xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาใหญ่ในระบบไฟฟ้าไทยที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์อาจจะยังไม่ทราบ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (22 พ.ย. 59) ต่อกรณีข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ ความตอนหนึ่งว่า

“ขณะนี้ได้มีการชะลอเรื่องไว้อยู่แล้ว อย่าต้องให้ใช้คำว่าระงับ ชะลอก็คือชะลอ ก็ขอให้เป็นข้อสรุปมาว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร เพราะถ้าบอกอะไรมาแล้วให้ทำตามทุกอันมันคงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบกับความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ด้วย วันนี้ใช้คำว่าชะลอไปก่อน ก็ยังไม่ได้สร้างอะไรทั้งสิ้น สร้างยังไม่ได้ก็ไม่ได้ แต่ก็ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยก็แล้วกัน ไม่ได้ไปข่มขู่ใคร เพียงแต่ว่าวันนี้ไฟฟ้าก็ยังติดๆ ดับๆ อยู่ในภาคใต้หลายแห่งเหมือนกัน”

ผมขอเรียนข้อมูลพร้อมแหล่งอ้างอิงให้ท่านทราบรวม 5 ข้อ เพราะว่าการที่อ้างเสียงส่วนใหญ่โดยมีการปกปิดข้อมูลถือเป็นสิ่งอันตรายต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง ดังนี้

หนึ่ง โรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศลาวได้สิทธิผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากกว่าโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเยอะเลย

ในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย นับถึงเดือนตุลาคม 2559 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกัน 41,096 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในประเทศลาวจำนวน 3,578 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 7.8 ของกำลังการผลิตทั้งระบบ สำหรับที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว เป็นโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ 1,473 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 80 ถือหุ้นโดยบริษัทลูกของ กฟผ.และบริษัท บ้านปู จำกัด ที่เหลืออีก 20% ถือโดยประเทศลาว โดยได้เปิดดำเนินการครบทั้งหมดเมื่อเดือนมีนาคม 2559) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,105 เมกะวัตต์

เพื่อให้เราสามารถรับรู้ได้โดยง่ายว่า ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย “มีปัญหา” ผมขอนำเสนอกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้ผลิตจริงเมื่อเวลา 6.45 น.ของวันที่ 26 พ.ย. 59 คือ

จำนวนกำลังการผลิตที่เดินเครื่องทั้งหมดมี 19,548.7 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย 16,933.7 เมกะวัตต์ หรือได้ผลิตจริงเพียงร้อยละ 45 ของกำลังการผลิตติดตั้งในประเทศ ในขณะที่โรงไฟฟ้าของเอกชนในประเทศลาวได้ผลิตจริง 2,583.7 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นถึง 72% ของกำลังการผลิตติดตั้ง ดังหลักฐานแสดงในแผ่นภาพข้างล่างนี้

ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติสัดส่วนทั้งสองนี้ควรจะใกล้เคียงกัน เพราะการที่โรงไฟฟ้าใดได้สิทธิการผลิตในสัดส่วนคิดเป็นร้อยละที่มากกว่าก็ย่อมหมายถึงรายได้ที่มากกว่าด้วย

ผมเข้าใจว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า สัญญารับซื้อไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับโรงไฟฟ้าว่าจะต้องเสียค่า “ความพร้อมจ่าย (Capacity Payment)” ซึ่งหมายถึงค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ เพื่อให้สามารถพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ตามสัญญา และจะต้องรับซื้อในจำนวนต้องไม่น้อยกว่าขั้นต่ำด้วย ดังนั้น หากเรามีความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้าน้อย ก็ต้องจ่ายเงินให้เขาให้ครบตามสัญญาที่ได้ระบุไว้ก่อนแล้ว

เท่าที่ผมทราบ หลักการในการกำหนดค่าความพร้อมจ่ายก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนาที่รัฐบาลไม่มีความมั่นคง

สำหรับในประเทศไทย ค่าความพร้อมจ่ายในช่วงเพียงแค่ 4 เดือน คือ พ.ค.ถึง ส.ค.ปี 2557, 2558 และ 2559 เท่ากับ 23,913 , 26,491 และ 31,557 ล้านบาท ตามลำดับซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมจึงได้เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ค่าไฟฟ้าทั้งปี 2558 ประมาณ 6.6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ กฟผ. พบว่า ขณะที่ในปี 2558 กฟผ.มีกำลังการผลิตติดตั้ง 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 38% ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 2% คิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

