xs
xsm
sm
md
lg

คำตอบล่องลอยอยู่ในสายลม / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...
จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

--------------------------------------------------------------------------------
 
 
พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ตั้งคำถามผ่านทางรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ๔ คำถาม ดังนี้
 
๑.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
๒.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร
๓.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
๔.ท่านคิดว่ากลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีใด
 
ทันทีที่สิ้นเสียงนายกรัฐมนตรี ก็เกิดคำถามสวนกลับมาอย่างมากมายหลากหลายคำถามตามมุมมองของแต่ละคน เช่น “ใครเขียนคำถามนี้ให้นายกรัฐมนตรี” “นายกรัฐมนตรีกำลังคิดอะไรอยู่” “แสดงว่าจะไม่มีการเลือกตั้งตามโรดแมปใช่ไหม” “นายกรัฐมนตรีและคณะยึดอำนาจมาเพื่อทำอะไร” ฯลฯ
 
มีบางคนออกมาตอบคำถามนี้ เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า “…ในระบอบประชาธิปไตย…ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองก็เป็นอย่างนั้น นักการเมืองจะไม่ดีไปกว่าประชาชน…นักการเมืองคือผลผลิตของประชาชน…วันนี้เราปฏิรูปประชาชนกันหรือยัง ถ้ายังไม่ปฏิรูป เราก็ได้นักการเมืองแบบเดิมๆ เข้ามา…การเลือกตั้งเป็นขั้นตอนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็ตอบได้เลยว่า ไม่มีระบอบประชาธิปไตย…ประชาชนต้องเห็นชอบร่วมกัน…และตระหนักหรือยังว่า นักการเมืองได้มาอย่างไร…เพียงแต่ ๓ ปีที่ผ่านมายังไม่ได้บอกประชาชนเลยว่า อันตรายของการซื้อเสียง ลุแก่อำนาจ เกิดจากอะไร…” (มติชนรายวัน. ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐. หน้า ๒)
 
นายพิชัย  นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ตอบว่า “๑.เชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณที่จะเลือกผู้นำประเทศ และหากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนก็สามารถที่จะถอดถอนได้ และไม่เลือกเข้ามาอีก… ๒.ขอถามกลับไปว่า จะจัดการอย่างไรต่อรัฐบาลปัจจุบัน… ๓.การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ต้องเคารพเสียงของประชาชน…พรรคการเมืองต้องเสนอแนวทางพัฒนาประเทศให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่การยัดเยียดยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี และปฏิรูปเฉพาะคนกลุ่มเดียวอย่างที่เป็นอยู่… ๔.โดยปกติแล้วการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีการเปลี่ยนแปลง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งเป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และเป็นการคัดเลือกบุคลากรให้มาพัฒนาประเทศ หากนักการเมืองคนใดมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ประชาชนก็จะไม่เลือกเข้ามาอีก…” (มติชนรายวัน. ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐. หน้า ๒)
 
นายบัณฑิต  จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบว่า “๑.เป็นคำถามที่มาก่อนกาล ถามได้ แต่ในทางปฏิบัติเราต้องคิดถึงโครงสร้างของระบบที่รัฐบาลปัจจุบันวางรากฐานไว้ นั่นคือ รัฐธรรมนูญ…หลักการพื้นฐานของธรรมาภิบาลมี ๓ ส่วน คือ ความมีประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส คือกระบวนการที่ปราศจากการทุจริตและการตรวจสอบได้… ๒.คิดว่าไม่ยาก ประชาชนมีสิทธิจะตั้งคำถามกับรัฐบาล กระบวนการถอดถอนต่างๆ ที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญก็ต้องทำงาน… ๓.การเลือกตั้งคือ พันธสัญญาระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นการทำพันธสัญญา นำไปสู่การจัดระเบียบ ความสัมพันธ์ทางสังคม… ๔.กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หมายความว่าอะไร ปัจจุบันเราวางโครงสร้างการตรวจสอบอะไรไว้บ้าง และโครงสร้างนี้ตรวจสอบได้จริงหรือเปล่า…” (มติชนรายวัน ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐. หน้า ๒)
 
แต่ดูเหมือนว่า “คำตอบ” จะไม่มีความหมายความสำคัญเท่ากับ “คำถามสวนกลับ” ที่ว่า “นายกรัฐมนตรีกำลังคิดอะไรอยู่” เพราะคำถามนำทั้ง ๔ คำถามถูกนำไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่ส่อเค้าให้เห็นว่า “บ้านเมืองมีสถานการณ์ไม่เหมาะสมจะเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้แต่เดิม”
 
คำตอบที่แท้จริงจึงยังไม่มีใครออกมาตอบ แต่คิดว่าคำตอบดังกล่าว “ล่องลอยอยู่ในสายลม” และเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า มันมีนัย หรือสัญญะอย่างไรในทางการเมือง เพราะดูเหมือนว่าการลงจากหลังเสือของ คสช.ของนายกรัฐมนตรี และคณะในครั้งนี้ น่าจะไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว ดูจากคำถามทั้ง ๔ ของนายกรัฐมนตรี สะท้อนถึงความวิตกกังวลที่มีต่อสถานการณ์หลังจากการลงจากบัลลังก์อำนาจในไม่นานข้างหน้านี้ และที่สำคัญ หากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ดีกว่าเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว บ้านเมืองจะมีทางออกอย่างไร โดยใคร และวิธีใด
 
แต่สำหรับวันนี้ ประชาชนเองก็มีคำถามให้นายกรัฐมนตรี และคณะตอบอยู่หลายคำถามเหมือนกัน ตัวอย่างคำถามหลัก ได้แก่
 
๑.พวกท่านยึดอำนาจเขามาทำไม
๒.พวกม่านได้ปฏิรูปอะไรไปบ้างแล้ว
๓.รัฐบาลของท่านมีความแตกต่างจากรัฐบาลที่พวกท่านยึดอำนาจมากน้อยแค่ไหน
๔.พวกท่านมีพฤติกรรมที่แตกต่างกับ “นักการเมืองที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” ในลักษณะใดบ้าง
๕.ระหว่างประชาชนผู้ยากไร้ และเสียเปรียบกับชนชั้นนายทุน พวกท่านสร้างคุณประโยชน์ให้ใครมากกว่า
 
และสุดท้ายในฐานะคนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติเมื่อใด และเมื่อไหร่รัฐบาลนี้จะหยุดรังแกพี่น้องประชาชนในเรื่องทะเลหน้าบ้าน หม้อข้าวหม้อแกง และแย่งแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้านไปให้นายทุนชาติ และนายทุนข้ามชาติเสียที
 
“คำตอบยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม”?!?!
 
กำลังโหลดความคิดเห็น