xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ เตรียมลงนามตั้งคณะทำงานจัดการเกาะพยาม เสนอ อบต.กลับเกาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - ผู้ว่าฯ เตรียมลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบรีสอร์ตนับ 100 แห่ง สร้างในเขต ส.ป.ก.ป่าสงวน บนเกาะพยาม มัลดีฟส์เมืองไทย สัปดาห์นี้ แฉที่ทำการ อบต.สร้างกว่า 4 ล้าน ปล่อยทิ้งร้าง นายกฯ ย้ายขึ้นมาทำงานอยู่บนฝั่ง เสนอพ่อเมืองสั่งให้กลับเข้าเกาะตามเดิม มิฉะนั้นจะโดนยุบตามกฎหมาย

จากกรณี พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง สั่งการให้ชุด ฉก.บก.ควบคุม มทบ.44 ลงพื้นที่เกาะพยาม หรือที่เรียกกันว่า “มัลดีฟส์เมืองไทย” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ตรวจสอบพบกลุ่มนายทุนคนไทย และต่างชาติสร้างรีสอร์ตกว่า 100 แห่ง อยู่ในเขตที่ดิน ส.ป.ก. และป่าสงวน และมีผู้มีอิทธิพลนำที่ดินรัฐไปจัดสรรออกโฉนดชุมชนขายผู้อื่น ขณะที่ ผบ.มทบ.44 ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องแต่งตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบสางปัญหาดังกล่าวแล้ว ตามข่าวที่นำเสนอแล้วนั้น

วันที่ (21 พ.ย.) ความคืบหน้าหลังจาก พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม มทบ.44 ลงพื้นที่เกาะพยาม เพื่อพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้นำข้อมูลหลักฐานทั้งหมดรายงานต่อ พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44 และ อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบสางปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้น ยังพบปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคือ สำนักงาน อบต.เกาะพยาม ที่สร้างกว่า 4 ล้านบาท ถูกปล่อยทิ้งร้าง เนื่องจากผู้บริหารไปเช่าที่ทำการอยู่ในเขตแผ่นดินใหญ่ในตัวเมืองระนอง ปล่อยชาวบ้านต้องเผชิญชะตากรรมนั่งเรือโดยสารเสียค่าโดยสารสูงขึ้นฝั่งติดต่อราชการ ขณะที่บนเกาะมีเพียงตำรวจชั้นประทวนอยู่ประจำป้อมแค่ 4 นายเท่านั้น ไม่มีหน่วยงานทางปกครอง หรือหน่วยงานรัฐอื่นอยู่บนเกาะเลย ทำให้อำนาจรัฐ และการบริการเข้าไม่ถึงประชาชน จนถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลครอบงำพื้นที่ได้ง่าย

พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหารีสอร์ต บังกะโลนับ 100 แห่ง สร้างในเขต ส.ป.ก.ป่าสงวน และป่าชายเลนนั้น ในส่วนของ มทบ.44 ได้ส่งรายชื่อไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง จะลงนามได้ จากนั้นก็จะต้องลงพื้นที่อีกครั้ง

ด้าน นายสานิตย์ หาญรบ ท้องถิ่นจังหวัดระนอง กล่าวว่า กรณีที่ทำการ อบต.เกาะพยาม ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในที่ตั้งบนเกาะถูกปล่อยทิ้งร้างนั้น ซึ่งในหลักกฎหมายแล้ว อบต.เกาะพยาม มีประชากรไม่ถึง 2 พันคน จะต้องถูกยุบ หรือยุบรวมกับ อบต.อื่น แต่ อบต.เกาะพยาม มีสถานะก่อตั้งอยู่ได้ด้วยข้อยกเว้นพิเศษ คือ เป็นพื้นที่ป่าเขาอยู่ห่างไกล จึงต้องคงสภาพไว้เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ แต่ในข้อเท็จจริงเมื่อตนมารับตำแหน่งที่ จ.ระนอง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า อบต.เกาะพยาม กลับมีที่ทำการอยู่บนฝั่งในเขตเทศบาลเมืองระนอง ขณะนี้ตนได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง แจ้งถึงอำเภอเมืองระนอง ที่กำกับดูแล อบต.พยาม ให้มีคำสั่งแจ้งไปยังนายก อบต.ให้ย้ายที่การ อบต.กลับไปปฏิบัติหน้าที่ยังที่ทำการเดิมบนเกาะพยาม และจะไม่อนุญาตให้มาทำงานอยู่บนฝั่งอีกต่อไปแล้ว

ขณะที่ นางอำภา แก้วยาว นายก อบต.เกาะพยาม กล่าวว่า หลังสร้างที่ทำการ อบต.เสร็จอยู่ทำงานได้ราว 2 ปี ได้มีชาวบ้านบนเกาะช้างส่วนหนึ่ง กับสมาชิก อบต.และเจ้าหน้าที่บอกว่าการเดินทางไปทำงานลำบากโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หน้ามรสุม สภา อบต.จึงได้มีมติเห็นชอบให้ย้ายที่การขึ้นไปอยู่บนฝั่งในตัวเมืองระนอง ซึ่งตนก็พร้อมจะย้ายกลับไปทำงานบริการประชาชนที่ อบต.เกาะพยาม เหมือนเดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องเอกสาร และการขนย้าย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น