สอง อัตราค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าลิกไนต์ในลาวแพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าในประเทศไทย

ราคาไฟฟ้าที่ทาง กฟผ.รับซื้อจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ซึ่งใช้ลิกไนต์ในประเทศลาวเอง (อยู่ใกล้และคุณภาพต่ำกว่าถ่านหิน) ในราคาแพงกว่าที่รับซื้อจากบริษัทบีแอลซีพี (ซึ่งเป็นบริษัทเอ็กโก 50% และบริษัทบ้านปู 50%) ซึ่งใช้ถ่านหินนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย โดยในเดือน พ.ค. ถึง ส.ค. 59 มีราคาเฉลี่ยแพงกว่าถึงหน่วยละ 0.63 บาท

ข้อมูลราคาไฟฟ้าดังกล่าวนี้ได้สวนทางกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปอย่างแน่นอน (ดังรายละเอียดในแผ่นภาพข้างล่าง)

สาม ด้านหนึ่งกีดกันพลังงานหมุนเวียน อีกด้านหนึ่งสนับสนุนถ่านหินได้เกินแผนพีดีพี

ในแผนพีดีพี 2015 ได้กำหนดว่าในปี 2557 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนร้อยละ 8 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด แต่เมื่อได้เลยแผนมาถึง 1 ปีแล้ว คือปี 2558 ได้มีการผลิตจริงได้เพียง 4.3% เท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม การใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2569 ต้องมีส่วนร่วมร้อยละ 20 ถึง 25 แต่ปรากฏว่าพอถึงเดือนสิงหาคมปี 2559 หรือยังเหลือเวลาอีก 10 ปีสัดส่วนดังกล่าวได้ทะลุไปถึง 21.3% ดังรายละเอียดใน 2 แผ่นภาพถัดไป (ต้องขออภัยที่ต้องแสดงหลักฐานและที่มาของข้อมูลมากหน่อย มิฉะนั้นจะถูกกล่าวหากันลอยๆ)


เมื่อพูดถึงกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในปี 2559 เรามีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 29,618 เมกะวัตต์ (เกิดขึ้นตอน 22.28 น.ของวันที่ 11 มิ.ย. ซึ่งมีอุณหภูมิของอากาศสูง เนื่องจากปัจจัย เอลนีโญ) โดยมีกำลังการผลิตทั้งระบบ 41,096 เมกะวัตต์ ดังนั้นกำลังผลิตสำรองของทั้งประเทศจึงเท่ากับ 39% (ถ้ามีเอลนีโญ สำรองจะต้องสูงกว่านี้อีก) และย้อนไปในปี 2558 กำลังการผลิตสำรองเท่ากับ 36% ในขณะที่ในทางสากลถือกันว่าควรจะมีสำรอง 15% เท่านั้น

ในส่วนของภาคใต้ ซึ่งท่านนายกฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าไฟฟ้าดับๆ ติดๆ นั้น ก็มีกำลังผลิตสำรองสูงเกินค่าระดับสากลไปเยอะเช่นเดียวกัน

สี่ ปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ยังติดๆ ดับๆ การให้ความจริงไม่ครบ

เรื่องนี้เป็นความจริงตามที่ท่านนายกฯ กล่าว แต่การไม่ได้บอกสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นการให้ความจริงไม่ครบ ทำให้สังคมหลงเชื่อได้ว่า ไฟฟ้าดับเพราะกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องการมีโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งในเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงเลย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อที่สาม

แต่สาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าดับมากที่สุดมี 3 สาเหตุ เรียงตามลำดับคือ (1) เกิดจากต้นไม้ตามแนวสายส่งล้มทับ ไม่ว่าจะเกิดจากลมพัด หรือแนวต้นยางพาราซึ่งพบไม่มากในภาคอื่น (2) เกิดจากสัตว์ เช่น งูขึ้นเสาไฟฟ้าทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และ (3) เกิดจากความชื้นของอากาศรวมทั้งไอน้ำเค็มจากทะเล (ซึ่งภาคอื่นไม่มี) เกาะติดอุปกรณ์ ปัจจุบันทางการไฟฟ้าเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่ควรพิจารณาเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่เป็นการเฉพาะ เป็นต้น

ห้า ผลการศึกษาของคณะกรรมการไตรภาคีจังหวัดกระบี่ มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนเกินกว่าความต้องการหลายเท่าตัว

