ใบหญ้า เห็นหนอน แมลง และสิ่งต่างๆ บนผิวดินที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมองเห็นต่างกับบรรดา “นายพล ทั้งหลายในกองทัพที่เป็นเหมือน “พญาเหยี่ยว” ที่เหินฟ้ามองเห็นภาพมุมกว้าง แต่มองไม่เห็นผิวดิน จึงยังเชื่อว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่จบง่ายๆ และจะยังมีความ “ซับซ้อนและมีการ “ซ่อนเงื่อน อีกมากมาย สิ่งที่จะติดตามคำว่า เซฟตี้โซนมีเงื่อนไขอะไร เรื่องนี้ต้องติดตามกันให้ดี
 
และอย่าเพิ่งดีใจว่า “แผนบันได 7 ขั้น” ของบีอาร์เอ็นได้ยุติลงแล้วด้วยการทำลายของฝ่ายเรา เพราะโดยข้อเท็จจริงบีอาร์เอ็นเลิกใช้แผนนี้ในปฏิบัติการไปก่อนหน้านั้น หลังจากที่มีการ “ถอดบทเรียนถึง “ความล้มเหลว ในห้วง 13 ปีที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นระลอกใหม่
 
ดังนั้น ฝ่ายบ้านเมืองจึงอย่างเพิ่งลิงโลด หรือคิดเข้าข้างตนเอง จนตั้งตัวอยู่บนความประมาทครั้งใหญ่ เหมือนกับที่เคยประเมินขบวนการแบ่งแยกดินแดนผิดมาแล้ว จนสุดท้ายเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นใหม่ในปี 2547 จนต้องสูญเสียงบประมาณหลายแสนล้าน มีประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตกว่า 6,000 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 10,000 คน ในขณะที่เศรษฐกิจ และสังคมเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้
 
ย้ำ! อย่าได้ลิงโลด จนลืมบทเรียนที่ผ่านมา และอย่าได้เชื่อ “หมอดู” จนลืม “ข้อเท็จจริง” กันเสียล่ะ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น