xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สถาบันภูมิราชธรรม ต่อยอด “ศาสตร์พระราชา” การศึกษา-ศิลปะวิทยาการ วิถีปฏิบัติที่ไม่เคยมีมาก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปี 2560 หน้านี้ รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเป็นเจ้าภาพ จัดตั้ง “สถาบันภูมิราชธรรม”ภายหลัง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ. ....

สาระสำคัญอยู่ในการเสนอจัดตั้ง 'สถาบันภูมิราชธรรม' เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และอยู่ในอุปถัมภ์ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอ

"...กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า สถาบันภูมิราชธรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ด้านการศึกษาและศิลปวิทยาการอันเป็นวิถีปฏิบัติที่ไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อน.."

ขณะที่ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ. … ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้จัดตั้งสถาบันดังกล่าวเป็นสถาบันทางอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และอยู่ในอุปถัมภ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยการจัดตั้งสถาบันดังกล่าว เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ใน พ.ศ.2560 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการศึกษาและศิลปวิทยาการ

โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้แสดงเจตจำนงสนับสนุน ที่ดินบริเวณ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในพื้นที่ 436 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารเรียน อาคารหอพัก และสปอร์คอมเพล็กซ์ ฯลฯ ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันภูมิราชธรรม เพื่อใช้ในกิจการของสถาบันฯ และยินดีจะเสนอตั้งงบประมาณสำหรับปี 2560

โดยมีกองทุนประเดิม 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดให้เป็นรายปีรวมถึงเงินหรือทรัพย์ที่มีผู้อุทิศให้

ขั้นตอนต่อไป รัฐบาลได้ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

มติครม. ระบุถึง สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ว่า

1. กำหนดให้มีการจัดตั้ง “สถาบันภูมิราชธรรม” เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และอยู่ในอุปถัมภ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

2. กำหนดให้สถาบันเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะบุกเบิก แสวงหา และเป็นคลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติปัญญาและบริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของสังคมและประเทศชาติฯ

3. กำหนดรายได้ของสถาบัน ได้แก่ เงินที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบให้เพื่อจัดตั้งกองทุนหรือมอบสมบทภายหลัง และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีเงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบัน เงินกองทุนที่สถาบันจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว เป็นต้น

4. กำหนดให้สภาสถาบันประกอบด้วยนายกสภาสถาบัน กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการ โดยตำแหน่ง สภาสถาบันมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี

5. กำหนดให้มีกองทุนตั้งขึ้น โดยเงินที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบให้หรือมอบสมทบ

6. กำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา 48)

7. กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบันตามมาตรา 6 และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสถาบันเป็นการเฉพาะ

รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่า เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ปรากฎในวงวิชาการทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ทุกแขนง เพื่อน้อมนำพระราชจริยาวัตรทศพิธราชธรรม พระราชอุตสาหะ และวิริยคุณอันสูงส่งยิ่ง

อีกทั้ง จักน้อมนำพระปรีชาสามารถและความเชี่ยวชาญในความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ทุกแขนงของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”ซึ่งยังประโยชน์ให้บังเกิดแก่พสกนิกรและประเทศชาติมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ทรงครองสิริราชสมบัติมาเป็นแบบอย่าง ในการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ให้แก่พสกนิกรต่อไป

สำหรับรายละเอียดของหลักสูตรต่าง ๆ “สถาบันภูมิราชธรรม” กระทรวงศึกษาธิการ โดย “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมการจัดการเรียนการสอน จะมีทั้งระดับปริญญาและการฝึกอบรม ซึ่งในหลักสูตรต่างๆ จะสอดแทรกแก่นหลักเกี่ยวแรงบันดาลใจ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (Inspiration) ความรู้ หรือ ศาสตร์พระราชา (Knowledge) และคุณธรรมของพระราชา (Virtues)

ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะมีการผลิตครูที่มีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ มีความรู้หรือศาสตร์พระราชาทางด้านการเป็นครูที่ดีและด้านศึกษาศาสตร์ รวมทั้งการสร้างผู้นำในระดับต่างๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Growth and Development)

จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนคูรหรืออาจารย์และชุมชน ตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ ในมติที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ด้าน คือ

1. ห้องเรียน : สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะกัลยาณมิตรและสร้างสรรค์ระหว่างครูและผู้เรียน ผู้เรียนและผู้เรียนด้วยกันเอง

2. พื้นที่เชื่อมต่อ : ขยายการเรียนรู้สู่พื้นที่นอกห้องเรียน ทั้งการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากห้องเรียนหนึ่งๆ ไปยังห้องเรียนอื่น หรือองค์ความรู้อื่นๆ และเพื่อฝึกฝนการเชื่อมโยงประสบการณ์ทางทฤษฎีในห้องเรียนสู่ประสบการณ์จริง ผ่านการปฏิสัมพันธ์และการประยุกต์ใช้ในพื้นที่นอกห้องเรียน

3. วิทยาเขต : สร้างบรรยากาศให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และประสบการณ์ชีวิตที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งด้านคุณธรรม การเสียสละและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนจริยธรรมด้านต่างๆ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสถาบันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีสันติสุข

4. ชุมชน : ขยายการเรียนรู้สู่พื้นที่นอกสถาบัน เพื่อเชื่อมโยงทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ที่เรียนรู้จากห้องเรียน พื้นที่เชื่อมต่อ และวิทยาเขตของสถาบันไปสู่ชุมชนที่กว้างยิ่งขึ้น

นพ.ธีระเกียรติ เคยระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลกำลังผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน หรือ "Thailand 4.0" เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เปลี่ยนจากการพึ่งพาการลงทุนของต่างประเทศ มาเป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนาตัวเอง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาคน สร้างการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ไทยสามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา การปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน ของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด "ประชารัฐ" คือ ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

แต่กลับพบปัญหาของการอุดมศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่อง “ธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา” ดังนั้นในอนาคตจึงจะต้อง ปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้เด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากต่ออนาคตประเทศ

“ผมเองได้มีส่วนผลักดันและก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของไทย ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมุ่งหวังจะให้เป็น “The Best University” ของประเทศ คาดว่าจะเสร็จในปีหน้า คือ "สถาบันภูมิราชธรรม" ซึ่งจะเน้นสอนทศพิธราชธรรม และเป็นมหาวิทยาลัยประเภท "เรียนกินนอน" ให้เรียนฟรี จะเปิดสอนใน 2 หลักสูตรก่อนในลำดับแรก คือ ภาษาอังกฤษและศึกษาศาสตร์ โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับมูลนิธิและสถาบันต่างๆ ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณร่วมกัน” นพ.ธีระเกียรติ ระบุ

ล่าสุดเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้มีการปรับรูปแบบรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ที่ออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ มาเป็นรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” โดยเนื้อหารายการนั้นนายกรัฐมนตรีจะพูดถึงการดำเนินงานของรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การบริหารประเทศของรัฐบาลจะทำภายใต้หลักการมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รัฐบาลจะนำหลักการที่ทรงพระราชทานเอาไว้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเรื่องอื่นๆ นำมาให้พี่น้องประชาชนเห็นว่ารัฐบาลได้นำมาปฏิบัติตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 ต.ค.โดยออกอากาศหลังงานพระราชพิธี

“สถาบันภูมิราชธรรม”จะเป็นต้นแบบที่รัฐบาล “อยากให้ เยาวชนเข้าถึงธรรมาภิบาล โดยเฉพาะ หลักธรรม“ทศพิธราชธรรม”คุณธรรม 10 ประการ ของพระราชา และการเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต เป็นการต่อยอด “ศาสตร์พระราชา”อย่างที่ไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น