xs
xsm
sm
md
lg

คำถาม “หินถามทาง” และเส้นทางแห่งอำนาจหลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

หากมองว่า คำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ถือเป็นหินถามทางแล้ว ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นก้อนหินที่ส่งผลรุนแรงยิ่งในทางการเมือง

เพราะมันกระเด็นไปโดนหัวทั้งฝ่ายนักการเมืองและฝ่ายสนับสนุนจนหัวปูดหัวโป ต้องดิ้นรับกันแทบทุกฝักฝ่าย

ย้ำคำถาม 4 ข้ออีกครั้งในที่นี้ คือ

หนึ่ง ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

สอง หากไม่ได้ จะทำอย่างไร

สาม การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

สี่ ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

คำถามทั้ง 4 ข้อนี้แสดงถึงความ “ไม่ไว้วางใจ” นักการเมืองที่จะมาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้ทั้งสิ้น

หากพิจารณาแต่ละคำถามให้ดีแล้ว จะเห็นว่ามี “สาร” ที่ส่งไปยังกลุ่มประชาชนที่ยังสนับสนุนในตัวนายกฯ คนปัจจุบันนี้อยู่

เพราะถึงแม้คะแนนนิยมของรัฐบาลจะลดลงไปบ้างด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องยอมรับกันนั่นแหละว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลอยู่

ประชาชนกลุ่มที่ยังไม่แสดงออกว่าต้องการการเลือกตั้งในเร็ววัน ก็เพราะกลัว “นักการเมือง” ที่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาสำคัญของวิกฤตการเมืองอันยาวนานกว่าสิบปีที่ผ่านมา

ดังนั้น คำถาม 4 ข้อ จึงเป็นคำถามที่คัดสรรมาแล้วว่า จะ “ยิงตรง” เข้าไปกลางหัวใจของคนกลุ่มนี้ ที่มีความกังวลกันว่า แม้เลือกตั้งไป อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายยังอาจจะได้นักการเมืองหน้าเก่าๆ ที่มีปัญหากลับมาอีก

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสที่เชื่อกันว่าการโยนหินถามทางนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ นั้น ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าเล่นสักเท่าไร

หากจะเลื่อนหรือทอดเวลาการเลือกตั้งออกไปอีกก็ต้องมี “เหตุ” ที่สมควร ชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และต้องเป็นเหตุผลที่ทุกฝ่ายยอมรับกันด้วย

ขณะนี้กลไกของการยกร่างกฎหมายลูกต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งก็กำลังดำเนินอยู่ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากจะเลื่อนหรือทอดเวลาการเลือกตั้ง ก็จะต้องใช้ “ปาฏิหาริย์” ทางกฎหมายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมายับยั้งหรือชะลอการออกกฎหมาย หรือการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายลูกเหล่านั้น ซึ่งก็เสี่ยงต่อความเสียหายทางการเมืองที่จะตกกลับไปที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบันแทน เพราะความชอบธรรมในการปกครองจะหมดลงไปเรื่อยๆ และกระหน่ำซ้ำด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่เริ่มก่อเค้าก่อตัว

หากนั่งอยู่เต็มรูปแบบต่อไป ก็เท่ากับต้องรับผิดชอบปัญหาต่างๆ ไปเต็มๆ ซึ่งถ้าแก้ไขไม่ได้ หรือเกิดเหตุอะไรขึ้นที่ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาเฉียบพลันขึ้นมาละก็

คสช. ซึ่งน่าจะเป็นคณะรัฐประหารคณะแรกในรอบหลายสิบปีที่ “จบดี - ลงสวย” ก็อาจจะมีจุดจบที่ไม่แตกต่างจากคณะรัฐประหารคณะอื่นๆ

ดังนั้น แม้ว่าใจของ “ท่าน” อาจจะยังไม่อยาก “ปล่อย” ประเทศให้กลับไปอยู่ในเงื้อมือของนักการเมืองแบบสมบูรณ์ ก็คงจะต้องยินยอมให้มีการเลือกตั้งตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตามโรดแมปที่เคยประกาศไว้

ส่วนถ้ายังกังวลเป็นห่วงอนาคตของประเทศ จนไม่อยากปล่อยมือส่งไม้ให้ฝ่ายการเมือง ต้องไม่ลืมว่า กลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่วางกันไว้นั้น เอื้อให้สามารถมี “คนนอก” เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างไม่ยากเย็น และมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย

เรียกว่าถ้า “ท่าน” อยากจะกลับมาหลังการเลือกตั้ง ก็ถือว่าน่าจะเป็นไปได้อย่าง“ไม่น่าเกลียด”

เพราะหากมองไปในมุมของฝ่ายการเมืองแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเมื่อไรก็ตาม ก็คงเชื่อได้ว่า ผลการเลือกตั้งนั้นไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มากนัก

