คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีที่ผ่านมา มีเหยื่อที่เป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ เสียชีวิตและบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ซึ่งหลังเกิดเหตุภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์ ทั้งแบบประณามและแบบขอความเห็นใจกับ “โจร” ขณะที่ตัวแทนภาครัฐทั้งทหาร และฝ่ายปกครองก็ได้เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และให้การเยียวยากันไปตามระเบียบปฏิบัติเหมือนๆ กับทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็เกิดต่อเนื่องกันมากว่า 12 ปี ของไฟใต้ระลอกใหม่แล้วนั่นเอง
หลายสำนักข่าว รวมถึงบรรดา “กูรู” ที่อ้างว่าเชี่ยวชาญในเรื่องการก่อการร้าย และเรื่องความมั่นคง ได้มีการวิเคราะห์เป็นฉากๆ ต่อการวางระเบิดครั้งนี้ บ้างก็ว่าเป็นการต้อนรับ “ครม.ส่วนหน้า” ที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ บ้างก็ว่าเป็นการ “ลองภูมิ” กับ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
และก็มีหลายกูรูเหมือนกันที่ “นั่งเทียนนอกพื้นที่” ก็อ้างว่าเป็นการต่อต้าน “การพูดคุยสันติสุข” รอบใหม่ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะของรัฐบาลไทย กับแกนนำกลุ่มมาราปาตานี
นั่นคือความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และกูรูในเรื่องของไฟใต้ แต่ถ้ามองจากข้อเท็จจริงแล้ว ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ต้องถือเป็น “เรื่องปกติ” ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อ ครม.ส่วนหน้า และก็คงไม่เกี่ยวกับใครจะเป็นแม่ทัพคนใหม่ รวมถึงไม่มีส่วนกับการพูดคุยสันติสุขระหว่าง “อักษรา” กับ “มารา” แต่อย่างใด
เพราะการก่อการร้ายใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องปกติของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการ ทั้งด้วยระเบิดแสวงเครื่อง ด้วยอาวุธปืน ด้วยการวางเพลิง หรือด้วยรูปแบบต่างๆ โดยไม่ต้องมี “วันสัญลักษณ์” หรือวาระสำคัญอะไร เพียงแต่ขอให้มี “ช่องว่าง” เกิดขึ้นพอที่จะปฏิบัติการได้ พวกเขาก็จะปฏิบัติการในทันที
อาจจะมีกรณีพิเศษบ้างในเดือนตุลาคมที่จะต้องทำให้ได้ เพราะต้องการที่จะให้ “สื่อ” ตอกย้ำถึงเรื่องการตายหมู่ของพี่น้องมุสลิมรวมกว่า 80 ศพ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือที่มักเรียกกัน “เหตุการณ์ตากใบ” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2457 เพราะถ้าไม่สร้างเหตุร้ายให้เกิดขึ้น สื่อก็จะไม่มีเหตุผลที่จะ “ตอกย้ำ” หรือนำเรื่องการตายหมู่ที่ตากใบมาฉายภาพซ้ำอีกครั้ง
สรุปให้ชัดๆ คือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเดินตามหลังเจ้าหน้าที่อยู่ตลอด เพื่อหา “จุดอ่อน” และ “ช่องว่าง” ในการก่อการร้าย และพวกนั้นไม่ได้สนใจว่า วันนี้ เดือนนี้ ห้วงเวลานี้ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังอยู่ในอาการโศกเศร้าต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หรือ “รายอกีตอ” ของพี่น้องมุสลิม
ดังนี้แล้ว แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจึงถือเป็น “โจรชั่ว” ที่ป่วยการจะไปประณาม หรือขอร้องให้หยุดการก่อการร้ายใดๆ เพราะพวกมันไม่ใช่ “โจรสุภาพบุรุษ” อย่างในอดีต
และป่วยการที่จะไปร้องขอ “พื้นที่ปลอดภัย” จากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าเป็น “บีอาร์เอ็น” หรือจะเป็น “มาราปาตานี” เพราะเป็นเรื่องที่ยังเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ และที่สำคัญถ้าหน่วยงานไหนประกาศว่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่สันติสุข หรือพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่นั่นจะเป็น “พื้นที่กระสุนตก” ไปในทันที เพราะกลุ่มที่เห็นต่างจะก่อเหตุในพื้นที่นั้นๆ อย่างเต็มที่
