xs
xsm
sm
md
lg

เดือด! ชาวเทพาบี้ กฟผ.หยุด MOU ลวงโลก โรงไฟฟ้าถ่านหิน นักวิชาการเผยถูกแอบอ้างชื่อ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจี้ กฟผ.หยุดมัดมือชกนักวิชาการเซ็น MOU โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พบเป็นการสมอ้างเพียงฝ่ายเดียว ด้านมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันแล้วไม่มีการลงนามใดใดทั้งสิ้น ขณะที่นักวิชาการเผยถูกแอบอ้างชื่อ

วันนี้ (9 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณหน้าเทพาบีชรีสอร์ท อ.เทพาจ.สงขลา เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เดินมารวมตัวกันหน้าเทพาบีชรีสอร์ท เพื่อทักท้วงการเซ็นสัญญาลงนาม MOU. กรณีจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี บางคน ภายในห้องประชุมเทพาบีชรีสอร์ท สืบเนื่องจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไย (กฟผ.) จะทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยวานนี้ (8 พ.ย.) รองอธิการบดี มอ.ปัตตานี และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ชี้แจงกับทางเครือข่ายฯแล้วว่าจะไม่มีการทำ MOU ใดๆ กับทาง กฟผ.ทั้งสิ้น แต่ปรากฏว่าวันนี้ยังมีเอกสารการลงนามMOU ระหว่าง กฟผ. กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 

 
ด้านนายอิสดาเรส หะยีเด รองนายกเทศมนตรีและ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดสงขลา และแกนนำเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้อ่านแถลงการณ์กรณี กฟผ.แอบอ้างและเชิญชวนสื่อมวลชนมาร่วมเป็นสักขีพยานเรื่องการทำ MOU ในครั้งนี้

โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏในข่าวแจกของ กฟผ.ต่อสื่อมวลชนว่า จะมีพิธีลงนามข้อตกลงงานบริการวิชาการระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ เทพาบีชรีสอร์ท โดยมีชื่อของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ลงนาม และมี ผศ.ดร.ศราวุฒิ เจ๊ะโส๊ะ และ ผศ.ดร.อภิรดี แซ่ลิ่ม เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยให้กับ กฟผ. นั้น
 

 
ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้รับคำตอบจาก รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ที่ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่า “ตนเองไม่ทราบมาก่อนว่าตนมีชื่อในการลงนาม MOU และตนเองก็ไม่ได้คิดจะไปลงนาม แต่ถูก กฟผ.แอบอ้างใส่ชื่อนำไปลงในกำหนดการ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง” และอาจารย์ซุกรียืนยันว่า “ทางคณะจะไม่มีใครไปร่วมลงนามที่ว่านี้” พฤติกรรมลักไก่เช่นนี้เป็นพฤติกรรมของ กฟผ.นำโดย ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งทำเป็นประจำในการผลักดันโครงการ จนสร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อ กฟผ.

หาก กฟผ.มีความเป็นลูกผู้ชาย อยากจะสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ ก็อย่าชกใต้เข็มขัด อย่าสร้างภาพลวงโลก อย่าหลอกลวงคนในพื้นที่ ให้เปลี่ยนทีมทำงานทั้งหมดเพราะหมดสภาพความน่าเชื่อถือนานแล้ว แล้วให้ทีมใหม่ที่เปิดกว้างสำหรับพลังงานสะอาด ให้มานั่งฟังข้อมูลจากชาวบ้านแล้วตอบคำถามชาวบ้านให้ได้ หากสอบผ่านจึงค่อยไปสร้าง หากสอบไม่ผ่านก็หยุดโครงการ ไปพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแทน เช่นนี้จึงจะถูกต้อง
 

 
สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น ยังมีอาจารย์ 2 ท่านคือ อ.ศราวุฒิ เจ๊ะโส๊ะ และ อ.อภิรดี แซ่ลิ่ม ซึ่งดูเหมือนว่ายังเห็นแก่เศษเงินของ กฟผ. แม้ว่าจะเป็นสิทธิของนักวิชาการที่จะทำได้ในนามส่วนตัว แต่เมื่อรับเงิน กฟผ.มาทำวิจัยแล้ว ข้อมูลที่ได้จะมีความเป็นกลางความน่าเชื่อถือได้อย่างไร เมื่องานวิจัยไม่มีความน่าเชื่อถือจึงเท่ากับเป็นงานวิจัยจอมปลอม ซึ่งเท่ากับสมรู้ร่วมคิด ยอมเป็นเครื่องมือให้ กฟผ.ใช้หลอกลวงประชาชน

การรับเงิน กฟผ. มาเก็บข้อมูล เท่ากับรับเงินบาปหรือเงินหะรอม ซึ่งหมายถึงเงินที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเงินนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงเพียงต้องการใช้ความเป็นอาจารย์สงขลานครินทร์เป็นเครื่องมือในการฟอกขาวถ่านหิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการที่มีจรรยาบรรณในวิชาชีพไม่ควรทำอย่างยิ่ง ทางเครือข่ายฯจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะไม่มีนักวิชาการของ มอ.คนใดขายตัวให้กับทุนถ่านหิน ถ้าหากมีคนใดทำเช่นนั้น ก็ควรที่ประชาคมนักวิชาการใน มอ.จะลงโทษไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
 

 
การลงนามในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 นี้ เมื่อทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ชี้ชัดว่า เป็นการจัดการลงนามที่ลวงโลก มอ.ไม่ได้จะมาลงนามด้วย จึงเท่ากับเป็นการจัดฉากสร้างภาพของ กฟผ.ที่หลอกลวงสังคม จึงควรที่จะต้องยกเลิกไป

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีความชัดเจนในการเคียงข้างประชาชน เคียงข้างความถูกต้อง ไม่ยอมเป็นผงฟอกขาวให้กับถ่านหินสีดำ และต้องขอประณามการที่ กฟผ.ที่ทำกำหนดการปลอมที่อ้างชื่อแม้กระทั่งคณบดี และการจัดกิจกรรมสร้างภาพโกหกลวงโลกอย่างไม่มีจริยธรรมของ กฟผ.
 

