คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน
--------------------------------------------------------------------------------
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณฝ่ายสื่อสารองค์การของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้กรุณาชี้แจง 5 ประเด็นในบทความของผมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ท่านที่ยังไม่ได้อ่านบทความของผม หรือต้องการอ่านอีกครั้ง เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบก็สามารถเข้าไปได้ที่ http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000118528 รวมทั้งคำชี้แจงของ กฟผ.ที่ http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1778&catid=49&Itemid=251 แผ่นภาพข้างล่างนี้เป็นของ กฟผ.ครับ
ผมขอสรุปประเด็นสำคัญที่ผมได้นำเสนอไปแล้วอีกครั้งครับ
แม้ว่าในบทความ ผมได้ตั้งเป็นหัวข้อรวม 5 ข้อ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน แต่สาระสำคัญหลักมีแค่ 2 ประเด็นเท่านั้น คือ
(1) ขณะนี้ในระบบการผลิตไฟฟ้าของเรามีกำลังการผลิตติดตั้ง หรือมีโรงไฟฟ้ามากเกินไป คือ 41,096 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้ 29,618 เมกะวัตต์ นั่นคือ มีกำลังสำรองที่น้อยที่สุดของปีเท่ากับ 39% ในขณะที่มาตรฐานสากลควรจะอยู่ที่ 15% เท่านั้น เมื่อเรามีโรงไฟฟ้ามากเกินไปจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินความจำเป็น เพราะผู้บริโภคต้องจ่ายค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้แก่เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าโรงไฟฟ้าเอกชนจะได้ผลิต หรือไม่ได้ผลิตก็ตามผู้บริโภคก็ต้องจ่ายในส่วนนี้
ผมยังได้เรียนไปอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบโอกาสที่โรงไฟฟ้าจะได้เดินเครื่องระหว่างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.กับโรงไฟฟ้าของเอกชน พบว่า ของเอกชนได้ผลิตในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในตอนท้ายของบทความนี้ ผมจะมีหลักฐานมาแสดงให้ชัดเจนมากขึ้น
(2) การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่จังหวัดกระบี่ และที่จังหวัดสงขลา จะมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสัตยาบันที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามใน “ข้อตกลงปารีส” ที่ประเทศไทยได้ประกาศต่อชาวโลกว่าจะลดลง 20-25% ภายในปี 2030
นอกจากนี้ ผมยังได้นำเสนอข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมอีก 2 ประการ คือ
หนึ่ง ในแผนพีดีพี 2015 ด้านหนึ่ง เรามีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และลิกไนต์รวมกันในสัดส่วน 20-25% ภายในปี 2569 แต่พอถึงปี 2559 ผมค้นพบว่าสัดส่วนนี้ได้อยู่ที่ 21.3% ไปเรียบร้อยแล้วทั้งที่ยังมีเวลาอีก 10 ปี โดยในจำนวนนี้มาจากประเทศลาว 4.7% (ซึ่งถ้าไม่สืบค้นให้ละเอียดจริงจะไม่พบตัวเลขนี้ เพราะในรายงานแค่บอกว่า “ซื้อจากต่างประเทศ”) อีกด้านหนึ่ง ในขณะที่แผนระบุว่า จะมีพลังงานหมุนเวียน 8% ในปี 2557 แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี เพิ่งทำได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
สอง ผมได้นำเสนอผลการศึกษาดูงานของคณะกรรมการไตรภาคีในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบว่า โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่งสามารถใช้ของเหลือมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ติดต่อกัน 300 วัน (แต่ทางราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดให้เป็นประเภทไม่มั่นคง หรือ non-firm) รายได้จากการขายไฟฟ้านอกจากจะคืนทุนภายใน 5-7 ปีแล้ว ยังสามารถนำผลกำไรไปซื้อผลผลิตปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดอีกด้วย
นอกจากนี้ ผมยังได้อ้างอิงถึงผลงานวิจัยของ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกาซึ่งศึกษาในประเทศมาเลเซีย มาใช้กับจังหวัดกระบี่ พบว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 560 ล้านหน่วย คิดเป็น 72% ของความต้องการไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ มันเกือบจะพออยู่แล้ว นี่ยังไม่ได้นับทางของต้นปาล์ม ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผลปาล์มหลายเท่าตัว และยังไม่นับพลังงานแสงอาทิตย์และลมอีกมหาศาล