เนื่องเพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ขบวนการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีกลุ่มเดียว โดยเฉพาะ “บีอาร์เอ็น” ยังไม่ได้เห็นด้วยกับ “มาราปาตานี” ที่กำลังอยู่ระหว่างการร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขอยู่กับตัวแทนของรัฐบาลไทย
ดังนั้น ถ้าหน่วยงานไหนมีความสามารถในการพูดคุยให้บีอาร์เอ็น หรือกลุ่มอื่นๆ กำหนดพื้นที่ไหนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จริง ก็ขอร้องว่าอย่าได้ประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้เด็ดขาด แต่ให้ทำกันเงียบๆ เพราะถ้าพื้นที่ไหนไม่เกิดเหตุร้าย ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย
ส่วนที่จะให้ “โจร” หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีการ “ลงนาม” หรือให้ “สัตยาบัน” กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้มีการรับรองว่า โรงเรียน ตลาด วัด มัสยิด หรือสถานที่อื่นๆ เป็น “เขตปลอดภัย” นั้น เข้าใจว่าวิธีการนี้ยังไม่เหมาะสมต่อพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้
เพราะวันนี้สภาพของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียง “สงครามประชาชน” และเป็น “สงครามที่ไม่ได้มีการประกาศ” ที่สำคัญรัฐบาลทุกรัฐบาลยืนยันว่า เป็นเรื่องของ “ภายในประเทศ”
ที่สำคัญอีกอย่างคือ บีอาร์เอ็นไม่เคยรับและปฏิเสธว่า พวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย แล้วทางการไทยจะไปลงนามกับใคร เพราะในส่วนของมาราปาตานีนั้น ณ วันนี้ต้องถือว่าเป็น “กลุ่มที่ยังไม่มีศักยภาพ” ที่จะสามารถเป็นตัวแทนของขบวนการก่อการร้ายทั้งหมดได้ และข้อสำคัญวันนี้การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับมาราปาตานียังอยู่ในขั้นตอนของเรื่อง “เทคนิค” เท่านั้น
ดังนั้น การแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังเป็นบทบาทสำคัญของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่จะต้องปรับแผน ปรับยุทธวิธี ทั้งในด้าน “การเมือง” และ “การทหาร” เพื่อที่จะสามารถ ได้ใจมวลชนมากขึ้น และลดการก่อการร้ายของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนลงไปให้ได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าขบวนการสร้างสันติสุขด้วยการพูดคุยไม่ใช่เรื่องสำคัญ การพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อการยุติสงครามการก่อการร้าย และการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน ซึ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วย และสนับสนุนให้รัฐบาลและ คสช.ยังคงใช้นโยบายในการพูดคุยสันติภาพเพื่อหยุดการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
โดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนรวม 14 เวทีในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุร้ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือของสถาบันการศึกษา เครือข่ายผู้นำศาสนา เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-15 กันยายน 2559 อันมีบทสรุปจากประชาชนที่ตรงกัน 3 ประเด็นใหญ่ที่ต้องรับฟังคือ
1.ประชาชนทุกเวทีมีความเห็นว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นต้องใช้ “สันติวิธี” ในการแก้ปัญหา นั่นคือต้องใช้ “การพูดคุย” แทนการให้กำลัง และอาวุธ แต่การพูดคุยต้องตั้งอยู่บน “ความจริงใจ” ของทุกฝ่าย แต่ต้องไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง และผลประโยชน์ของกลุ่มคนเข้าไปเจือปน