เพราะต้องยอมรับว่า แม้จะมีการรัฐประหาร และปกครองในระบอบ คสช.มายาวนานกว่า 3 ปีก็ไม่อาจทำลายความนิยมใน “พรรคการเมืองเก่า” กลุ่มอำนาจเดิม ของประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียงนั้นยังคงเหนียวแน่น

เรียกว่าเลือกตั้งเมื่อไร 15 ล้านเสียงที่เคยมี ก็คงไม่สะเทือนเลื่อนหายไป ยากนักที่พลิกกระดานเป็นฝ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เราต้องจับตาดูกันว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกแบบมาว่าสามารถสะท้อนถึงเสียงของประชาชนผู้ใช้สิทธิออกเสียงนั้น จะส่งผลอย่างไรต่อผลการเลือกตั้ง

โดยระบบการถ่วงดุลด้วย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะเข้ามาชดเชยจำนวนของ ส.ส. เขตที่อาจจะแพ้ แต่เมื่อรวมเสียงทั้งประเทศแล้ว ยังมีเสียงที่เลือกพรรคนั้นอยู่ในสัดส่วนที่มากกว่าจำนวน ส.ส.เขตที่ได้ ก็จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนี้ไปทดแทน

ด้วยกลไกเช่นนี้ เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะไม่แพ้ชนะกันขาด โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดทั้งสภาฯ เพียงพรรคเดียวนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก

ประกอบกับ “พรรค ส.ว.” ที่จะมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบันอีก 250 คน รวมกับจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ก็จะเป็น 750 เสียง
ดังนั้น ถ้าพรรคใดจะ “ชนะ” ในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบม้วนเดียวจบ ได้เป็นนายกฯ ก็จะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 375 เสียง จาก 500 เสียง พูดตรงๆ ว่า เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย
ดังนั้น ไม่ว่าพรรคใดจะชนะ การจะได้นายกฯ มาจากพรรคตัวเอง หรือแม้แต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้วเลือกหัวหน้าพรรคที่เป็นแกนนำขึ้นเป็นนายกฯ นั้น กล่าวได้เลยว่าเป็นไปได้ยากยิ่ง หาก สภาฯ ส.ว.ไม่เห็นชอบด้วย
เมื่อเกมกำหนดมาแบบนี้ พรรคการเมืองเอง ก็น่าอยากที่จะเล่นเกมปลอดภัย ด้วยการที่ขอมีส่วนร่วมในการเป็น “รัฐบาล” กับเขาบ้าง

เพียงแต่ตัว “หัว” นั้น อาจจะยอมให้เป็น “คนกลาง” ที่ทุกคนยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่าย ส.ว.นั้นต้องเห็นชอบด้วย ซึ่งในตอนนั้น ก็แทบจะมองไม่เห็นใครเป็นอื่นไปได้เลย นอกจากนายกฯ คนเดิมคนนี้ !

ถ้ารูปการณ์เป็นแบบนี้ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้ง ก็จะยังเป็นรัฐบาล “กึ่ง คสช.” ที่จะบริหารประเทศไปร่วมกับนักการเมือง และสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีสภาฯ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั้นคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่

และมีกลไกของศาลกับองค์กรอิสระต่างๆ ที่จะถือไม้เรียว “กำราบ” นักการเมืองอยู่วงนอก

เช่นนี้ ก็เท่ากับว่าฝ่ายผู้ถืออำนาจปัจจุบันนั้นยังไม่ต้อง “ปล่อยมือ” กันหมดมือ

มีการเลือกตั้งตามโรดแมปได้ แต่ตัวนายกฯ คนปัจจุบัน ก็ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้อย่างชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจที่อาจจะลดลงไปบ้างภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และการบริหารประเทศร่วมกับฝ่ายการเมือง

เมื่อถึงตอนนั้น คำถามทั้ง 4 ข้อที่โยนหินถามทางไว้ในวันนี้ ก็จะได้รับคำตอบ แบบชอบด้วยรัฐธรรมนูญ.
“ประยุทธ์” ไม่ใช่เล่นๆ ลุย 4 คำถามเช็กเรตติ้งเสริมแกร่งสู้ “ขาลง”!?
“ประยุทธ์” ไม่ใช่เล่นๆ ลุย 4 คำถามเช็กเรตติ้งเสริมแกร่งสู้ “ขาลง”!?
ความหมายของคำถามข้างต้น มันจึงไม่ต่างจากการทำโพลหยั่งกระแสความนิยมในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจะเป็นแบบที่เรียกว่าปลายเปิดปลายปิดไม่รู้ รู้แต่ว่าก่อนตอบคำถามได้สะกิดอารมณ์ความไม่ชอบของชาวบ้านที่มีต่อพวกนักการเมือง ว่า ยังมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งนาทีนี้เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะยังมั่นใจจึงต้องการเช็กเรตติ้งกันแบบเป็นทางการในทั่วประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในอีกราวปีเศษ อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนที่จะกำหนดอนาคตในวันข้างหน้า ว่า จะลงจากหลังเสือ หรือว่าจะควบไปต่อตามแรงยุของคนรอบข้างในเวลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น