อ่าวปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เป็นแหล่งทำประมงที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงออกเรือทุกวันเพื่อจับสัตว์น้ำ เพื่อนำมาเป็นอาหาร และนำออกจำหน่ายแก่แพปลา แต่ผลผลิตที่จำหน่ายเมื่อไปถึงมือผู้ซื้อปลายทาง กลับมีราคาสูงกว่าที่จำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางเป็นอย่างมาก
จากปัญหาผลผลิตโดนกดราคา ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากบารา บ้านตะโละใส และบ้านท่ามาลัย จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งร้านจำหน่ายสัตว์น้ำที่จับได้เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางออกไปจากห่วงโซ่การค้าขาย ขณะเดียวกัน ก็สามารถจำหน่ายผลผลิตให้ผู้บริโภคได้ในราคาที่ยุติธรรม และสมเหตุสมผลอีกด้วย
ที่มาของ “ร้านคนจับปลา” จากคำบอกเล่าของ นางฮาสานะห์ เกะมาซอ หนึ่งในคณะกรรมการร้านคนจับปลา และเจ้าหน้าที่สมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้พูดคุยกันถึงการจัดการผลผลิตของตนเอง ซึ่งหากขายผ่านพ่อค้าคนกลางมักโดนกดราคาอยู่เสมอ
แต่ราคาในตลาดที่ขายให้แก่ผู้บริโภค กลับมีราคาสูงกว่าผู้ผลิตหลายเท่าตัว จึงได้ดำเนินโครงการ “ร้านคนจับปลาสตูล” ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2558 ด้วยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยให้กลุ่มแม่บ้านมาช่วยแปรรูปผลผลิตที่หามาได้ ด้วยเงินลงทุนครั้งแรกเพียง 3,000 บาท เบื้องต้น นำไปซื้อกุ้งจากชาวประมง ส่งไปยังเครือข่ายที่มีอยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และภายใน จ.สตูล นอกจากนี้ ยังมีช่องทางจำหน่ายใน “ร้านเลมอนฟาร์ม” รวมทั้งการจำหน่ายทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กอีกด้วย
เป้าหมายหลักของร้านคนจับปลา ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตของประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อผู้บริโภค ไม่ใช้เครื่องมือประมงอย่างผิดกฎหมาย หรือการทำประมงแบบทำลายล้าง
ขณะเดียวกัน ก็สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ซื้อสัตว์น้ำที่สด สะอาด ปลอดภัย รู้แหล่งที่มาจากประมงพื้นบ้านโดยตรง ผู้บริโภคก็จะเข้าใจว่า ฤดูไหนมีสัตว์น้ำประเภทไหน พร้อมกับการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการปกป้องแหล่งอาหารทะเลไปด้วย
“ผลผลิตของกลุ่มประมงพื้นบ้านมีพวกปลาต่างๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรี ปลาน้ำดอกไม้ กุ้งแชบ๊วย หมึกหอม หมึกกระดอง ซึ่งจะจับได้ตามฤดูกาล เราจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าแพปลาร้อยละ 10-20 โดยจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดการผลผลิตให้ชาวประมง กำไรที่ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกร้อยละ 50 เป็นต้นทุนหมุนเวียนในร้าน อีกร้อยละ 30 เป็นเงินปันผลของสมาชิกผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง และอีกร้อยละ 20 นำไปสนับสนุนงานอนุรักษ์ เช่น การสร้างบ้านปลา ธนาคารปู และยังรับซื้อสินค้าจากแพปลาในราคาเดียวกันด้วย แต่จะต้องเป็นแพปลาที่เป็นสมาชิกเท่านั้น” นางฮาสานะห์ แจกแจงการจัดสรรรายได้
การเกิดขึ้นของร้านคนจับปลา นอกจากจะทำให้ผู้ผลิตขายผลผลิตได้โดยตรงแล้ว ยังเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่แม่บ้านอย่าง นางนุซุรา งะสมัน กล่าวว่า ได้เข้ามาทำงานชำแหละปลา เพื่อส่งให้ผู้บริโภคเมื่อปีก่อน ทำให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครอบครัว และได้ร่วมออกร้านตามเทศกาลต่างๆ อีกด้วย
“ถ้ามีปลาทำ พวกเราก็จะมีรายได้ มีคนสั่งซื้อเข้ามา ก็ทำให้พวกเรามีรายได้เอาไปใช้จ่ายในครอบครัว เพราะปกติก็เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้จากที่ไหน การได้มาทำงานก็เป็นเรื่องดี เวลามีงานก็ได้ไปออกงานขายของ ได้เปิดหูเปิดตา ได้ประสบการณ์” นางนุซุรา กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
การดำเนินงานของร้านคนจับปลา ไม่ได้ก้าวเดินโดยลำพัง ยังมีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน เช่น สมาคมชาวประมงสตูล ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งสตูล ช่วยเหลือด้านข้อมูลทางวิชาการ องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ให้การสนับสนุนโรงเรือน สำนักงานเกษตรอำเภอละงู สนับสนุนอุปกรณ์จัดเก็บสัตว์น้ำ
โดยทางร้านคนจับปลา อยู่ระหว่างขยายการรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำ จากชาวประมงพื้นบ้านที่รู้แหล่งผลิตในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดอีกด้วย และกำลังอยู่ระหว่างการขอใบรับรองมาตรฐานอาหารทะเลปลอดภัย จากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของร้านคนจับปลา ได้สร้างทางเลือกใหม่ที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน สามารถจำหน่ายผลผลิตได้โดยตรงสู่ผู้บริโภค ในราคาที่ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย และผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยทำเศรษฐกิจของชุมชนมีความแข็งแกร่งแล้ว ยังก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย