xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ฟ้องศาล ปค.กลาง ล้มแผนพัฒนาไฟฟ้า ระงับประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (แฟ้มภาพ)
สมาคมต่อต้านโลกร้อน พร้อมชาวบ้าน ฟ้องศาลปกครองกลาง ล้มแผนพัฒนาไฟฟ้า PDP 2015 - เพิกถอน ระงับการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผน อ้างเนื้อหาไม่ชอบ ใช้ดุลพินิจขัด กม. แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ

วันนี้ (17 พ.ย.) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ จ.ลำปาง, กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวม 21 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างและดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง และต้องการจะรับภาระจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าราคาที่แพงขึ้น จากแผนพัฒนาไฟฟ้า (PDP 2015) ร่วมกันยื่นฟ้อง รมว.พลังงาน, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.), สำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 5 ต่อศาลปกครองกลาง เรื่อง การดำเนินการตามแผนพัฒนาไฟฟ้า (PDP 2015) ที่เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มากเกินไปหลายเท่าตัว เป็นเหตุให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าผลักภาระมาให้ผู้บริโภคต้องร่วมกันจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนผ่านค่าเอฟที (ค่า Ft = การเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน ที่มีค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า + ค่าซื้อไฟฟ้า + ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ) ที่แพงเกินกว่าความจำเป็น โดยผลมาจากการดำเนินการตามแผน หรือนโยบายที่ผิดพลาดของผู้ถูกฟ้อง ทำให้ผู้ฟ้องทุกคน ทุกครัวเรือน ทุกสถานประกอบการ ห้าง ร้าน สำนักงาน ฯลฯ ต้องมารับภาระค่าใช้จ่ายทางไฟฟ้ามากขึ้น จากการผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกินกว่ามาตรฐานของการสำรองพลังงานไฟฟ้าที่ควรจะเป็น นอกจากนั้น การใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายไปในวงกว้าง มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าอย่างมากมาย

ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง และ จ.กระบี่ ในอดีต อีกทั้งการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า จะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินและกระบวนการผลิต ขนส่ง ลำเลียง เป็นต้นเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศ ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการถูกตำหนิจากนานาอารยประเทศ เพราะเป็นการดำเนินงานที่ขัดต่อข้อสัญญา หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยการลดอุณหภูมิโลก ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 58 ที่ประเทศไทยได้ลงนามผูกพันแล้วด้วย

โดยการจัดทำแผนกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ควรที่จะต้องปรับลดกำลังปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติให้น้อยลงกว่าเดิม และหันมาเน้นเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่แผน PDP 2015 กลับกำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ขัดกับแผนยุทธศาสตร์ คือ แม้จะมีการเพิ่มปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจากที่ระบุไว้ในแผน PDP 2010 Rev.3 จากเดิม 8% เป็น 20% แต่กลับไม่มีการปรับลด หรือยกเลิกกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในส่วนของโรงไฟฟ้าในอนาคตที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น และยังกลับเร่งกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าดังกล่าวให้เร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นการขัดต่อทั้งหลักยุทธศาสตร์และยังเป็นการทำให้ประเทศชาติมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความจำเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ตามแผน PDP 2015 มีการกำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนจากเดิม 8% เป็น 20% ของปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้ารวมของประเทศในปี 2579 คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 19,634.4 เมกะวัตต์ ทั้งที่กำลังการผลิตเดิมและสัญญาซื้อไฟฟ้าเดิมยังคงอยู่ รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังการผลิตสูงเกินกว่าความจำเป็นในการต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และยังทำให้ประเทศมีปริมาณไฟฟ้าส่วนที่เกินกว่าความต้องการใช้ (ปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรอง) สูงถึงกว่า 30%

ดังนั้น การดำเนินการตามแผน PDP 2015 จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนที่วางหลักไว้ว่า การจัดทำแผน PDP ต้องคำนึงถึงการให้มีและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในภาคเศรษฐกิจต่างๆ อีกทั้งควรจะมีการชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า (ที่ยังไม่มีภาระผูกพันกับภาครัฐ) ตามกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติของกระทรวงพลังงาน

การที่ กพช. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบแผน และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ แทนที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 2 จะสั่งให้มีการจัดทำแผนเพื่อชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ และชะลอแผนการรับซื้อไฟฟ้าใดๆ ในช่วงปี 2559 - 2569 ของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5 เพื่อนำงบประมาณแผ่นดินไปเร่งการพัฒนาภาคการผลิต การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้มีตัวเลข GDP ที่ดีขึ้นก่อนแล้วจึงมาดำเนินการเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าและซื้อไฟฟ้าใดๆ ของผู้ถูกฟ้องที่ 5 เมื่อมีความต้องการใช้ที่เหมาะสมตรงกับความต้องการที่แท้จริงซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าสามารถกระทำให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ประกอบกับการดำเนินการดังกล่าวยังขัดต่อประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านความยั่งยืนและประสิทธิภาพของการผลิตและใช้พลังงาน การที่ สนพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3, รมว.พลังงาน ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5 จัดทำแผน PDP 2015 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ

ซึ่งผู้ฟ้องได้ระบุว่า พยายามทักท้วง และบอกกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องได้ทบทวน หรือระงับ หรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยุติ ระงับ หรือทบทวนแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ฟ้องจึงขอ 1. ให้ศาลมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาเพิกถอนกระบวนการจัดทำแผน PDP 2015 ที่เกิดจากกระบวนการจัดทำและใช้ดุลพินิจและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง และหรือเพิกถอนแผน PDP 2015

2. ให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องที่ 2 ที่รับทราบและเห็นชอบแผนซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3. ให้ศาลสั่งเพิกถอนมติ ครม.ที่มีมติเพียงรับทราบมติของผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยไม่ได้ลงมติอนุมัติ หรือเห็นชอบ ซึ่งเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. ให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด ภาคประชาชนทั้งประเทศ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ หรือหน่วยงานใดๆ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำแผน PDP 2015 ใหม่ ให้มีความเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

และ 5. ให้ศาลสั่งเพิกถอน หรือระงับการประมูลหรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรือการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีการเร่งการเปิดใช้โรงไฟฟ้าให้เร็วขึ้นกว่าที่ระบุไว้ในแผน PDP 2010 Rev.3 รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ คือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่เคยถูกระบุไว้ใน PDP 2010 Rev.3 ทุกโรง ซึ่งรวมถึงการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ ทั้งประเทศ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย

ทั้งนี้ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองกลาง รับคดีไว้ในสารบบความหมายเลขดำ ส.90/2559 ไว้เพื่อมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีเพื่อไต่สวนและมีคำพิพากษาหรือไม่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่วันเดียวกันนี้ ศาลปกครองกลาง ก็มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพ หมายเลขดำที่ ส.63/2559 ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ซึ่งคดีดังกล่าว นายสมพงษ์ สังข์สุวรรณ์ กับพวกที่เป็นชาวบ้าน รวม 247 คน ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สนพ.), อุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สาลี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 กรณีมีการเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพใน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เมื่อเดือน ต.ค. 58 โดยศาลปกครอง พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 2 - 3 ยังไม่มีการกระทำหรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ที่ทำให้ผู้ฟ้องทั้ง 247 คน ได้รับความเดือดร้อน หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายตามนัย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ม. 42 วรรคหนึ่ง ผู้ฟ้องทั้ง 247 คน จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น