xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิการ ม.อ.ปัตตานี ร่อนหนังสือแจงประชาคม การันตีนักวิชาการฟอกขาวโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านดักคอ รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี ส่อฟอกขาวนักวิชาการร่วมดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังทำหนังสือแจงประชาคมวิทยาเขต เคลียร์ประเด็นนักวิชาการ ร่วมงาน กฟผ. เผยไม่ได้ลงนาม MOU ตามที่ปรากฏในเอกสาร

วันนี้ (15 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องถามหาความชัดเจนดานจรรยาบรรณของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เกี่ยวกับการร่วมงานวิจัยกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กำลังดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่จากความเห็นต่างกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งในกระบวนการดำเนินงาน กฟผ.ก็ถูกร้องเรียนถึงพฤติกรรม และธรรมาภิบาลของหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีหนังสือถึงประชาคมวิทยาเขตปัตตานี โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า “ในวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ มีหลายกิจกรรมจัดขึ้นในวิทยาเขตของเรา โดยวันที่ ๘ พฤศจิกายนช่วงเช้ามีการเปิดการประเมินคุณภาพภายในระดับมหาวิทยาลัยที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และถ่ายทอดไปยัง ๔ วิทยาเขต ในภาคบ่ายที่วิทยาเขตปัตตานี มีการจัดกิจกรรมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

มีพิธีติดตั้งป้ายชื่อใหม่ของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะวิชาแรกของม.อ.ปัตตานี และกิจกรรม “ศรีตรังคืนต้นที่รูสะมิแล” มีศิษย์เก่าจากภูมิภาคต่างๆ นำโดยนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาร่วมพบปะแสดงกตัญญุตาจิตต่ออาจารย์ และสถาบันที่ได้ศึกษา และมาร่วมกิจกรรม “วันรูสะมิแล ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙” เพื่อราลึกถึงวันที่คณาจารย์ และนักศึกษารุ่นแรกได้เดินทางมาถึงม.อ.ปัตตานีในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๑

นอกจากกิจกรรมภายในวิทยาเขตปัตตานีในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ แล้ว ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ก็มีคุณดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงาน “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และคุณอิสตาเรส หะยีเด รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเทพา พร้อมด้วยชาวบ้านอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประมาณ ๔๐ คน ได้เดินทางมาพบผู้บริหารของ ม.อ.ปัตตานี เนื่องจากรับทราบจากข่าวประชาสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เชิญสื่อมวลชนทำข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงงานบริการวิชาการระหว่าง กฟผ. โดย ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะร่วมลงนามในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ เทพาบีช รีสอร์ท อาเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้แสดงความกังวลต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่อาจจะมีผลกระทบเชิงลบจากการลงนามข้อตกลงดังกล่าว จึงต้องการสอบถามข้อมูลที่มาของการลงนาม และยื่นหนังสือเพื่อให้มหาวิทยาลัยทบทวนเรื่องนี้

ในการนี้ ผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี โดย รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี และ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมชี้แจงต่อทางเครือข่ายฯ ว่า จะไม่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงงานบริการวิชาการระหว่าง กฟผ.กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด และทางคณบดีก็ได้ชี้แจงแก่ทาง กฟผ. ที่ได้หารือเรื่องนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ว่า ทางคณะไม่ประสงค์จะลงนามในเรื่องนี้ เมื่อปรากฏเป็นข่าวเรื่องการลงนามฯ ทางคณบดีก็ได้ประสานงานไปยัง กฟผ. และได้รับแจ้งว่าเป็นกำหนดการที่จัดทำขึ้นก่อนที่ทาง กฟผ. จะประสานงานกับคณบดี
 

 
ในการร่วมพูดคุยกับทางเครือข่ายฯ ทาง รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เน้นย้ำจุดยืนทางวิชาการของคณะ และการทางานของคณะที่ให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกับชุมชนในกิจการต่างๆ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด รวมทั้งให้ความสำคัญต่อบทบาทการเป็นที่พึ่งทางวิชาการที่สำคัญของชุมชน พร้อมกันนี้ คณะฯ ได้ให้ความเคารพในความเป็นอิสระทางวิชาการของอาจารย์ จะเห็นไว้ว่าอาจารย์ของคณะฯ สามารถออกไปทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้ รวมทั้งทำงานในประเด็นทางสังคม และทางวิชาการเรื่องเดียวกับที่นักวิชาการของคณะฯ มีมุมมองแตกต่างกันได้ พร้อมทั้งได้มอบหนังสือชี้แจงกรณีการลงนามบันทึกข้อตกลงงานบริการวิชาการกับตัวแทนของเครือข่ายฯ ในวันเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในกิจกรรมบริการวิชาโครงการจัดทำฐานข้อมูลด้านสังคมเศรษฐกิจและภาวะสุขภาพของประชาชนบ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปี ๒๕๕๙ นั้น มีอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๒ ท่าน รับดำเนินการในฐานะนักวิจัย โดยมีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะ ต้นสังกัดทำหน้าที่ลงรับการสั่งจ้างในเอกสารที่เป็นใบสั่งจ้าง (ZSPO) และไม่มีการลงนามในรูปแบบการทำสัญญาจ้างปกติ

