ยะลา - สสจ.ยะลา เผยพบผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้ว 2 ราย มีผู้ป่วยกว่า 500 คน ใน 8 อำเภอ และติดอยู่ในอันดับ 21 ของประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลยะลา ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากพบผู้ป่วยกว่า 500 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.ยะลา มีรายงานจากกลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 544 ราย มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่ อ.รามัน และ อ.ยะหา อยู่ลำดับที่ 21 ของประเทศ และอันดับที่ 10 ของภาคใต้ มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 8 อำเภอ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อ.เมืองยะลา 291 ราย รองลงมาคือ อ.บันนังสตา 102 ราย อ.ธารโต 13 ราย อ.กรงปินัง 21 ราย อ.เบตง 32 ราย อ.ยะหา 25 ราย อ.รามัน 37 ราย และ อ.กาบัง 2 ราย
ซึ่งกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 148 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี จำนวน 127 ราย กลุ่มอายุ 5-9 ปี จำนวน 95 ราย และกลุ่มอายุ 25-34 ปี จำนวน 77 ราย อาชีพที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือ นักเรียน จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 310 ราย รองลงมาคือ อาชีพเกษตร จำนวน 70 ราย และเด็กในปกครอง จำนวน 51 ราย
“จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่มีการพบผู้ป่วยกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้แหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประชาชนมีการเดินทางไปทำงาน ท่องเที่ยวต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อ และไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้หากมียุงลายในพื้นที่จำนวนมาก จำเป็นจะต้องเฝ้าระวังโรคทั้ง 3 อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยที่สังเกตอาการคนในครอบครัว ถ้ามีไข้สูงลอย 2-7 วัน รับประทานยาลดไข้ไม่ดีขึ้น มีผื่นแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก ถ้ามีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ข้อบวม มีผื่นแดง ให้นึกถึงโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และถ้ามีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง มีผื่นแดง หรือปวดข้อ ให้นึกถึงโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ จะต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ลดโอกาสการเกิดความผิดปกติ หรือเสียชีวิต และสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในครอบครัว และชุมชน จะต้องทายากันยุงในผู้ป่วยที่สงสัยทุกราย และใช้สเปรย์กระป๋องพ่นกำจัดยุงในบ้าน” นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าว
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตล่าสุด ในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา นั้น ก่อนอื่นทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ก็ต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย โดยหลังจากทราบข่าว ตนเองก็ได้ลงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ว่า ระบบในการดูแลประชาชนเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่าระบบก็มีมาตรฐานในการดูแลระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือ เรื่องของการสื่อสาร การให้ข้อมูล การทำความเข้าใจ ขั้นตอนของการรักษาที่ไม่ได้แจ้งให้แก่ทางญาติได้ทราบ ซึ่งตนเองมองว่า ปัญหาที่พบก็สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
จากนั้นตนเองก็ได้ลงไปสอบสวนโรคว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากอะไร เกิดจากกระบวนการรักษาที่ล่าช้าเกินไป หรือเป็นความรุนแรงของโรค ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาประชุมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งตนเองก็ได้เดินทางไปพบกับแม่ของผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งก็ต้องการให้ทางโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยให้ดีกว่านี้ ตนเองก็รับปากว่าจะดำเนินการให้ในทุกๆ โรงพยาบาล