xs
xsm
sm
md
lg

อดีตกำนันเกาะพยามเผยโฉนดชุมชนออกได้ ผู้ประกอบการโอดท่องเที่ยวทรุดหลังจัดระเบียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระนอง - อดีตกำนันเกาะพยาม เผยออกโฉนดชุมชนสามารถทำได้เพื่อความสงบสุขของหมู่บ้าน ตนไม่ใช้อิทธิพลเรียกรับเงิน ขณะที่ผู้ประกอบการโอดทหารจัดระเบียบรีสอร์ตกระทบท่องเที่ยว วอนแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ทุกฝ่าย

จากกรณี พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 รับผิดชอบพื้นที่ชุมพร-ระนอง สั่งการให้ พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม มทบ.44 ลงพื้นที่เกาะพยาม “มัลดีฟส์เมืองไทย” หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ตรวจสอบผู้มีอิทธิพล กลุ่มนายทุนคนไทย และต่างชาติ สร้างรีสอร์ต บังกะโล กว่า 100 แห่ง ผิดกฎหมายในเขต ส.ป.ก.และป่าสงวน นอกจากนั้น ยังมีอดีตกำนันอิทธิพลออกโฉนดชุมชนขายแก่ผู้อื่น ต่อมา ทหารใช้อำนาจ ม.44 แต่งตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบจัดระเบียบบนเกาะพยาม ตามที่ทีมข่าวภูมิภาคนำเสนอนั้น

ล่าสุด วันนี้ (10 ธ.ค.) นายสมนึก ฉิมนิกร อดีตกำนันตำบลเกาะพยาม กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวซึ่งมีชื่อตนเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นผู้มีอิทธิพล และออกโฉนดชุมชนนั้น ตนได้มอบข้อมูลเอกสารหลักฐานส่วนหนึ่งให้แก่ ผบ.มทบ.44 ไปแล้ว ตนไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล แต่ถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอิทธิพลตัวจริงซึ่งไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ แต่ชาวบ้านบนเกาะพยามรู้ดีว่าเป็นใคร และตนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกเรื่อง

นายสมนึก กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการออกโฉนดชุมชนที่ผ่านมานั้น ก่อนดำเนินการใดๆ ตนได้ปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้วว่าสามารถทำได้ โดยมีมติที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านหมู่บ้านมีการทำประชาประชามติหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนก็เห็นชอบด้วยจึงได้ดำเนินการ เนื่องจากบนเกาะพยาม ชาวบ้านได้อยู่อาศัยมานานหลายชั่วอายุคน การครอบครอบที่ดินทำกินบนเกาะแห่งนี้ไม่มีใครมีเอกสารสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น โฉนดชุมชนจึงเป็นการกำหนดขอบเขตป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิ่งที่ดินกัน และห้ามมีการบุกรุกเพิ่ม

“ที่ผ่านมามีการร้องเรียน ซึ่งทางจังหวัดระนองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และมีการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมแล้ว โดยศาลยกฟ้อง วินิจฉัยว่าตนฐานะฝ่ายปกครองสาสามารถดำเนินการได้ตามมติของหมู่บ้าน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสงบสุขของชุมชน เพียงแต่โฉนดชุมชนดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานราชการได้ ตนไม่เคยขาย หรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น สอบถามชาวบ้านดูได้ ทุกวันนี้บ้านที่ตนอยู่อาศัยยังต้องเช่าเขาอยู่เลย” นายสมนึก กล่าว

ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ สุจิระกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะพยาม กล่าวว่า หลังทหารลงพื้นที่บนเกาะพยาม และเป็นข่าวทางสื่อมวลชนซึ่งมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ได้ส่งผลกระทบ และภาพลบต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก ซึ่งความจริงแล้วในอดีตนั้นบนเกาะพยาม มีการตั้งชุมชนมาตั้งแต่ 2458 ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2516 ได้ประกาศให้พื้นที่บนเกาะพยามทั้งหมดเป็นป่าสงวนตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และต่อมา รัฐบาลมีนโยบายออกหนังสือสิทธิทำกิน หรือ สทก.ให้แก่ชาวบ้าน กระทั่งปี พ.ศ.2541 รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่บางส่วนบนเกาะเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. แต่ปัจจุบัน บนเกาะแห่งนี้ไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากเป็นดินทราย ทำให้ชาวบ้านหันมาประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ชาวบ้านบางรายไม่มีความรู้ขาดเงินทุนก็ร่วมกับบุคคลภายนอกเข้ามาพัฒนาจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงรู้จักไปทั่วโลก จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลด้วยว่าให้แก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น