โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------
ช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่จากนักษัตรปีลิงสู่ปีไก่ ณ ห้วงเวลานี้บรรยากาศแท้ที่จะครึกครื้นด้วยกิจกรรมเฉลิมฉลอง แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้กลักกลายเป็นมากมายไปด้วย “ความอึมครึม” ไม่น้อย โดยเฉพาะกับพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับ 6 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย สะบ้าย้อย เทพา นาทวี จะนะ สะเดา และหาดใหญ่
เนื่องจากสายข่าวในสังกัดหน่วยงานความมั่นคงต่างรายงานตรงกันว่า พบความเคลื่อนไหวของสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือแนวร่วมในพื้นที่เตรียมการที่จะก่อเหตุความรุนแรงในหลายพื้นที่ ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงแต่ชายแดนใต้เท่านั้น
นั่นหมายถึงพื้นที่ภาคใต้ตอนบนก็อยู่ในเป้าหมายด้วย ซึ่งก็เคยถูกก่อวินาศกรรมมาแล้วถึง 7 จังหวัดในวันเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อกลางปี 2559 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เกิดจากสาเหตุอะไร และใครเป็นผู้สั่งการ เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมรับว่า เป็นฝีมือของ “ขบวนการบีอาร์เอ็น”
ช่วงเปลี่ยนผ่านปีในเวลานี้จึงมีรายงานข่าวว่า บีอาร์เอ็นมีแผนในการก่อวินาศกรรมทั้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน จนมีการสั่งการให้ทุกจังหวัดบนแผ่นดินด้ามขวานเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการก่อการร้ายในห้วงเวลาดังกล่าว โดยให้เน้นป้องกันอย่าให้โจรใต้ปฏิบัติการได้สำเร็จ
ดังนั้น ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ในครั้งนี้ จึงน่าจะไม่ใช่ห้วงเวลาของการส่งความสุขของคนในพื้นที่ภาคใต้ เพราะกลายเป็นเวลาที่ต้องระมัดระวังในการเดินทาง เที่ยวเตร่ และจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่ตำรวจ และทหารก็ต้องเคร่งเครียดต่อการป้องกันเหตุ และรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งของหน่วยเหนือที่สั่งการไว้
สิ่งนี้คือสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นการยืนยันว่า พื้นที่ทั่วทั้งแผ่นดินภาคใต้ยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะบีอาร์เอ็นยังยืนยันในแนวทางเดิม กล่าวคือ การใช้ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนให้เป็นผล
ส่วนเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เป็นเพียงเรื่องของหลักการ และอาจจะบวกความฝันเฟื่องของภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้าไปไว้ด้วย ซึ่งอาจจะกลายเป็นฝันเปียกของคณะพูดคุยสันติสุขระหว่าง “กลุ่มมาราปาตานี” กับตัวแทนรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ “พล.อ.อักษรา เกิดผล” ในฐานะเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย
หากมองจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา ก็น่าจะคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงปี 2560 ได้ไม่ยากเย็นนัก และปีไก่ ก็น่าจะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน ชนิดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประการที่เกี่ยวเนื่องต่อนโยบายการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งใหญ่
ประการแรกที่มีการเปลี่ยนไปแล้ว นั่นคือ การถอนกำลังทหารของกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 ออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กลับไปสู่กรมกอง แล้วใช้กำลังหารของกองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่ทั้งหมด โดยมีกองกำลังทหารพรานที่ถูกนำเข้ามาแทนที่ทหารหลักจำนวนหลายกองพันด้วยกันเป็นกำลังหลัก
การถอนทหารจากกองทัพภาคต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ ถือเป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องกันมานานหลายปี แต่กลับมีปรากฏการณ์ที่น่าแปลกใจมาก เพราะข่าวการถอนทหารครั้งนี้กลับไม่มีเสียงขานรับจากประชาชน หรือภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ หรือแม้แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนแม้แต่แอะเดียว
