xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเกษตรกรทุ่งนุ้ยสตูลปลูกเองขายเอง เปิดตลาดข้าวกล้องพื้นเมือง “อัลฮัมดุลิลลาฮ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - เกษตรกรทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล รวมกลุ่มเปิดตลาดข้าวกล้องพื้นเมือง “อัลฮัมดุลิลลาฮ” หลังเกษตรกรปลูกเองขายเองจนประสบความสำเร็จ มุ่งเจาะตลาดมาเลเซีย

วันนี้ (10 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรจังหวัดสตูล ส่งเสริมการปลูกข้าวกล้อง “อัลฮัมดุลิลลาฮ” (อัน-ฮัม-ดุ-ลิน-ละ) แปลว่า “ขอบคุณพระเจ้า” ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมือง มีคุณสมบัติพิเศษตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบข้าวแข็ง ทานกับน้ำแกง ซึ่งจะเหมาะในกลุ่มพี่น้องมุสลิม ในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย เปิดตลาดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันให้เกษตรกรรู้จักการพึ่งพาตนเอง ด้วยรวมกลุ่มเหมือนเช่น กลุ่มเพิ่มประสิทธ์ภาพสินค้าเกษตร ม.12 ต.ทุ่งนุ้ย บ้านโคกโดน อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม 121 ราย พื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 570 ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตข้าวปีละ 285 ตันต่อปี
 

 
จากอดีตจะนำข้าวเปลือกมาขายให้แก่โรงสี ในกิโลกรัมละ 8-12 บาท หลังสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ส่งเสริมด้วยการจัดหาโรงสีขนาดเล็ก ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถสีข้าวขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท บรรจุถุงในแพกเกจที่สวยงาม และประสานให้มีการพบกับเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับ จ.พัทลุง ข้าวสังข์หยด ภาคอีสาน ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และออกบูทขายตามงานต่างๆ จนประสบความสำเร็จ

นายอาแมน สาและ เจ้าของศูนย์เพิ่มประสิทธ์ภาพสินค้าเกษตร ม.12 ต.ทุ่งนุ้ย บ้านโคกโดน อ.ควนกาหลง จ.สตูล กล่าวว่า ได้เริ่มทำนาตั้งแต่ปี 2525 จำนวน 10 ไร่เศษ จนมาถึงปี 2554 ได้ประสบปัญหาการทำนา ได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากดินเสื่อมสภาพ จนทำให้เกิดปัญหาได้ผลผลิตน้อยกว่าเดิม จึงได้ขอความร่วมมือไปยังพัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล ในการให้คำแนะนำการปรับหน้าดินให้มีความสมบูรณ์กลับมาเช่นเดิม
 

 
โดยทางศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล ได้เข้ามาดูแล และนำเครื่องจักรเข้ามาไถนาทั้งหมด แล้วปลูกต้นปอเทือง เพื่อปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์ตามเดิม พร้อมทั้งได้ให้ความรู้ในเรื่องของการใช้ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงดิน ซึ่งจากเดิมที่ทำนาได้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มมาเป็น 500 กิโลกรัมต่อไร่ และได้รับพันธุ์ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮ ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของ จ.สตูล มาปลูก เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรได้รับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น จนปี 2556 ได้มีการประกวดผลผลิตข้าว และได้รางวันอันดับ 1 กลับมา จึงได้ทำการเปิดศูนย์แห่งนี้ และในปี 2558 จึงได้ทำเรื่องไปยังสำนักงานเกษตรกรจังหวัดสตูล เพื่อมาจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้

พร้อมทั้งได้มอบเครื่องสีข้าว และอุปกรณ์บรรจุถุงข้าวให้ในปีงบประมาณ 2559 โดยทางกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้มามอบให้ เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าว ซึ่งเดิมจะขายเป็นข้าวเปลือกในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แต่พอได้เครื่องสีข้าว และเครื่องบรรจุภัณฑ์ข้าวมา จากเดิมขาย 10 บาท เป็นตอนนี้กิโลกรัมละ 50 บาท โดยจัดส่งขายในพื้นที่ใกล้เคียง และออกบูทร่วมกับทางจังหวัดบ้าง ทำให้ราคาข้าวของเกษตรกรไม่ตกต่ำ และไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป ซึ่งศูนย์แห่งนี้มีสมาชิกทั้งหมด 121 คน มีพื้นที่นาทั้งสิ้น 570 ไร่
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น