“ป่าต้นน้ำผืนนี้เป็นป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายแล้วของ จ.สงขลา และ จ.สตูล ปัจจุบันถูกบุกรุกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ไร่ ตอนนี้มีนโยบายทวงคืนผืนป่า เราก็จัดกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่เข้าตรวจยึดคืนผืนป่าทุกสัปดาห์ ยึดคืนมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง และยังทำกันอยู่ต่อเนื่อง ด้านหนึ่งรัฐกำลังทวงคืนผืนป่า แต่อีกด้านหนึ่ง กฟผ.หน่วยงานของรัฐก็กำลังเข้ามาบุกรุกป่า”
ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา MGR Online ภาคใต้ เปิดปฏิบัติการ Live สด ติดตามการเดินทางสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำ โดยประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เป้าหมายเพื่อให้สื่อมวลชนร่วมพิสูจน์ว่าบริเวณพื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำหนดเป็นจุดผ่านของสายไฟฟ้าแรงสูงเส้นคลองแงะ-สตูล โดยอ้างว่าบริเวณที่สายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเข้าตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวยังมีต้นไม้หลายชนิดขึ้นอยู่หนาแน่น และมีสายน้ำไหลลงมาสู่พื้นล่างไม่ขาดสาย ขณะที่พบร่องรอยของการบุกรุกทำลายป่า และการลักลอบล่าสัตว์ ซึ่งเป็นปัญหาที่คุกคามป่าต้นน้ำแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ประวิทย์ ทองประสม ประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ เปิดเผยว่า ปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่ามีการบุกรุกป่าอย่างหนัก ป่าต้นน้ำผาดำ และป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพา ครอบคุลม อ.สะเดา อ.คลองหอยโข่ง อ.หาดใหญ่ และ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
“ป่าต้นน้ำผืนนี้เป็นป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายแล้วของ จ.สงขลา และ จ.สตูล ปัจจุบันถูกบุกรุกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ไร่ ตอนนี้มีนโยบายทวงคืนผืนป่า เราก็จัดกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่เข้าตรวจยึดคืนผืนป่าทุกสัปดาห์ ยึดคืนมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง และยังทำกันอยู่ต่อเนื่อง ด้านหนึ่งรัฐกำลังทวงคืนผืนป่า แต่อีกด้านหนึ่ง กฟผ.หน่วยงานของรัฐก็กำลังเข้ามาบุกรุกป่า”
นายจรัล ช่วยเอียด หรือสหายเหล็ก ผาดำ รองประธานประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ กล่าวว่า โครงการของ กฟผ.สะท้อนถึงความจริงใจของหน่วยงานภาครัฐว่ามองไม่เห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำแห่งนี้ที่เป็นพื้นที่ผลิตน้ำดิบไปผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนทั้ง อ.หาดใหญ่ และหลายอำเภอใน จ.สงขลา หากสูญเสียป่าผืนนี้ไปก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำอย่างรุนแรง
“เราจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น ขอให้ชาว อ.หาดใหญ่ และคน จ.สงขลา ทั้งจังหวัดตื่นตัวกับเรื่องนี้ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อท่าน และทุกๆ คน เรามีกำลังกันไม่มากถ้าทุกๆ คนช่วยกัน เห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ ช่วยกันรณรงค์รักษา คัดค้านการทำลาย ก็คิดว่าน่าจะช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายของ จ.สงขลา และ จ.สตูล ไว้ได้ คนสองจังหวัดต้องมาช่วยกัน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่สถานารณ์การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจยังไม่คลี่คลาย พบว่าปัญหาหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันที่สะท้อนว่าป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายของ จ.สงขลา-สตูล กำลังอยู่ในสถานการณ์ถูกคุกคามอย่างหนัก คือ การลักลอบล่าสัตว์ป่าทั้งในเขตป่าต้นน้ำผาดำ และป่าเทือกเขาวังพา ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนสัตว์ลดลง
แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผย MGR Online ภาคใต้ ว่า รู้จักกับกลุ่มนายพรานที่เคยล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพา ในพื้นที่ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีภาพถ่ายของสัตว์ป่าจำนวนหนึ่งที่ถูกล่าส่งมาให้ผู้สื่อข่าว เพื่อยืนยันว่าป่าแห่งนี้มีสัตว์ป่าชุกชุม และก่อนหน้านี้มีการล่าสัตว์อย่างหนักโดยเฉพาะหมูป่า
“แต่ที่วังพาช่วงนี้ไม่มีการล่าสัตว์แล้วนะครับ และผมยืนยันว่าป่านี้ยังมีสมเสร็จ และเสือโคร่งอาศัยอยู่แถวๆ ป่าต้นน้ำคลองต่ำ”
สำหรับป่าบริเวณที่มีภาพถ่ายบันทึกว่าพรานป่ากลุ่มหนึ่งได้ไปพบสมเสร็จ และเสือลายพาดกลอน พบว่า อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง มีสภาพเป็นป่าดิบชื้น ไม่ผ่านการสัมปทานป่าไม้มาก่อน ซึ่งพบว่ามีลำห้วยหลายสายไหลมาจากต้นน้ำ
“แต่ที่ผมเดินพบแต่รอยสมเสร็จ ส่วนเสือลายพาดกลอน ต้องเดินขึ้นไปอีก 2 ลูก เขาที่เขาพบรอยเสือ แถวนั้นชาวบ้านพบรอยกระดูกสัตว์ป่าหลายชนิดกองอยู่ เรียกลานนี้ว่าทับหมาทั่น จริงๆ ถ้าป่าผืนนี้รวมเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างได้เร็วๆ กฟผ.คงทำอะไรได้ยาก แต่นี่มันดูเหมือนมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดๆ”
นายประวิทย์ ทองประสม ประธานประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ เปิดเผยว่า ขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่ามีมานานแล้ว ที่ผ่านมา ประชาคมฯ เคยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมได้หลายครั้งแต่ก็ยังมีการลักลอบล่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง
“อยากฝากไปถึงนายอำเภอทุกอำเภอที่อยู่ติดเขตป่าผาดำ และป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพา ว่า หากจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือ ริบอาวุธปืนประเภทปืนลูกกรด ปืนลูกซอง ที่มีคนมาขออนุญาตไว้ เพราะปืนแบบนี้ส่วนใหญ่ใช้ล่าสัตว์เท่านั้น หากริบคืนมาก็น่าจะช่วยลดการล่าสัตว์ได้ เพราะเวลาเห็นคนถือปืนยาวเข้าป่า พอเราถามเขาก็บอกว่าปืนมีใบอนุญาต นายอำเภออนุญาตแล้ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป่าต้นน้ำผาดำ เป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาวังพา มีเนื้อที่รวมประมาณ 110,000 กว่าไร่ ถูกประกาศเป็นสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ (สวนป่าสิริกิติ์) มีพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาแก้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง และอยู่ในระหว่างรอลงพระปรมาภิไธย เพื่อผนวกเข้าเป็นป่าสงวนผืนเดียวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง
ฟังข้อมูลเพิ่มเติมเปิดเผยเส้นทางล่าสัตว์และขบวนการบุกรุกป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายได้จาก MGR Online ภาคใต้ Live สด จากวิดีโอ