ตามที่ท่านนายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพลังงานหมุนเวียนได้ข้อสรุปว่า จังหวัดกระบี่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 1,700 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าของจังหวัดมีประมาณ 150 เมกะวัตต์เท่านั้น

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น กล่าวคือหลังจากท่านนายกฯ ได้มีบัญชาเพิ่มเติมว่า ให้ศึกษาถึงต้นทุนและความยั่งยืนของทรัพยากร ทั้งๆ ที่ได้มีการกำหนดเป็นวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว แต่ประธานกรรมการชุดใหญ่ ก็ได้สั่งยุติการประชุม โดยอ้างว่าไม่มีเวลาแล้ว พร้อมกับแจกกระดาษเปล่าให้กรรมการกรอกข้อความว่า “เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหรือไม่” แล้วประธานฯ ก็จะนำไปสรุปเพื่อเสนอท่านนายกฯ ต่อไป

นี่หรือกระบวนทำงานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่สำคัญของชาติในยุคศตวรรษที่ 21 นี่หรือคือการคืนความสุขให้ประชาชน นอกจากนี้ ในกรรมการไตรภาคีดังกล่าวยังมีเรื่องที่แปลกมากๆ อีก 2 เรื่อง คือ

(1) จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงาน โรงสกัดปาล์มน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่ง พบว่าของเหลือจากทะลายปาล์มสามารถผลิตไฟฟ้าได้ โดยที่การลงทุนสามารถคุ้มได้ภายใน 5-7 ปี สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 300 วันติดต่อกัน ผลกำไรจากการขายไฟฟ้าสามารถนำไปซื้อผลผลิตปาล์มของเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติ

ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกาจากรายงานการวิจัยเรื่อง “Clean Energy Options for Sabah an analysis of resource availability and cost” โดย Daniel M. Kammen, Distinguished Professor of Energy at the University of California, Berkeley ซึ่งศึกษาในพื้นที่ของรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย พบว่า

“ทุกๆ 1 ตันของผลผลิตทะลายปาล์ม (Fresh Fruit Bunch) ของเหลือที่เป็นของแข็งสามารถผลิตไฟฟ้า (ที่ประสิทธิภาพหม้อน้ำ 30%) ได้ 192 หน่วย และของเสียที่อยู่ในรูปไบโอแก๊สสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 26 หน่วย รวม 218 หน่วย โดยสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสายส่งเพื่อขายได้รวม 160 หน่วย (kwh) ต่อตันผลผลิตปาล์ม ที่เหลือเป็นการใช้ภายในโรงงาน

ในปี 2558 จังหวัดกระบี่ มีผลผลิตปาล์มจำนวน 3.5 ล้านตัน ดังนั้น ของเหลือจากทะลายปาล์มน้ำมันอย่างเดียวก็สามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ถึง 560 ล้านหน่วย คิดเป็น 72% ของความต้องการไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ มันเกือบจะพออยู่แล้ว

นี่ยังไม่ได้นับทางปาล์ม (ที่มีน้ำหนักทั้งปีรวมกันมากกว่าผลผลิตทะลายปาล์ม) และต้นปาล์มที่หมดอายุซึ่งต้องถูกทำให้ตายด้วยสารเคมี ซึ่งนักธุรกิจจากญี่ปุ่นที่มาเห็นรู้สึกตกใจมาก เพราะสารเคมีตกค้างดังกล่าวจะถูกดูดกลับมาสู่ผลปาล์มรุ่นใหม่เป็นลูกโซ่และจะเป็นปัญหาสำคัญต่อไป

แต่ประธานกรรมการ 3 ฝ่ายก็ไม่ได้สนใจเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสรุปเรียนต่อท่านนายกฯ ประยุทธ์

(2) แม้ผลงานวิจัยที่กระทรวงพลังงานมีส่วนร่วมในการวิจัยร่วมกับสถาบันที่มีชื่อเสียงของยุโรป และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) นั้น ได้ระบุว่า

“จังหวัดน่านมีศักยภาพพลังงานทดแทนเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งจังหวัดได้ภายในปี 2579 ซึ่งจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ 100% จากการผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน” แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานก็ไม่ได้นำผลงานวิจัยนี้มาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนถึงความไม่จริงใจของหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่ท่านนายกฯ ได้ไปลงนามในสัตยาบันที่กรุงปารีส จะมีปัญหาแน่นอนหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเตือนว่า “เราต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกให้มากขึ้น” ครับท่าน

กำลังโหลดความคิดเห็น