xs
xsm
sm
md
lg

อีไอซี แนะจับตาทิศทางธุรกิจน้ำมันในปีหน้า คาดจะมีแนวโน้มจะสดใสขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่แล้ว ราคาน้ำมันปีหน้าอาจจะอยู่ที่ประมาณ 52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ด้านรัสเซีย พร้อมลดกำลังผลิต 2-3 แสนบาร์เรล/วัน หากการประชุมโอเปก สิ้นเดือนนี้มีข้อตกลงลดกำลังผลิตลงได้

อีไอซี รายงานว่า ธุรกิจน้ำมันมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากนโยบายของทรัมป์ สนับสนุนการลงทุน และการจ้างงานในธุรกิจน้ำมันมุ่งสู่เป้าหมายให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน นโยบายสำคัญที่จะช่วยผลักดันการลงทุนในธุรกิจน้ำมัน ได้แก่ 1.การเพิ่มพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันในที่ดินของรัฐบาลกลาง (federal land) ทั้งบนบก ในทะเล บริเวณอ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งสหรัฐฯ มีทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ขุดเจาะออกมาสูงที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.การขอใบอนุญาตขุดเจาะน้ำมันในที่ดินของรัฐบาลกลางจะรวดเร็วขึ้น จากเดิมใช้ระยะเวลาสูงถึง 300 วัน ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่หันไปเช่าที่ดินเอกชนหรือที่ดินของรัฐแทน ซึ่งใช้เวลาขอใบอนุญาตสั้นกว่ามาก เช่น ใน Texas ใช้เวลาเพียง 2-4 วันทำการเท่านั้น และ 3.การปฏิรูปภาษีในธุรกิจน้ำมัน เช่น การนำ Intangible Drilling Cost (IDC) มาลดหย่อนภาษีได้ นโยบายดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจสำรวจ และผลิตน้ำมันขยายการลงทุน มีต้นทุนที่ถูกลง และสร้างงานในธุรกิจน้ำมันได้ประมาณ 500,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะเปลี่ยนจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิภายในปี 2023 เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ปี 2028

การสำรวจขุดเจาะ tight oil และ shale gas ในสหรัฐฯ มีโอกาสเติบโต เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดีขึ้น ส่งผลให้อุปทานน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นด้วย สหรัฐฯ มี tight oil และ shale gas จำนวนมหาศาล ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้เปลือกโลกประมาณ 1.5-3 กิโลเมตร ทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะที่ทันสมัย และมีต้นทุนสูงเรียกว่า “Hydraulic Fracturing” หรือ “Fracking” ซึ่งได้รับการต่อต้าน เพราะทำให้เกิดการเจือปนของสารพิษในน้ำใต้ดิน ส่งผลต่อคุณภาพ และความสะอาดของน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม ทรัมป์จะดำเนินมาตรการสนับสนุนการขุดเจาะแบบ Fracking ซึ่งอีไอซี มองว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำในปัจจุบัน กิจกรรมการขุดเจาะ tight oil และ shale gas จะยังทรงตัว แต่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งเมื่อราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุนเฉลี่ยของผู้ผลิต

การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น ท่อส่งน้ำมันส่งผลดีด้านวัตถุดิบต่อธุรกิจโรงกลั่นในสหรัฐฯ ทรัมป์ ประกาศว่า จะเร่งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ เพื่อผลักดันการลงทุนภาคเอกชน และการจ้างงาน เช่น การก่อสร้างโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ยาว 1,900 กิโลเมตร จากรัฐ Alberta ในแคนาดา มายังรัฐ Nebraska ในสหรัฐฯ ซึ่งโอบามา ยับยั้งโครงการนี้ไปในปี 2015 จากความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะการผลิต และกลั่น oil sand ที่ได้จากแคนาดา จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะกลับมาดำเนินการอีกครั้งภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ซึ่งจะลำเลียงน้ำมันจากแคนาดา มาเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำมันที่มีอยู่ ส่งลงมายังโรงกลั่นที่กระจุกตัวบริเวณแถบ Mid-West และอ่าวเม็กซิโก ทำให้โรงกลั่นลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศในตะวันออกกลางที่มีอุปทานน้ำมันค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ Keystone XL จะทำให้ GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานได้ 9,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ หากทรัมป์ ตัดสินใจกลับมาคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง จะทำให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น ภายหลังจากที่อิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม OPEC ได้รับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่ม P5+1 (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย) ในปี 2015 อิหร่านได้เร่งผลิตน้ำมันให้ได้ปริมาณเท่ากับช่วงก่อนโดนคว่ำบาตรที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงว่า ทรัมป์จะนำเรื่องอิหร่านกลับมาพิจารณาหรือไม่นี้ คาดว่า อิหร่านจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันออกมาอีก และไม่ยอมเข้าร่วมกับกลุ่ม OPEC ในการกำหนดเพดานการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หากในที่สุดทรัมป์ ตัดสินใจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่สามารถกระทำได้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นระยะสั้นจากปัจจัยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการตึงตัวของอุปทานประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพราะอิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ในบางตลาด