อีกทั้งไม่มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น โดยอาจารย์ทั้งสองท่านก็ได้แจ้งให้ทางคณะรับทราบว่า จะไม่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในนามของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี แต่รับดำเนินการในฐานะนักวิจัย ซึ่งทำในฐานะนักวิชาการโดยไม่มีเจตนานำชื่อของคณะ หรือมหาวิทยาลัยไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ทางคณะฯ ได้กำชับให้นักวิจัยรับทราบถึงข้อกังวลของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และความเป็นอิสระทางวิชาการกับการดำเนินงานในครั้งนี้

สาหรับกรณีที่ทางเครือข่ายแสดงความกังวลต่อความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยทั้ง ๒ ท่าน ว่า อาจจะมีความโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่งนั้น ก็ได้แจ้งให้ทางเครือข่ายทราบว่า ประเด็นการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับสภาพทางสังคม และสภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งภาวะสุขภาพของชุมชน และในการวิจัยมีหลักวิชาการ และระเบียบวิธีวิจัยที่นักวิจัยจะต้องออกแบบและดำเนินการให้เหมาะสมต่อโจทย์วิจัย กำกับด้วยจรรยาบรรณของนักวิจัย อีกทั้งเป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบซ้ำได้ว่าผลการวิจัยเที่ยงตรง และเชื่อถือได้ไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยเสนอต่อทางเครือข่ายฯ ว่า หากไม่มั่นใจต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล ก็อาจจะมีการวิจัยของเครือข่ายฯ ในประเด็นเดียวกันคู่ขนานไป เพื่อการยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนาไปใช้ในการตัดสินใจ หรือการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้ โดยทางมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนงบประมาณวิจัยและสนับสนุนนักวิจัยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิชาการ ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะนำไปพิจารณาร่วมกัน และได้เดินทางกลับ

ส่วนที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่า ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ อาจารย์นักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมในงานพิธีการลงนามข้อตกลงงานบริการวิชาการระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นั้น ทางคณะฯ แจ้งว่า นักวิจัยได้เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมอธิบายถึงหลักการและวัตถุประสงค์ของการวิจัยและจัดทำฐานข้อมูลเท่านั้น ไม่มีการลงนามแต่อย่างใด

เพื่อให้ประชาคมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ตามสถานการณ์ในห้วงเวลาต่างๆ ที่ตรงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบทบาทในภาคส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีคำถามจากประชาคมทั้งภายใน และภายนอกว่าได้มี “การลงนามบันทึกข้อตกลงงานบริการวิชาการระหว่าง กฟผ.กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี” ตามที่ปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ อย่างไร จึงมีความจำเป็นต้องสื่อสารในประเด็นข้อคำถามดังกล่าวเป็นเบื้องต้น รวมทั้งประเด็นการทำหน้าที่ของนักวิชาการบนพื้นฐานของความถูกต้องและความเป็นอิสระทางวิชาการที่ไม่ถูกครอบงำด้วยอคติใดๆ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องต่อมา

ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้แสดงความห่วงใยต่อสภาวะที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และขอขอบคุณที่ให้ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจต่อการเป็นที่พึ่งทางวิชาการของสังคมของมหาวิทยาลัยเสมอมา ตลอดระยะเวลาเกือบ ๕๐ ปี ที่ชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำหน้าที่ และส่งผ่านภารกิจที่รับผิดชอบอย่างเข้มแข็งรุ่นต่อรุ่น โดยยึดหลักแห่ง “การทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” และจะยึดมั่นหลักการนี้กากับการปฏิบัติงานในทุกบทบาท และทุกภารกิจตลอดไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเนื้อหาในหนังสือฉบับนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ของกลุ่มชาวบ้าน และนักวิชาการอิสระ ใน จ.สงขลา ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังแก้ภาพลักษณ์ให้แก่นักวิชาการบางคนที่ร่วมงานกับ กฟผ. โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคใต้เป็นข้ออ้างเพื่อผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เกิดขึ้นใน อ.เทพา ให้ได้ ใช่หรือไม่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น