 
เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขอยืนยันว่า จะคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ถึงที่สุด เพื่อหยุดหายนะต่อชุมชน หยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ได้ร่วมขับเคลื่อนรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยไปพร้อมๆกัน

ด้าน รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวชี้แจ้งว่า จะไม่มีการลงนาม ซึ่งได้ให้คำตอบกฟผ.ไปแล้ว โดยเหตุเกิดเมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการประสานงานจาก กฟผ. จะให้มีการลงนาม MOU เพื่อทำงานวิชาการร่วมกัน ผมก็ถามว่า ลงนามอะไรกัน ผมไม่ประสงค์ที่จะลงนาม และผมจะไม่ไปลงนาม ด้วยเหตุผลคือ
 

 
1.การลงนามมันไม่ใช่เรื่องของคณะ (คณะวิทยาศาสตร์) มันเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยฯ และมหาวิทยาลัยฯ ต้องมีนโยบาย 2.วิธีการที่ กฟผ.ทำอย่างนั้นผมไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการมัดมือชกให้ไปลงนาม เมื่อกำหนดการนี้ออกมาผมเห็นผมก็ตกใจ ก็ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยัง กฟผ.

“ซึ่งทาง กฟผ.ก็ตอบว่า กำหนดการที่เขียนนั้นเป็นกำหนดการที่ร่างก่อนที่จะมาทาบทามผม ผมก็พูดว่าในเมื่อดำเนินการไปแล้ว ใครจะมารับผิดชอบความเสียหายแทนผม วันนี้ผมจึงขอชี้แจ้งว่า การลงนามนั้นไม่มี แม้แต่อาจารย์ของคณะก็ไม่มีไปลงนาม เพราะไม่ได้มีการมอบให้ไปลงนาม แต่ถ้าจะมีอาจารย์บางท่านไปซึ่งผมไม่แน่ใจ ถ้ามี ถ้าไปไม่ใช่การลงนาม แต่ไปเป็นการส่วนตัว เพราะโดยคณะเราให้อิสระทางวิชาการ นโยบายของคณะให้อิสระแก่อาจารย์ในการไปทำงานวิชาการ”
 

 
ส่วนประเด็นที่มีอาจารย์ไปทำงานกับ กฟผ. ด้านสภาวะเศรษฐกิจสังคม การทำมาหากิน สุขภาพของชาวบ้าน ต้องบอกว่ามี แต่ไม่ใช่การจ้างแบบที่ต้องทำสัญญาว่าจ้าง เพราะเป็นเรื่องไปทำส่วนตัว

“เราเคยประชุมกับ กฟผ. และ กฟผ.จะให้เราทำจริงๆ ที่นั่น (โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา) อันนี้ต้องยอมรับความจริง โดย กฟผ.พยายามที่จะให้ มอ.ทำจริง กฟผ.จะให้เราทำเหมือนที่เขาทำอีไอเอ (EIA) แต่มหาวิทยาลัยฯ บอกว่า เราไม่ทำอีไอเอ เพราะเราทำไม่ได้ และเขาทำไปแล้ว และมีปัญหาไปแล้วด้วย”
 

 
แต่ถ้าให้มหาวิทยาลัยฯ ทำ มหาวิทยาลัยฯ จะทำข้อมูลพื้นฐานให้ว่า มีปลาอยู่กี่ตัว ชาวประมงมีเท่าใด มีรายได้เท่าใด ต้นไม้ สัตว์น้ำ นก อยู่ตรงไหน อันนี้เราทำให้ได้ แต่เรามีข้อเสนอ 3 ข้อ ซึ่ง กฟผ.ต้องทำให้ได้ หากทำไม่ได้ มหาวิทยาลัยฯ ก็ไม่รับทำ คือ

1.เราจะทำเฉพาะข้อมูลพื้นฐานจริงๆ และข้อมูลนี้ทุกคนต้องใช้ประโยชน์ได้ ใครก็ใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นข้อมูลของจริง 2.เราจะไม่รับเงินจาก กฟผ. ต้องไปหาเงินรัฐบาลมาจากช่องทางไหนก็ได้ ที่ไม่ใช้เงินของ กฟผ. 3.ขณะที่มีการทำงาน (สมมติว่าหากมีการทำ) กฟผ.ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวเด็ดขาด ห้ามตาม ห้ามอะไรทั้งสิ้น
 

 
“ซึ่งเราได้ยื่นข้อเสนอต่อ กฟผ.หลายเดือนแล้ว จนถึงวันนี้เรายังไม่ได้คำตอบ จึงขอเล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยฯ เรามีที่ยืน และมีหลักการอยู่ตรงไหน ต้องขอโทษด้วยที่ต้องทำให้พี่น้องต้องกังวลใจ ผมก็มีความกังวลใจไม่ต่างจากพี่น้อง เพราะนอนอยู่ดีๆ ทำงานอยู่ดีๆ มีชื่อปรากฏเป็นผู้ลงนาม MOU โดยที่ไม่ได้รับทราบ ไม่เคยรับรู้กันมาก่อนว่า จะมีการลงนามเซ็น MOU”
 




 

กำลังโหลดความคิดเห็น