ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ ร่วมกับ 18 นักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางสังคม ออกแถลงการณ์ “ขอให้ยกเลิกการจัดเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” เตรียมเข้าเจรจาจังหวัดสงขลา 13 ธ.ค.นี้ ชี้ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมที่ให้คุณค่าต่อความเห็นของทุกฝ่าย มีการแลกเปลี่ยนรับฟังอย่างกว้างขวาง จริงจัง ไม่ใช่ส่วนกลางมาตัดสินใจมาแล้วจึงมาเปิดเวทีรับฟัง
วันนี้ (12 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา นักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางสังคม ได้ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้ยกเลิกการจัดเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” โดยเนื้อหาระบุว่า
“สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายสงขลาปลอดอุตสาหกรรมมลพิษ ได้จัดเสวนาสาธารณะ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 บ้านสวนกง อ.จะนะจุดเริ่มต้นสงขลา-สตูล สู่อุตสาหกรรมมลพิษ” ในวันที่ 12 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00-17.00 น.ห้อง 13210 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา โดยมีนักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางสังคม 18 ท่าน เป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 100 คน”
การเสวนาสาธารณะ ได้มีความเห็นร่วมกันคือ เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 นั้น ไม่มีความชอบธรรมในการจัดการรับฟังความคิดเห็น ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 8 ประการคือ 1.ภาพรวมการพัฒนาภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ทั้งท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเล แลนด์บริดจ์ และรถไฟรางคู่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล เหมืองแร่ นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี รวมทั้งคลองไทย เป็นการพัฒนาที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ภาคใต้อย่างถอนรากถอนโคน จะทำให้เกิดผลกระทบสะสมเชิงลบที่ซับซ้อน นำพาภาคใต้เปลี่ยนไปสู่การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมลพิษที่ประชาชนไม่ต้องการ
2.โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นชุดโครงการที่ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่เชื่อมสองท่าเรือระยะทาง 142 กิโลเมตร และนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมา นี่คือชุดโครงการเดียวกัน การศึกษาแบบแยกส่วนจึงเป็นการลักไก่ จึงเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการทำ EHIA ที่ไม่มีความชอบธรรม 3.การตัดสินเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล จากส่วนกลาง ชัดเจนว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่อยู่บนฐานวิชาการ แต่เป็นการฟันธงทางนโยบายมาก่อนว่าต้องสร้าง และกำหนดพื้นที่มาก่อนแล้ว แล้วจึงมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น นับเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีความสับสนทางนโยบายว่าจะพัฒนาคลองไทยหรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งมีความซ้ำซ้อนอย่างยิ่ง
4.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วยการเปิดเผยข้อมูลเพียงเศษเสี้ยว ไม่เปิดให้หมด ด้วยความรีบร้อนรวบรัดจัดกระบวนการรับฟังความเห็น อีกทั้งเป็นการจัดแบบแยกส่วนโครงการ เป็นเพียงเวทีพิธีกรรม และการเกลี้ยกล่อมมวลชนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ 5.ในมิติด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์นั้นมีความน่าเป็นห่วงมากว่าจะเป็นโครงการนี้เป็นการลงทุนที่เป็นภาระแก่ประเทศชาติ ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่อาจแข่งขันกับท่าเรือปีนัง หรือท่าเรือสิงคโปร์ได้ ยิ่งหากนำปัจจัยที่ไม่อาจตีเป็นมูลค่าตัวเงินมาคำนวณแล้ว เช่น หาดทราย สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความสุขของประชาชน ยิ่งไม่มีความคุ้มทุนอย่างสิ้นเชิง
6.ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า โครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง ทำลายการประมงที่มีความสมบูรณ์ของทะเลสงขลา ทำลายชายหาด และเนินทรายอายุกว่า 6,000 ปี ที่มีความสมบูรณ์ และสมดุลทางนิเวศวิทยา 7.ในมิติด้านชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชน การสร้างโครงการขนาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองฝั่งทะเล และตลอดแนวทางรถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือ โดยเฉพาะวิถีประชาชนที่ใส่ใจในศาสนธรรม และการพัฒนาอย่างพอเพียง จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการพัฒนาที่เห็นแก่เงิน และไม่เห็นหัวประชาชน
8.สงขลา และสตูล มีฐานชีวิต และฐานเศรษฐกิจที่สมดุลที่พึ่งพาภาคเกษตร การท่องเที่ยว การประมงและภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องต่อฐานทรัพยากร และฐานชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ การสร้างเมกะโปรเจกต์เพื่อทำให้สงขลา-สตูล เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมลพิษ ไม่ใช่การทำเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการทำเพื่อกลุ่มทุน
ข้อเสนอแนะคือ 1.ขอให้ยกเลิกการจัดเวที ค.1 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะจัดเวทีการรับฟังที่โรงแรมบีพีสมิหลา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 นี้ เนื่องจากเป็นเพียงเวทีพิธีกรรม และไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการจัดเวที 2.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ควรจะเป็น ต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมที่ให้คุณค่าอย่างยิ่งต่อความเห็นของทุกฝ่าย มีการแลกเปลี่ยนรับฟังอย่างกว้างขวาง จริงจัง จนเกิดความเห็นร่วมของประชาชนในการตัดสินใจอนาคตของจังหวัดท้องถิ่นของเขาเอง โดยไม่ใช่ส่วนกลางมาตัดสินใจมาแล้วจึงมาเปิดเวทีรับฟัง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ต้องมีการปรึกษาหารืออย่างเข้มข้นระหว่างภาครัฐกับทุกภาคส่วน โดยโจทย์ที่คนสงขลา-สตูลต้องร่วมกันตัดสินก่อนคือ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดว่าจะพัฒนาสงขลา-สตูล ไปในทิศทางใด
3.การตั้งโจทย์ที่ผิดย่อมไม่สามารถนำสู่การหาคำตอบที่ถูกต้องได้ การดื้อดึงจัดเวทีให้สำเร็จนอกจากได้คำตอบที่ผิดแล้ว ยังจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคมสงขลาได้ อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่คาดคิดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนักวิชาการ และนักปฏิบัติการทางสังคมที่ร่วมลงชื่อ จำนวน 18 คน ประกอบด้วย 1.รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 2.ผศ.ประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ 3.อ.จรูญ หยูทอง อดีตอาจารย์สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
4.อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 5.อ.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 6.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 7.อ.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
8.อ.เพ็ญประไพ ภู่ทอง อดีตอาจารย์ภูมิศาสตร์สารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 9.อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม 10.อ.ดิเรก เหมนคร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี 11.อ.นาซอรีหวะหลำ อุซตาสสอนศาสนาอิสลาม บ้านปากบางสะกอม อำเภอจะนะ
12.นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ 13.นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ นักพัฒนาเอกชน รางวัลองค์ปาฐกถาโกมล คีมทอง ประจำปี 2559 14.นายกิตติภพ สุทธิสว่าง แกนนำเครือข่ายคนจะนะรักษ์ถิ่น 15.นายปิยะโชติ อินทรนิวาส ผู้สื่อข่าวอาวุโส ASTV และ manager online 16.นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) 17.นายประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน 18.นายรุ่งเรือง ระหมันยะ แกนนำชุมชนบ้านสวนกง และนายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ธันวาคม ได้มีการนัดหมายรวมตัวเพื่อเปิดวงเจรจากับทางจังหวัดสงขลา ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา เพื่อขอให้ทางจังหวัดสงขลา ยกเลิกการจัดเวที ค.1 โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะมีการจัดขึ้นที่โรงแรมบีพีสมิหลา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ซึ่งไม่มีความชอบธรรมในการจัดเวที