ขออีกสักนิดครับ จากผลงานวิจัยที่กระทรวงพลังงาน ร่วมทำกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนี ยังได้ข้อสรุปว่า แม้แต่จังหวัดน่าน ซึ่งเราเห็นภาพเป็นภูเขาไร่ข้าวโพดเต็มไปหมด ก็สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าได้ 100% แล้วจังหวัดกระบี่ ที่เขียวขจีไปด้วยพืชยืนต้น เช่น สวนปาล์ม จะพึ่งตนเอง 100% ไม่ได้เชียวหรือ นี่ยังไม่นับจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ที่มีทั้งสวนปาล์ม และยางพาราที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ทั้งนั้น
คราวนี้ขอกลับมาที่ข้อมูลรายละเอียดในบทความชิ้นนี้ก่อนของผมที่ทาง กฟผ.ได้กรุณาชี้แจงมาครับ
ทาง กฟผ.บอกว่า การสั่งการเดินเครื่องไฟฟ้ามี 3 ปัจจัย คือ (1) ความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ (2) สัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ (3) เลือกต้นทุนต่ำสุดเป็นอันดับแรก
แต่ปัญหาสำคัญมันอยู่ตรงข้อที่สองครับ ข้อนี้มันเป็นใหญ่ที่สุด ถ้าได้ทำสัญญาไว้ในจำนวนที่มากเกินไป มันก็ต้องโดนบังคับแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย”
ข้อมูลในแผ่นภาพข้างล่างนี้มาจากข้อมูลดิบในเดือนตุลาคม 2559 พบว่า ทั้งๆ ที่ กฟผ.มีกำลังการผลิตอยู่ 40% แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริงเพียง 34% เท่านั้น คือ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึงเกือบ 6% คำถามคือทำไมไม่ผลิตให้ใกล้เคียงกับ 40%
ผลต่างของยอดการผลิตเกือบ 6% อย่าคิดว่าเป็นของเล็กน้อยนะครับ ในปี 2558 คนไทยเราจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งปี คิดเป็นเงิน 6.6 แสนล้านบาท (100%) ดังนั้น จำนวน 1% ของทั้งปีจึงมีมูลค่าถึงประมาณ 6 พันล้านบาท เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้วางกติกาให้ กฟผ. เสียเปรียบบริษัทเอกชน
ในเรื่อง “ความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่”
ถ้าเราดูภาพกราฟิกที่แสดงการส่ง และรับไฟฟ้าตามภาคต่างๆ ของประเทศ (ดังภาพประกอบ) พบว่า ทุกภาคของประเทศต่างก็ส่ง และรับไฟฟ้าจากภาคอื่นทั้งนั้น แต่กลับอ้างเฉพาะภาคใต้ว่าไฟฟ้าไม่มีความมั่นคง แถมยังติดๆ ดับๆ (ตามที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ กล่าว) ซึ่งสาเหตุของการดับส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอุบัติเหตุภายนอกระบบการผลิต
แต่สมมติว่ามันเป็นปัญหาเชิงเทคนิคจริงๆ ทำไมจึงไม่เลือกใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งในปัจจุบันมีราคาถูกลง และถูกกว่าค่าไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินเสียอีก (เช่น โซลาร์เซลล์ ในประเทศชิลี ชนะการประมูลเหนือโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น) และเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเกษตรกรไม่ใช่แต่ภาคใต้เท่านั้น แม้แต่ชาวนาก็ยังสามารถขายซังข้าว กิ่งไม้เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ ก็ไหนผู้นำรัฐบาลบอกเราว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นี่คือทางออกที่มีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท และเป็นโอกาสให้คนจนได้ขายสินค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเหมือนกับนายทุนบ้าง
ถ้าพูดถึงความมั่นคงทางไฟฟ้า ประเทศเยอรมนี มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก 0.5 ถึง 1 เมกะวัตต์ จำนวนกว่า 7 พันโรง กระจายอยู่ทั่วประเทศ หากจะมีปัญหาไฟฟ้าดับก็จะดับเป็นหย่อมเล็กๆ
ราคาที่รัฐบาลเยอรมนีรับซื้อจากโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 5 เมกะวัตต์ ในปี 2557 หน่วยละ 2.25 บาทเท่านั้น (ดูแผ่นภาพซึ่งมาจากเอกสารของรัฐบาลประเทศเยอรมนี) มันถูกกว่าราคารับซื้อจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ จากประเทศลาว เสียอีกครับ
ยังมีอีก 3 ประเด็นที่ผมเห็นต่างกับคำชี้แจงของฝ่ายสื่อสารองค์การ ผมขอกล่าวถึงเพียงสั้นๆ ดังนี้
เรื่องค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ แพงกว่าค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี
ฝ่ายสื่อสารองค์การชี้แจงว่า โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ดังนั้น “ราคาจะสูงมากในปีแรกๆ และทยอยต่ำลงในปีท้ายๆ เหมือนค่าเช่ารถเก่ากับรถใหม่ที่อายุต่างกัน 10 ปี ค่าเช่ารถใหม่ย่อมแพงกว่า ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีซึ่งจ่ายไฟฟ้ามาแล้วประมาณ 10 ปี ได้ลดลงเหลือ 2 ใน 3 ของปีแรกๆ”
