คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
--------------------------------------------------------------------------------
“พญานาค” หรือ “นาค” (อังกฤษ : Nāga ; สันสกฤต : नाग) สัตว์ในความเชื่อสัตว์ตำนานของไทย และในภูมิภาคเอเชียใต้
มีเรื่องเล่ากันอย่างแพร่หลายว่า พญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษา โดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงู เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสู่จักรวาลอีกด้วย
โดยเรียกชื่อต่างๆ กัน แต่มีลักษณะ และมีพื้นฐานร่วมกันว่า พญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่ มีหงอนสีทอง และตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลา มีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี 7 สีเหมือนสีของรุ้ง
และที่สำคัญคือ นาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้น จะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียร และเก้าเศียร
นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก “พญาเศษนาคราช (อนันตนาคราช)” ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียรสมุทร
อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่า มีกายใหญ่โตมหึมา มีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในน้ำ และบนบก เกิดจากครรภ์ และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
ซึ่งต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะมาจากอินเดีย โดยเฉพาะใน “มหากาพย์มหาภารตะ” เล่าถึงพญานาคนาคว่า ถือเป็นปรปักษ์ของครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน
และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงปรากฏความเชื่อในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติ อพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช
อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่น ของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่ และพลังอำนาจ ที่มีพญานาคเป็นสัญลักษณ์ เป็นต้น
--------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
- https://th.wikipedia.org/wiki/พญานาค