xs
xsm
sm
md
lg

“ถ่านหินตายแล้ว”: คำเตือนจากกลุ่มนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
ชื่อบทความนี้ผมดัดแปลงมาจากบทความในเว็บไซต์ https://thinkprogress.org/coal-is-dead-692729aa910d ซึ่งเขียนโดย Dr.Joseph J.Romm ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นนักเขียน นักฟิสิกส์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยในปี 2009 นิตยสารไทม์ ได้ยกย่องให้เขาเป็น “วีรบุรุษด้านสิ่งแวดล้อม” ผมได้นำชื่อบทความ และปริมาณการใช้ถ่านหินในปีต่างๆ ของสหรัฐอเมริกามาให้ดูด้วยครับ
 

 
“ถ่านหินตายแล้ว (Coal is dead)” คือ ประโยคแรกในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2017 เขาอ้างว่า คำพูดดังกล่าวมาจาก Jim Barry หัวหน้าระดับโลกของ BlackRock ซึ่งเป็นกลุ่มลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ก่อตั้งปี 1988 มีสินทรัพย์ในงบดุลถึง 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเริ่มที่จะหันมาลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่ง Jim Barry ได้ให้เหตุผลว่า สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐานที่แท้จริงนั้นคือ พลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกลงมากนั่นเอง

เขายังได้เสริมอีกว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินในโลกไม่ได้จะปิดตัวลงทั้งหมดในวันพรุ่งนี้หรอก แต่หากเรามองไปข้างหน้าอีก 10 ปี ถ่านหินจะเป็นสิ่งที่เสี่ยงมากๆ แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ได้รณรงค์ที่จะฟื้นการจ้างงานในธุรกิจถ่านหิน แต่ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจทำให้ความพยายามดังกล่าวของประธานาธิบดีเป็นสิ่งที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้” 

ลำพังในสหรัฐอเมริกาเอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 40,000 เมกะวัตต์ได้ปิดตัวไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา “โรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ไม่สามารถเปิดใหม่ได้อีก ไม่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำอะไรก็ตาม” 

ความจริงทางเศรษฐกิจก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติ และราคาพลังงานสะอาดได้บีบให้ทั้งการผลิตและการบริโภคถ่านหินได้ลดลงสู่ระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ

ในขณะที่อุตสาหกรรมถ่านหินคาดหวังว่าจะเพิ่มปริมาณการบริโภคได้โดยการส่งออก แต่ก็ถูกขัดขวางจากการหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างเร่งด่วนของประเทศจีน และอินเดีย

ถ่านหินไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียวที่มีความเสี่ยง แต่จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าได้ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือถึงระดับความต้องการสูงสุด (Peak Demand) จากการศึกษาโดย Bloomberg พบว่า ความต้องการน้ำมันสูงสุดน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2023 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า

Dr.Joseph J. Romm ได้สรุปอย่างทันสมัย และกระชับในตอนท้ายว่า “เงินที่ฉลาด (Smart Money) จะหนีออกห่างจากพลังงานฟอสซิลแต่จะมุ่งเข้าไปสู่พลังงานสะอาดในที่สุด” 

ผมขอจบสาระสำคัญของบทความนี้ไว้เพียงแค่นี้ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ผมหามาเสริมอีก 2 เรื่อง 2 ภาพสั้นๆ ครับ

ภาพแรกเป็น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลก และกลุ่มประเทศในช่วง 1960-2016 (อ้างแหล่งที่มาในภาพแล้ว) 
 

 
โดยภาพรวมพบว่า ในช่วง 3 ปีสุดท้าย คือ 2014-2016 ปริมาณการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกเริ่มคงที่แล้วครับ คือ ไม่มีการเพิ่มขึ้นและไม่ได้ลดลง ซึ่งต้องถือว่าเป็นข่าวดีที่สำคัญของโลก สาเหตุสำคัญเพราะว่าประเทศจีน (ปล่อยประมาณ 27% ของโลก) ได้ปล่อยลดลงเล็กน้อย ข้อมูลอย่างเป็นทางการของประเทศจีนบอกว่า ในปี 2016 ลดลง 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 2 ปีติดต่อกัน ข้อมูลอื่นๆ กรุณาอ่านจากภาพนะครับ

อีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าครับ

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของแบตเตอรี่รถยนต์ มีการคาดการณ์ว่า ประมาณปี 2022-2026 ราคารถยนต์ไฟฟ้า (ซึ่งต้นทุนประมาณ1 ใน 3 เป็นค่าแบตเตอรี่) จะมีราคาเท่ากับรถยนต์ที่มีการเผาไหม้ภายใน หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ (ดูข้อมูลจากภาพครับ) 
 

 
อย่าลืมนะครับว่า รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งต้นทุนในการผลิตได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาในการชาร์จก็สั้นมาก การใช้สอยก็สะดวก การบำรุงรักษาก็น้อย (เพราะมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่เพียง 18 ชิ้นเท่านั้น) แล้วรถยนต์ธรรมดาที่ใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะแข่งขันได้อย่างไร

แล้วความต้องการใช้น้ำมันจะไม่ลดลงได้อย่างไร จากการคาดการณ์ของผมเอง พบว่า ในปี 2024 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกประมาณ 174 ล้านคัน ผมเชื่อว่าผลการคาดการณ์ดังกล่าวจะต่ำความความเป็นจริงเสียอีก

สรุป ทั้งๆ ที่กลุ่มนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเขาใช้เงินของเขาเองลงทุน ยังเตือนว่า “ถ่านหินตายแล้ว” แต่รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้าอย่างแข็งขันที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้จงได้

ทั้งๆ ที่อายุเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกา เท่ากับ 46 ปี ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2018 กว่าจะสร้างเสร็จก็ต้องใช้เวลาอีก 7 ปี นั่นคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะอยู่ไปอีกนาน 53 ปี หรือจนถึง พ.ศ.2614 ภาระทั้งจากเงินลงทุน และภาระที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ตกยุคแล้วก็ต้องตกกับประชาชน ไม่ใช่เอกชนแต่อย่างใด

จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องติดตาม และรู้เท่าทันครับ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น