ผมเองไม่ทราบรายละเอียดของการคิดค่าความพร้อมจ่าย ถ้าทาง กฟผ.จะกรุณานำขึ้นเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคได้ศึกษาก็จะขอบคุณมากครับ
แต่ผมเห็นว่าปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่การเช่ารถใหม่ หรือรถเก่าเป็นหลัก แต่ความสำคัญเป็นการเช่ารถไว้มากเกินไป ถ้าเทียบกับระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ก็คล้ายกับการเช่ารถไว้ 100 คัน แต่ได้ใช้จริงเพียง 61 คันเท่านั้น นี่คือสาระในประเด็นของผมครับ
ผมได้รวบรวม “ค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment - ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิง) และค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment)” ของทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2559 พบว่า นับตั้งแต่ปี 2554 ค่าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2559 มีมูลค่ากว่า 9.2 หมื่นล้านบาท (ดังแสดงในกราฟ) ในขณะที่งบลงทุนของโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เฉพาะในส่วนที่ผลิตให้ประเทศไทยประมาณ 101,572 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์)
ประเด็นการเลือกผลิตจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดก่อน (Merit Order)
จากข้อมูลที่ผมได้ตรวจสอบโรงไฟฟ้า 3 โรงในปี 2558 คือ โรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ ซึ่งเป็นของ กฟผ.กับโรงไฟฟ้าซึ่งใช้ถ่านหินนำเข้าคือ ของบริษัท บีแอลซีพี จำกัด และบริษัท GHECO-ONE (รายละเอียดในแผ่นภาพ)
พบว่า การสั่งการให้ผลิตได้ยึดหลักให้โรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำผลิตได้ก่อนเป็นความจริงสำหรับโรงไฟฟ้าของเอกชนด้วยกันเท่านั้น คือ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งมีราคาถูกกว่าได้รับสิทธิในการผลิตคิดเป็นร้อยละ 90.3 ของเวลาทั้งปี ในขณะที่โรงไฟฟ้าของบริษัท GHECO-ONE ซึ่งค่าไฟฟ้าแพงกว่า ได้รับสิทธิร้อยละ 85.6 ของเวลาทั้งปี
แต่สำหรับโรงไฟฟ้าลิกไนต์ของ กฟผ.เอง ซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ได้รับสิทธิผลิตเพียงร้อยละ 72.5 เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเรามีโรงไฟฟ้าในระบบรวมมากเกินไปนั่นเอง (หมายเหตุ โรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 4-13 มีอายุ 21-31 ปี ร้อยละของเวลาที่ได้ผลิตมีค่าต่ำไม่น่าจะขึ้นกับอายุของโรงไฟฟ้า เพราะผมพบว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติของ กฟผ.ซึ่งมีอายุน้อย ก็ผลิตประมาณ 68% ของเวลาเท่านั้น)
ผมจึงสรุปว่า หลัก Merit Order จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีภายในของ กฟผ.อย่างเดียว หรือระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกันเท่านั้น ถ้ามี กฟผ.ไปโยงกับบริษัทเอกชนเมื่อใด บริษัทเอกชนต้องมาก่อนเสมอ เพราะสัญญาแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” มันค้ำคออยู่
ถ้าเปรียบกับการใช้รถก็เป็นเพราะว่าเรามีรถทั้งของตนเอง และที่เช่ามารวมกันมากเกินไป และจำเป็นต้องไปเลือกใช้รถเช่าที่ถูกบังคับว่าไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ทำให้รถของตนเองที่ลงทุนไปแล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร
เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในข้อตกลงปารีสนั้น ต้องขอเลื่อนไปก่อนนะครับ
ผมขอเรียนต่อฝ่ายการสื่อสารองค์การของ กฟผ.ว่า ผมไม่ได้มีอคติส่วนตัวใดๆ กับทาง กฟผ. ผมแสดงความคิดเห็นของผมในฐานะผู้บริโภคอย่างอิสระในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ นอกจากเงินบำนาญจากเงินภาษีของประชาชนที่ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอยู่เท่านั้นเอง
ความจริงแล้วในวันนี้ ผมตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน 2,300 คน (ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับรางวัลโนเบล 22 คน) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะถอนสัตยาบันของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อการลดปัญหาโลกร้อน นี่คือการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อประเทศของตนเอง และชาวโลกของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ครับ
ผมอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ใช่แค่สอนกันว่าให้ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเท่านั้น ผมว่ามันน้อยไปหน่อย สำหรับประเทศที่กำลังเผชิญต่อปัญหาหลายด้าน โปรดเข้าใจในเจตนาของผมนะครับ