สตูล - ทหารสตูล จับบุหรี่เถื่อนมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ขนจากสตูล ส่งหาดใหญ่ แลกค่าจ้าง 1,500 บาทต่อเที่ยว พบขบวนการ 3 กลุ่มในพื้นที่เตรียมเช็กบิล
วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล พล.ต.สิทธิพร มุสิกะสิน ผู้บังคับกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี พร้อมด้วย นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ภาค 4 และที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวจับกุมบุหรี่หนีภาษี หลังได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวภาคประชาชนว่า จะมีการขนบุหรี่หนีภาษีจาก อ.ท่าแพ จ.สตูล ไปยังจังหวัดยะลา โดยผ่าน ถนนหมายเลข 409
มว.ปล.ที่ 3 ร้อย.ร.5021 และ กกล. รส.จว.สตูล จึงได้ดำเนินการติดตาม และสามารถจับกุมได้บริเวณรอยต่อ บ.เขาสอยดาว อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ตรวจยึดของกลางรถกระบะโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ป้ายทะเบียน ก 9293 กทม.ป้ายแดง พบบุหรี่ยี่ห้อต่างประเทศซุกซ่อนเต็มคัน เช่น minna 9,200 ซอง, astro 7,000 ซอง, garam 1,5000 ซอง รวมทั้งหมด 17,700 ซอง จำนวน 274,400 มวน
พร้อมควบคุมตัว นายเอกศักดิ์ อรรถหิรัญ อายุ 35 ปี ม.4 ต.คลองขุด อ.เมืองสตูล ซึ่งเป็นคนขับรถ โดยรับสารภาพว่า ได้รับว่าจ้างครั้งละ 1,500 บาทต่อเที่ยวในการขน ซึ่งรถยนต์เป็นของนายทุน การกระทำผิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยของกลางรับมาจากท่าเรือพื้นที่ อ.ท่าแพ จ.สตูล เพื่อไปส่งในตัวอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา จึงถูกแจ้งในข้อหามีไว้ครอบครองซึ่งยาสูบมิได้ติดแสตมป์ยาสูบเกิน 500 กรัม
พล.ต.สิทธิพร มุสิกะสิน ผู้บังคับกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี กล่าวว่า ขบวนการในพื้นที่ จ.สตูล จากการสืบสวนทางการข่าวพบว่า มีการกระทำผิดในลักษณะนี้ 3-4 กลุ่มในพื้นที่ ส่วนมีใครพัวพันบ้างนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ ซึ่งทางกำลังทหาร และฝ่ายความมั่นคงจะเร่งดำเนินการการกวาดล้าง ปราบปรามอย่างเข้มงวด และจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นภัยแทรกซ้อนเข้ามาในพื้นที่ได้ โดยทางผู้บังคับบัญชาได้มอบนโยบายในการควบคุมตามแนวชายแดนไม่ให้มีการกระทำผิด มีการกำชับในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าของกลางอยู่ที่กว่า 12 ล้านบาท
นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ภาค 4 และที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า สำหรับการกระทำลักษณะนี้ได้มีการใช้กฎหมายถึง 3 พ.ร.บ. คือ พ.ร.บ.ยาสูบ, พ.ร.บ.ศุลกากร และ พ.ร.บ.สรรพสามิต สำหรับการนำไปถึงมาตรการฟอกเงิน หากมีการขยายผลการจับกุมที่จะสามารถรู้การกระทำผิดทั้งระบบ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็มีนโยบายว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ จะมีการขอให้มีการยึดทรัพย์ต่อไป ซึ่งจะเป็นมาตรการดำเนินการต่อแหล่งทุนในการจัดการ
ทางคดีได้มีการเร่งรวบรวมพยานหลักฐานในการเอาผิดให้ถึงที่สุดว่าจะไปถึงขั้นยึดทรัพย์ได้หรือไม่ ซึ่งการกระทำผิดเช่นนี้มีหลาย พ.ร.บ.ในการใช้ควบคู่กัน เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร, พ.ร.บ.สรรพสามิต ซึ่งต้องดำเนินการให้เด็ดขาด เพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำสอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายคดีที่โยงไปถึงขั้นยึดทรัพย์