หัวหน้าประชาธิปัตย์ สวน “อลงกรณ์” ยันคุยกับ กปปส.แล้วเห็นตรงกันต้านคอร์รัปชัน ไม่เอาระบอบทักษิณ แถมการันตียึดแนวทางพรรคก็สบายใจ เห็นด้วยพรรคใหญ่จับมือกันรวม 250 เสียง ชี้ต้องดูอุดมการณ์ไปด้วยกันได้หรือไม่ ปรามวุฒิสภาอย่าใช้สิทธิ์ฝืนเจตนารมณ์ประชาชน ห่วงสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทำปรองดองล่ม แนะรอเลือกกันไม่ได้ค่อยแจม
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรคให้ความเห็นต่อกรณีการกลับมาของ กปปส.จะทำให้เกิดภาวะหนึ่งพรรคสองแนวคิดว่า ได้คุยกับกลุ่ม กปปส.แล้วซึ่งเขาเข้าใจดีและเรามีเป้าหมายตรงกัน คือ ต่อต้านกับความไม่ถูกต้อง คอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ระบอบทักษิณ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีระบบ มีความเป็นสถาบัน มีอุดมการณ์ ฉะนั้นการทำงานต้องยึดตามแนวทางจึงทำให้ทุกคนไม่มีความรู้สึกว่ามีประเด็นที่ฝืนหรือขัด หรือมี 2 แนวทางแต่อย่างใด
“ขณะนี้เมื่อกลับมาทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ก็จะยึดถือแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านก็พูดกันเอง ผมก็นั่งอยู่ด้วย ทุกคนก็มีความสบายใจว่าเราจะผนึกกำลังกันแล้วก็เดินหน้าทำงานกัน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิดนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรค เสนอให้พรรคการเมืองใหญ่จับมือกันนั้น เห็นด้วยในส่วนที่เราต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน และถือเป็นจุดยืนของพรรคที่จะยึดแนวทางนี้ กล่าวคือ เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วพรรคการเมืองรวบรวมเสียงได้ 250 เสียงขึ้นไปต้องมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าโดยรัฐธรรมนูญนั้นสมาชิกวุฒิสภา 250 คนจะร่วมลงมติ แต่วุฒิสภาไม่ควรใช้สิทธิ์ตรงนั้นฝืนเจตนารมรณ์ของประชาชน เพราะมองว่าถ้าทำเช่นนั้นจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งในทางการเมืองอย่างรุนแรงมาก ในที่สุดจะทำให้เป้าหมายที่หลายคนตั้งเอาไว้ทั้งเรื่องปรองดองและอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่จะรวมกันต้องดูในเรื่องของนโยบาย สำคัญกว่านั้นคือในเรื่องอุดมการณ์ว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ การไปบังคับให้พรรคการเมืองที่อุดมการณ์ไม่ตรงกันจับมือเพื่อตั้งรัฐบาล คนจะมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์มากกว่า ดังนั้น แนวคิดของนายพิชัยควรจะเสนอว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรรวมกันได้ 250 เสียงขึ้นไปควรให้สิทธิ์เขาในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคำนึงถึงพื้นฐานของนโยบายและอุดมการณ์ที่ตรงกัน
เมื่อถามว่า ในกรณีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติ 250 กว่าเสียง ตามรัฐธรรมนูญไม่พอในการจัดตั้งรัฐธรรมนูญ เพราะต้องได้ 376 เสียง สิ่งที่พยายามจะบอกคือ ถ้า 250 ในสภาผู้แทนราษฎรจับกันได้ ในส่วน 250 เสียงของวุฒิสภาไม่ควรที่จะมาขัดขวาง เพราะบางที ส.ว.อาจจะใช้วิธีไม่ยอมลงคะแนนให้เลยเพื่อไม่ให้ถึง 376 เสียง ถ้าทำแบบนั้นคิดว่าเป็นการนำ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งเผชิญหน้ากับเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทาง ส.ว.จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนว่าจะเอาอย่างไร ส่วนถ้าหากว่ารัฐบาลนี้จับกันได้เกิน 250 เสียง และมีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล ให้เป็นเรื่องของกลไกตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องเข้ามาจัดการไม่ว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจขัดกฎหมายหรือทุจริตต้องจัดการ และเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนจะแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ไว้ คือเป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล