xs
xsm
sm
md
lg

มทบ.44 เดินหน้าจัดการรีสอร์ตนับร้อยแห่งบนเกาะพยามสร้างในเขตป่า-ส.ป.ก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - ตั้งคณะกรรมการสางปัญหารีสอร์ตนับร้อยแห่งบนเกาะพยาม “มัลดีฟส์เมืองไทย” หลัง ฉก.มทบ.44 ตรวจสอบสร้างในเขต ส.ป.ก.-ป่าสงวน พร้อมจัดการผู้มีอิทธิพลนำที่ดินรัฐไปจัดสรรขาย ออกโฉนดชุมชน

จากกรณี พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง สั่งการให้ พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ บก.ควบคุม มทบ.44 พร้อมกำลังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่เกาะพยาม หรือที่เรียกกันว่า “มัลดีฟส์เมืองไทย” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ตรวจสอบกลุ่มนายทุนคนไทย และต่างชาติสร้างบังกะโล รีสอร์ต ริมทะเลกว่า 100 แห่ง บุกรุกอยู่ในเขตที่ดิน ส.ป.ก. และป่าสงวนแห่งชาติ และผู้มีอิทธิพลนำที่ดินรัฐไปจัดสรรหลอกขายออกโฉนดชุมชนให้แก่นักลงทุน นักธุรกิจ

ล่าสุด วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระนอง พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44/ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 นายสมศักดิ์ เวชพานิชย์ รอง ผวจ.ระนอง ร่วมเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาบนเกาะพยาม โดยมี นายจงรัก ทรงรัตนพันธ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) นายลักษณ์ แก้วมณี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง พร้อมด้วยหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และอกชนกว่า 50 คน เข้าร่วมประชุม

พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม มทบ.44 ได้บรรยายสรุปผลการลงพื้นที่เกาะพยาม เพื่อพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ได้รับข้อมูลหลักฐานต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะรีสอร์ต บังกะโล บนเกาะทั้งหมดนับ 100 แห่ง สร้างอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลนสมบูรณ์ โดยเฉพาะรีสอร์ตขนาดใหญ่ และบ้านพักตากอากาศหรูส่วนใหญ่เป็นของนายทุนนอกพื้นที่ และชาวต่างชาติ

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานกลุ่มผู้มีอิทธิพลจัดสรรที่ดินของรัฐออกโฉนดชุมชนขายให้ผู้อื่น การซื้อขายสิทธิทำกินในที่ดินซ้ำซ้อน การใช้อิทธิพลข่มขู่ไล่ที่ชาวบ้าน รวมถึงปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาด อีกทั้งบนเกาะพยาม มีเพียงตำรวจชั้นประทวนอยู่ประจำป้อมเพียง 4 นาย ไม่มีหน่วยงานภาครัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ อยู่ประจำการบนเกาะเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้อำนาจรัฐ และการบริการเข้าไม่ถึงประชาชน จนกลุ่มผู้มีอิทธิพลครอบงำพื้นที่ได้ง่าย

ขณะที่สำนักงาน อบต.เกาะพยาม ใช้เงินสร้างกว่า 4 ล้านบาท ถูกปล่อยทิ้งร้าง เนื่องจากผู้บริหารไปเช่าที่ทำการอยู่ในเขตแผ่นดินใหญ่อำเภอเมืองระนอง โดยให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปกลับระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ และช่วงลมมรสุมไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้

นายลักษณ์ แก้วมณี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง กล่าวว่า บนเกาะพยามมีพื้นที่ ส.ป.ก.อยู่ทั้งหมดกว่า 5 พันไร่ สำรวจรังวัดออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไปแล้วจำนวน 150 ราย 189 แปลง รวมกว่า 3 พันไร่ ยังเหลือตกค้างอีกกว่า 2 พันไร่ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากการครอบครองทำกินผิดเงื่อนไขเพราะมีการก่อสร้างรีสอร์ต บังกะโล อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนนโยบายจาก ส.ป.ก. ที่กำลังดำเนินการในเรื่องของวังน้ำเขียวโมเดล ที่ จ.นครราชสีมาอยู่ซึ่งมีลักษณะเดียวกัน เพื่อนำมาใช้เป็นตัวอย่าง และแม่แบบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดปัญหาเหมือนกัน

ด้าน นายจงรัก ทรงรัตนพันธ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) กล่าวว่า บนเกาะพยาม กรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติครอบคลุมทั้งเกาะเมื่อปี พ.ศ.2516 และมีป่าชายเลนตามสภาพที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำทะเลท่วมถึง ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2536 กรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกร จำนวน 5,381.50 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีเงื่อนไขระหว่างกันว่า เมื่อกรมป่าไม้ยกพื้นที่ให้ ส.ป.ก.แล้ว จะต้องไปสำรวจหากพบว่าจุดใดยังเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และเป็นป่าชายเลนตามสภาพอยู่ทาง ส.ป.ก.จะต้องส่งมอบคืนพื้นที่ดังกล่าวกลับมาให้แก่กรมป่าไม้เพื่อดูแลต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีการส่งมอบคืนแต่อย่างใด

อีกทั้งยังพบว่า การระวางเขตที่ดิน ส.ป.ก.บนเกาะพยาม ครอบลงไปในทะเลอีกด้วย นอกจากนั้น ยังตรวจสอบมีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.2 ก. จำนวน 3 แปลง อยู่เกาะพยาม ซึ่งก็ไม่ทราบว่าออกมาได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม พล.ต.อุดมวิทย์ กล่าวว่า มติในที่ประชุมสรุปว่าให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด จากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และตนจะออกคำสั่งในนาม คสช.ครอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อความสะดวกคล่องตัว และความสบายใจในการทำงานจะได้ไม่ถูกนำไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในภายหลัง

คณะกรรมการทั้งหมดจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบเอกสารสิทธิเพื่อยืนยันการครอบครองทำกินของเจ้าของตัวจริงในที่ดินเดิมทั้งหมด พร้อมกับตรวจสอบผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในการนำที่ดินของรัฐไปจัดสรรออกโฉนดชุมชนขาย การขายสิทธิครอบครองทำกินซ้ำซ้อนจนเป็นปัญหามาถึงทุกวันนี้ พร้อมกับให้ผู้บริหาร อบต.เกาะพยาม ย้ายที่ทำการกลับไปอยู่ที่เดิมบนเกาะเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ ความคืบหน้า “ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค” จะนำเสนอต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น