ทว่า กลับมีเสียงโจมตีจากภาคส่วนต่างๆ ถึงการใช้กำลังทหารพรานเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่แทนกำลังของทหารหลัก รวมทั้งการเรียกร้องให้เลิกจุดตรวจ และให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นี่อาจจะเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน อันเป็นไปแบบได้คืบเอาศอก โดยมีมวลชนจัดตั้งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อกดดันรัฐบาล
การเปลี่ยนแปลงประการต่อมาคือ การใช้นโยบายในการพัฒนาแบบเต็มพิกัด ด้วยหลักคิดในการใช้การพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง ด้วย “โครงการเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน” ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็เน้นงานด้านการพัฒนาเป็นด้านหลัก ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม และการทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคนรากหญ้า เพื่อดึงให้มวลชนส่วนหนึ่งผละออกจากบวนการแบ่งแยกดินแดน
รัฐบาลหวังในเรื่องการใช้การพัฒนาอย่างเต็มพิกัดเพื่อการดับไฟใต้ ด้วยการตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยคาดหวังว่าโครงการเหล่านี้น่าจะโดนใจคนในพื้นที่ และสามารถชักจูงคนนอกพื้นที่เข้าไปเพื่อสร้างความมั่นคง และมั่งคั่งในเรื่องของเศรษฐกิจ
แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ทุกโครงการ ทุกเรื่องราวของรัฐบาล กลับไม่มีเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่เท่าที่ควร แถมกลับยังมีเสียงไม่เห็นด้วยเสียอีก ซึ่งหากเป็นเวลาปกติที่เป็นการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเรือน เสียงไม่เห็นด้วยแบบนี้คงจะกระหึ่มเมืองไปแล้ว
เมื่อมาดูงานด้านการเมืองของรัฐบาล และกองทัพ กล่าวคือ นโยบายการพูดคุยสันติสุขระหว่างกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มของขบวนการการแบ่งแยกดินแดน 4 กลุ่ม ซึ่งในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นไปแบบย้อนแย้งยิ่ง หรืออาจจะกล่าวว่าคุยกันแบบขาดความจริงใจ ไม่มีความชัดเจน จนสุดท้ายคนใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เองก็มองไม่เห็นถึงอนาคตของการพูดคุย แม้แค่แสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็แทบไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้
เมื่อกลับมาดูฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายอย่างบีอาร์เอ็น ซี่งมีการปรับขบวนการครั้งใหญ่ด้วยการสลายตำแหน่งของแกนนำทั้งในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และระดับเขต ด้วยการจัดตั้งอย่างหลวมๆ แบบปิดลับ และด้วยวิธีการที่ภายนอกคล้อยตามนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้กลมกลืนกับแผนงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่กลับเดินงานการเมืองในแบบใต้ดินอย่างเข้มข้น โดยการเน้นงานมวลชนเข้มข้นถึง 70% เน้นงานการทหารแค่ 30% โดยใช้ความรุนแรงเป็นกับดักให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 และที่ต้องจับตามองคือ การขยายงานมวลชนทั่วประเทศ และขยายพื้นที่ยึดครองจาก 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ สะบ้าย้อย นาทวร เทพา และ จะนะ กลับเพิ่มเอา อ.สะเดา ใน จ.สงขลาเข้าไปด้วยเป็น 5 อำเภอ เรื่องนี้ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามความคืบหน้าในฟากฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างใกล้ชิดต่อไป
ดังนั้น สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2560 จึงน่าจะยังเป็นปีที่ก้าวไม่พ้นความรุนแรง และยังจะเกิดความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน แต่ความรุนแรงจะขยายพื้นที่จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ใจกลางอำนาจรัฐอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยหรือไม่นั้น ก็คงต้องจับตากันชนิดอย่ากะพริบต่อไป
ดังนี้แล้ว สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2560 จึงยังเป็นงานหนักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการผลักดันโครงการต่างๆ ให้ได้ผลโดยเร็ว รวมทั้งการป้องกันเหตุความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพราะหากความรุนแรงไม่มีแนวโน้มลดลง แถมยังขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ นั่นย่อมหมายถึงความล้มเหลวของนโยบายที่นำไปใช้ว่า ไม่สอดรับต่อความเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์
อันหมายเป็นอื่นใดไม่ได้เลย นอกจากเป็นผิดพลาดที่จะต้องมีผู้ตกเป็นจำเลยของประชาชน?!