xs
xsm
sm
md
lg

เกาะพยาม “มัลดีฟส์ไทยแลนด์” แดนสวรรค์ในเงามืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - เกาะพยาม “มัลดีฟส์ไทยแลนด์” แดนสวรรค์ในเงามืด เมื่อทุนในทุนนอกเข้าครอบครองพื้นที่รุกสร้างรีสอร์ต ที่พักกว่า 100 แห่ง เดือดร้อนชาวบ้านทนไม่ได้แจ้งทหารสอบ พบผิดกฎหมายทั้งหมด

ถ้าพูดถึงเกาะพยาม จ.ระนอง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จักดี ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย หรือต่างชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ และน่าหลงใหล ในแต่ละวันมีคนเข้าไปเยี่ยมเยือนจำนวนมาก เมื่อมีคนเดินทางเข้าไปมาก สิ่งที่ตามมาคือ การสร้างรีสอร์ต ที่พัก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันมีมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งการสร้างรีสอร์ต หรือที่พักต่างๆ บนเกาะก็ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่คนบนเกาะเอง รวมทั้งคนทั่วไปว่าที่พักเหล่านั้นสร้างบนที่ดินที่ถูกต้องหรือไม่

จนกระทั่ง พ.ท.ดุสิต เกษรแก้ว นายทหารยุทธโยธา หัวหน้าชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ บก.ควบคุม มทบ.44 ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44/ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง ให้ลงพื้นที่เกาะพยาม หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง มาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.59 เป็นต้นมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล และกลุ่มนายทุนสร้างรีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศ ในเขตที่ดิน ส.ป.ก.และป่าสงวนแห่งชาติ

จากข้อมูลเกาะพยาม อยู่ในท้องทะเลอันดามัน เขตน่านน้ำติดต่อกับประเทศพม่า นั่งเรือโดยสารจากท่าต้นสน ตำบลหงาว และท่าเรือปากน้ำระนอง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-40 นาที ปัจจุบันบนเกาะพยาม เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ครอบคลุมทั้งเกาะรวม 10,875 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 และต่อมา กรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดิน จำนวน 5,381 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2536 สภาพปัจจุบันเกาะพยามมีพื้นที่อยู่ 3 ประเภท คือ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตสำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. และเขตป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงขึ้นลงตามสภาพ

หลังการลงตรวจสอบเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงของชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ บก.ควบคุม มทบ.44 ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง พบว่า ปัจจุบันมีนายทุนเข้าไปสร้างรีสอร์ต บังกะโล อยู่ในเขตป่าสงวน จำนวน 29 ราย 36 แปลง มีครอบครองถูกต้องเพียง 9 แปลง อีก 27 แปลงผิดเงื่อนไข นอกจากนั้น ที่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจพบว่า มีรีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศที่สร้างอยู่ในเขตพื้นที่ของสำนักปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. และสร้างในพื้นที่ออกเป็นหนังสือหลักฐาน ส.ป.ก.4-01 ให้แก่เกษตรกรเข้าไปทำประโยชน์แล้วอีกจำนวนมาก ซึ่งถือว่าผิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสิ้น

ดังนั้น บนเกาะพยามแห่งนี้ ทั้งรีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศ รวมกว่า 100 แห่ง ของกลุ่มทุนนอกพื้นที่ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ที่ซื้อขายสิทธิเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิม นำมาสร้างรีสอร์ต บังกะโล ขนาดใหญ่ลงทุนหลายร้อยล้านบาท บางแห่งลงทุนสูงสร้างลักษณะคล้ายเกาะมัลดีฟส์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะสร้างอยู่ในพื้นที่ส่วนใดของเกาะ และเป็นพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตามถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกาะพยาม แห่งท้องทะเลอันดามันกลายเป็น “มัลดีฟส์ไทยแลนด์” แดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นักท่องเที่ยว 70-80% มาจากยุโรป ถือเป็นหัวใจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองเลยทีเดียว

แต่กระนั้นเมื่อกลุ่มทุนเข้ามาครอบครองบนเกาะแห่งนี้ ความเจริญก็ตามมาพร้อมกับการทำลายและปัญหาอีกมากมาย ที่ดินมีราคาสูงลิ่ว การอ้างสิทธิถือครองสิทธิในที่ดินของรัฐ การบุกรุกยึดครองป่า การซื้อขายสิทธิ์ซ้ำซ้อน และธุรกิจมืด สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดกลุ่มอิทธิพล ทั้งนักการเมือง นายทุน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำเพื่อกอบโกยผลประโยชน์มหาศาล

สังคมภายนอก และนักท่องเที่ยวอาจมองว่า เกาะพยาม คือ “มัลดีฟส์ไทยแลน” แดนสวรรค์ แห่งท้องทะเลอันดามัน แต่ความเป็นจริงเกาะแห่งนี้ถูกปล่อยปละละเลยปิดบังซ่อนเร้นอำพรางไว้ด้วยผลประโยชน์มานานจนอำนาจเข้าไปไม่ถึง ผลประโยชน์ และปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่มีมานานจนถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากฝ่ายการเมืองนักเลือกตั้งบริหารประเทศมาเป็นยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กับนโยบายการจัดระเบียบสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม คืนความสุขให้แก่ประชาชน และนโยบายทวงคืนผืนป่า จัดสรรที่ทำกินให้แก่เกษตรกร และราษฎรผู้ยากไร้

หลังจาก พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44/ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง ได้รับการร้องเรียน จึงใช้โอกาสในยุครัฐบาล คสช.เข้าไปแก้ปัญหาบนเกาะพยาม โดยมอบหมายให้ พ.ท.ดุสิต เกษรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม มทบ.44 ซึ่งเป็นนายทหารตงฉิน ตรงไปตรงมา มีทีมงานที่ดี และมีความรู้เรื่องที่ดินกับป่าไม้ ลงพื้นที่สะสางปัญหาบนเกาะพยาม และใช้อำนาจ คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไขปัญหาเกาะพยาม จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายถิน พิสูจน์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ระนอง ประธาน ลงนามคำสั่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กำหนดแนวทางโดยให้คณะกรรมการลงพื้นที่เกาะพยามสำรวจแยกแยะคัดกรองกรณีมีข้อพิพาทการซื้อขายสิทธิซ้ำซ้อน การเปลี่ยนมือผู้ถือครองสิทธิ การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การบุกรุกสร้างรีสอร์ตว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง การเข้าทำธุรกิจของผู้ประกอบการ

ปัญหาอิทธิพล และผลประโยชน์บนเกาะพยาม เป็นที่เคลือบแคลงของสังคมมานานได้ถูกคลายปมมาแล้วครึ่งทาง จากปี พ.ศ.2559 และจะเป็นงานท้าทายในปีใหม่พุทธศักราช 2560 นี้ ว่าเกาะพยาม “มัลดีฟส์ไทยแลนด์ แดนสวรรค์ ในเงามืด” จะมีการแก้ปัญหา และลงเอยอย่างไร ถือเป็นเป็นบทพิสูจน์สำคัญระหว่างรัฐบาลทหารยุค คสช.กับรัฐบาลนักการเมืองเลือกตั้ง จึงต้องติดตามกันต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น