ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประชาชนเครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ เดินทางเข้าเจรจาจังหวัดสงขลา ขอให้ยกเลิกการจัดเวที ค.1 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ระบุไม่มีความเป็นธรรม ชี้ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ใช่ส่วนกลางตัดสินใจมาแล้ว จึงมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น
วันนี้ (13 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้มีประชาชนเครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ ได้ทยอยเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณหน้าห้องประชุมศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา เพื่อเจรจากับทางจังหวัดสงขลา ขอให้ทางจังหวัดยกเลิกการจัดเวที ค.1 (เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1) โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะมีการจัดขึ้นที่โรงแรมบีพีสมิหลา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 นี้โดยเครือข่ายฯ ระบุว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ ค.1 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ไม่มีความชอบธรรมในการจัดเวที
ทั้งนี้ เมื่อวานที่ผ่านมา เครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ ได้จัดเวทีเสวนาที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา พร้อมกับได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้ยกเลิกการจัดเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” โดยเนื้อหาระบุว่า
“สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ ได้จัดเสวนาสาธารณะ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 บ้านสวนกง อ.จะนะจุดเริ่มต้นสงขลา-สตูล สู่อุตสาหกรรมมลพิษ” ในวันที่ 12 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00-17.00 น.ห้อง 13210 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา โดยมีนักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางสังคม 18 ท่าน เป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 100 คน”
การเสวนาสาธารณะ ได้มีความเห็นร่วมกันคือ เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 นั้น ไม่มีความชอบธรรมในการจัดการรับฟังความคิดเห็น ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 8 ประการ คือ 1.ภาพรวมการพัฒนาภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ทั้งท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเล แลนด์บริดจ์ และรถไฟรางคู่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล เหมืองแร่ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งคลองไทย เป็นการพัฒนาที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ภาคใต้อย่างถอนรากถอนโคน จะทำให้เกิดผลกระทบสะสมเชิงลบที่ซับซ้อน นำพาภาคใต้เปลี่ยนไปสู่การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมลพิษที่ประชาชนไม่ต้องการ
2.โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นชุดโครงการที่ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่เชื่อมสองท่าเรือระยะทาง 142 กิโลเมตร และนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมา นี่คือ ชุดโครงการเดียวกัน การศึกษาแบบแยกส่วนจึงเป็นการลักไก่ จึงเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการทำ EHIA ที่ไม่มีความชอบธรรม 3.การตัดสินเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล จากส่วนกลาง ชัดเจนว่า เป็นการตัดสินใจที่ไม่อยู่บนฐานวิชาการ แต่เป็นการฟันธงทางนโยบายมาก่อนว่าต้องสร้าง และกำหนดพื้นที่มาก่อนแล้ว แล้วจึงมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น นับเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีความสับสนทางนโยบายว่าจะพัฒนาคลองไทย หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งมีความซ้ำซ้อนอย่างยิ่ง
4.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วยการเปิดเผยข้อมูลเพียงเศษเสี้ยว ไม่เปิดให้หมด ด้วยความรีบร้อนรวบรัดจัดกระบวนการรับฟังความเห็น อีกทั้งเป็นการจัดแบบแยกส่วนโครงการ เป็นเพียงเวทีพิธีกรรม และการเกลี้ยกล่อมมวลชนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ 5.ในมิติด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์นั้นมีความน่าเป็นห่วงมากว่าจะเป็นโครงการนี้เป็นการลงทุนที่เป็นภาระแก่ประเทศชาติ ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่อาจแข่งขันกับท่าเรือปีนัง หรือท่าเรือสิงคโปร์ได้ ยิ่งหากนำปัจจัยที่ไม่อาจตีเป็นมูลค่าตัวเงินมาคำนวณแล้ว เช่น หาดทราย สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความสุขของประชาชน ยิ่งไม่มีความคุ้มทุนอย่างสิ้นเชิง
6.ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า โครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง ทำลายการประมงที่มีความสมบูรณ์ของทะเลสงขลา ทำลายชายหาด และเนินทรายอายุกว่า 6,000 ปี ที่มีความสมบูรณ์ และสมดุลทางนิเวศวิทยา 7.ในมิติด้านชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชน การสร้างโครงการขนาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองฝั่งทะเล และตลอดแนวทางรถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือ โดยเฉพาะวิถีประชาชนที่ใส่ใจในศาสนธรรม และการพัฒนาอย่างพอเพียง จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการพัฒนาที่เห็นแก่เงิน และไม่เห็นหัวประชาชน
8.สงขลา และสตูล มีฐานชีวิต และฐานเศรษฐกิจที่สมดุลที่พึ่งพาภาคเกษตร การท่องเที่ยว การประมงและภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องต่อฐานทรัพยากร และฐานชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ การสร้างเมกะโปรเจกต์เพื่อทำให้สงขลา-สตูล เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมลพิษ ไม่ใช่การทำเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการทำเพื่อกลุ่มทุน
ข้อเสนอแนะคือ 1.ขอให้ยกเลิกการจัดเวที ค.1 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะจัดเวทีการรับฟังที่โรงแรมบีพีสมิหลา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 นี้ เนื่องจากเป็นเพียงเวทีพิธีกรรม และไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการจัดเวที 2.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ควรจะเป็น ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมที่ให้คุณค่าอย่างยิ่งต่อความเห็นของทุกฝ่าย มีการแลกเปลี่ยนรับฟังอย่างกว้างขวาง จริงจัง จนเกิดความเห็นร่วมของประชาชนในการตัดสินใจอนาคตของจังหวัดท้องถิ่นของเขาเอง โดยไม่ใช่ส่วนกลางมาตัดสินใจมาแล้วจึงมาเปิดเวทีรับฟัง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ต้องมีการปรึกษาหารืออย่างเข้มข้นระหว่างภาครัฐกับทุกภาคส่วน โดยโจทย์ที่คนสงขลา-สตูลต้องร่วมกันตัดสินก่อนคือ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดว่าจะพัฒนาสงขลา-สตูล ไปในทิศทางใด
3.การตั้งโจทย์ที่ผิดย่อมไม่สามารถนำสู่การหาคำตอบที่ถูกต้องได้ การดื้อดึงจัดเวทีให้สำเร็จนอกจากได้คำตอบที่ผิดแล้ว ยังจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคมสงขลาได้ อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่คาดคิดได้
สำหรับความคืบหน้า “MGR Online ภาคใต้” จะรายงานให้ทราบต่อไป