รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ สงขลา
--------------------------------------------------------------------------------
หัวใจสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนคือ “การยอมรับอำนาจ เพิ่มบทบาทประชาชน” ในการเข้ามีส่วนร่วมต่อการบริหาร การตัดสินใจเชิงนโยบาย การดำเนินกิจกรรม โครงการสาธารณะต่างๆ ของรัฐที่อาจมี/ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน สังคม ชุมชน ท้องถิ่น
ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นเครื่องมือ กลไกสำคัญของค้ำยัน “พัฒนาการประชาธิปไตย” ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนยิ่งๆ ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานี้การรับฟังความคิดเห็นต่อการตัดสินใจการดำเนินนโยบาย/โครงการของรัฐ ได้ถูกลดทอนให้เป็นเพียงวิธีการง่ายๆ รวบรัดตัดตอน “พอเป็นพิธี” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการตัดสินใจ หรือดำเนินโครงการ
ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย และเจตนารมณ์ของ “การรับฟังความคิดเห็น” เพื่อสร้าง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ได้อย่างจริงจัง
การใช้วิธีการแบบเดิมๆ ในยุคสมัยที่ประชาชนได้พัฒนาการการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ บทเรียน และเติบโตเป็นพลเมืองที่ตื่น และตระหนักรู้อย่างไพศาล ทำให้ท้ายที่สุดกับการรับฟังความคิดเห็นกลายเป็น...
“ความชอบธรรมที่ปราศจากความชอบธรรม”
ทำให้เกิดคลุมเครือ เคลือบแคลง สงสัยในความไม่ตรงไปตรงมา รอบคอบ รอบด้าน อันนำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่อารยะสังคมยอมรับในการร่วมกันปกป้องตนเอง ชุมชน สังคมอันเป็นมาตุภูมิ
ที่สำคัญคือ การปกป้องฐานทรัพยากรและผลประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นความมั่นคงทางอาหาร ปากท้อง และทรัพยากรอันอุดมให้คงอยู่คู่สังคม และคนรุ่นอนาคต และเป็นที่มาของความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ของประชาชน พลเมืองในการเปล่งเสียง สะท้อนออกถึงทัศนะ มุมมอง ความคิดเห็นและความต้องการให้ “ยุติการรับฟังความคิดเห็นอันบิดเบี้ยว” เฉพาะหน้าที่สุดสำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ “ค.1 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา
ขอเสนอต่อไปว่า การมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นใดๆ อันเกี่ยวเนื่องหลังจากนี้ จะเกิดขึ้นได้อย่างน้อยๆ ที่สุดไม่ใช่เพียงแค่วิธีการอันเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม/สุขภาพเท่านั้น
แต่ต้องเริ่มต้นจากมี “การเปิดเผยข้อมูล” เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่อง-เชื่อมโยงในอนุภาคสองฝั่งทะเลสงขลา-สตูล รวมไปถึง “การกางแผ่ข้อมูลข่าวสาร” โครงการพัฒนาในภาคภาคใต้ทั้งระบบ โดยเป้าหมายสำคัญคือ การร่วมกันออกแบบ/การกำหนดตนเอง-อนาคตของมาตุภูมิ และสมบัติร่วมของสังคมไทย ด้วยเจตจำนงอันเสรี และถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจากข้างล่าง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ประชาธิปไตยชุมชน”
“เมื่อประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมถูกทำให้แคบ และตีบตัน เมื่อนั้นประชาธิปไตยทางตรงก็ต้องทำงาน การข่มขู่ คุกคาม ทำให้หวาดกลัวด้วยวิธีการใดๆ ต้องได้รับการประณาม”