ขณะเดียวกัน ธุรกิจพลังงานทดแทนมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากทรัมป์ อาจยกเลิกนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตในสหรัฐฯ และผู้ส่งออกอุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทน ทรัมป์โจมตีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังลมว่ามีต้นทุนแพง ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า ทรัมป์จะยกเลิกนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น แผนพลังงานสะอาด (Clear Power Plan) ที่จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ผ่านสภาคองเกรสไปแล้ว เช่น การให้ production tax credit (PTC) จำนวน 23 ดอลลาร์สหรัฐ/เมกะวัตต์ชั่วโมง แก่ผู้ผลิตพลังงานลม และ investment tax credit (ITC) ร้อยละ 30 ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ น่าจะยังดำเนินได้ต่อไป เพราะได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรครีพับลิกัน และเดโมแครต ซึ่งเดิมมาตรการดังกล่าวทำให้การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น การให้ ITC ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2006 ทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์ในสหรัฐฯ เติบโตถึงร้อยละ 76 ต่อปี การลดการสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ให้มีต้นทุนสูงขึ้น หลังจากที่นโยบาย PTC และ ITC หมดอายุลงตามแผนในปี 2019 และ 2023 ตามลำดับ รวมถึงผู้ผลิตในเอเชียโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักของแผงโซลาร์ และอินเวอร์เตอร์ ที่ใช้ในระบบการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากทรัมป์ อาจเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวให้สูงถึงร้อยละ 30-45 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-11 คาดว่าในอีก 4-8 ปีข้างหน้า อัตราการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเหลือประมาณปีละร้อยละ 2 โดยเฉลี่ย จากเดิมขยายตัวประมาณร้อยละ 24

อีไอซี มองว่า ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันที่จะสูงขึ้นอีกมากในสหรัฐฯ ระยะกลาง ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน และเศรษฐกิจโลก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันระยะสั้นยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการลงทุนขุดเจาะน้ำมันที่ได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายของทรัมป์ จะยิ่งทำให้อุปทานน้ำมันล้นตลาดมากขึ้นอีก เว้นแต่ว่าจะมีเรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน ที่จะทำให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นได้ ระยะกลาง คาดว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับระดับสูงขึ้น จากปัจจัยด้านอุปสงค์น้ำมันที่เร่งขึ้นมาทันกับอุปทาน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดภาษี นโยบายสนับสุนนภาคธุรกิจ การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สนามบิน รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของทรัมป์ จะผลักดันให้มีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินราคาน้ำมันปี 2017 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ด้าน บมจ.ไทยออยล์ รายงานว่า ตลาดน้ำมันขณะนี้จับตาดูการประชุมกลุ่มโอเปก วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ว่า จะมีข้อตกลงลดกำลังผลิตมาอยู่ที่ระดับ 32.5-33.0 ล้านบาร์เรล/วัน ได้หรือไม่ ล่าสุด นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียมีท่าทีที่จะปรับแผนกำลังการผลิตน้ำมันดิบปี 2560 ลง 200,000-300,000 บาร์เรลต่อวัน หากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก มีผลบังคับใช้ ขณะที่ นายนาติก อาลิเยฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอาเซอร์ไบจาน ระบุว่า กลุ่มโอเปก มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้กลุ่มประเทศนอกกลุ่มโอเปก ช่วยปรับลดกำลังการผลิต 880,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ออกมาโต้แย้งว่า ปริมาณการผลิตที่จะปรับลดลงอยู่ที่ 500,000 บาร์เรล/วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น