2.ต้องการให้คณะพูดคุยทั้ง 2 ฝ่ายคือ ทั้ง “ปาร์ตี้ เอ” และ “ปาร์ตี้ บี” หมายถึงทั้งตัวแทนรัฐบาลไทย และตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดนมี “หัวใจเป็นไทย” ข้อเสนอที่นำไปเป็น “เงื่อนไข” ในการพูดคุยต้องเป็นไปเพื่อไม่สร้างข้อขัดแย้งภายในประเทศ ต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ที่ไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่มีการขยายปัญหาไปสู่ต่างประเทศ หรือระดับสากล หรือดึงเอาองค์กรจากต่างประเทศเข้ามาร่วมวง และที่สำคัญต้องไม่มีเป้าหมายการพูดคุยเพื่อการ “แบ่งแยกดินแดน” เพราะเป้าหมายของการพูดคุยสันติสุขคือ “ยุติการแบ่งแยกดินแดน” นั่นเอง
3.ความเห็นของประชาชนที่ร่วมเวทีต่างเห็นว่า “การพูดคุยไม่คืบหน้า” เป็นผลมาจากการที่มีการนำเสนอ “เงื่อนไข” ที่แต่ละฝ่ายปฏิบัติได้นำมาเป็นข้อ “ต่อรอง” เช่นการรับรองสถานะของผู้ต้องหา การปล่อยนักโทษ หรือผู้ที่เป็นผู้ต้องหา การยกเลิกคดีความ การถอนทหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการยากต่อการปฏิบัติ หากฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องการเห็นสันติสุขจริง ก็ต้องไม่ใช้เงื่อนไขที่รู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลไทยทำตามไม่ได้มาเป็นข้อเสนอในการพูดคุย
และสุดท้ายในข้อที่ 4.คือ ขอให้นำข้อเสนอ ซึ่งเป็นเสียงของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอที่เป็นพื้นที่ก่อการร้ายสะท้อนไปสู่ “เวทีการพูดคุยสันติสุข” ของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่คิดอย่างไร และต้องการอะไร และที่สำคัญประชาชนทั้ง 14 เวทีสรุปเป็นโจทย์ร่วมกันคือ การต่อต้านความรุนแรง การส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมด้วยการอยู่ร่วมกันด้วยความรักในลักษณะ “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก”
วันนี้เราจะต้องก้าวต่อไป โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องปรับแผนในการรับมือต่อการก่อการร้าย และการพิทักษ์ประชาชนให้ได้ผล ส่วนคณะพูดคุยสันติสุขต้องไม่ละเลยต่อความคิดเห็นของประชาชนนำไปสู่เวทีการพูดคุยกับกลุ่มที่เป็นตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ “ไทยพุทธ” ที่เสียชีวิตรายวันในห้วงของเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากตั้งข้อสังเกตก็จะเห็นว่า หลังเหตุการณ์ “วิสามัญ 4 ศพ” ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แนวร่วมมีการเอาคืนด้วยการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยม
เรื่องนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เพราะถ้ามีคนตายแบบ “ใบไม้ร่วง” แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญ สิ่งนี้จะเป็นการทำลาย “ขวัญ” และ “กำลังใจ” ของคนในพื้นที่ เพราะไม่มีอะไรที่สำคัญกว่าชีวิตของคนอีกแล้ว
ส่วนการที่รัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญบีอาร์เอ็นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่โดยข้อเท็จจริงวันนี้ศัตรูหมายเลข 1 ของเราก็คือ บีอาร์เอ็น ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นประเด็นที่รองลงไปทั้งสิ้น
ในการต่อสู้ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับ “ศัตรูหมายเลข 1” แล้ว เราจะกำชัยชนะต่อศัตรูได้อย่างไร
ในขณะเดียวกัน ทั้งบีอาร์เอ็น และกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นผู้ก่อกรรมทำเข็ญต่อผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่เป็น “พุทธ” และ “มุสลิม” จะต้องกลับไปถามตนเองด้วยว่า วิธีการที่ใช้อยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และเชื่อได้อย่างไรว่า การใช้ “ความอำมหิต” ดังกล่าวจะทำให้บีอาร์เอ็นเป็นผู้ชนะในสงครามประชาชน