xs
xsm
sm
md
lg

ใครคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย 
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ผมเพิ่งเกษียณอายุในตำแหน่งนักวิชาการ ชำนาญการพิเศษ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มาได้ ๑๒ วัน ในวันนี้ (๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙) และช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศนี้กำลังมีงานรำลึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้ง “๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖” และ “๖ ตุลาคม ๒๕๑๙” เกิดข่าวคราวความแตกแยกขัดแย้งในหมู่มวลชนหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว และฝ่ายที่อยากให้คนไทยลืมเหตุการณ์ทั้งสอง
 
เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา และประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เปลี่ยนผ่านมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา มาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา และเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน ที่หลายคนมองว่า “เราควรจะลืมๆ ประวัติศาสตร์ด้านที่ไม่น่ารื่นรมย์” เหล่านั้นไป แต่ทำไมผมยังต้องรื้อฟื้น รำลึกถึง “วิบากกรรม” ขององค์กรที่ผมสังกัด และมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์บางด้านของที่นี่
 
ผมมีโอกาสเดินทางไปคารวะ “ลุงโฮ” หรือ “โฮจิมินห์” ผู้สร้างประวัติศาสตร์ของประเทศเวียดนาม ที่พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ในเวียดนามเหนือ ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของลุงโฮในความรู้สึกนึกคิดของชาวเวียดนาม ตั้งแต่เยาวชนคนร่นหลัง และประชาชนชาวเวียดที่มีต่อวีรบุรุษของเขา กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ของโฮจิมินห์ คือ อันหนึ่งอันเดียวกันของประวัติศาสตร์เวียดนาม พบเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับโฮจิมินห์ที่มีอยู่ทั่วไปในทุกสถานที่ที่เราไป
 
ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ในหมู่ประเทศอาเซียนจะมีวีรบุรุษของประเทศไหนบ้างที่ยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญต่อ “สำนึกทางประวัติศาสตร์” ของประชาชนของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย เราเคยมีคนอย่างลุงโฮสักคนไหม อาจจะเคยมีอยู่บ้าง แต่คงเทียบกันไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
 
ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของคนสามัญ วีรชนนิรนามที่ต้องสละชีวิตให้แก่ความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีในอดีต เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีฐานะในทางประวัติศาสตร์ตามค่านิยมของคนในสังคมด้อยพัฒนา ไม่ว่าจะในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ จนถึงปัจจุบัน
 
กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา และประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา แยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ของ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และกัลยาณมิตรที่ร่วมกันสถาปนาองค์กรแห่งนี้ให้มีสถานภาพเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือคติชนวิทยา และการสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก
 
แต่ผู้สร้างประวัติศาสตร์เหล่านี้ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ค่อยได้รับการกล่าวขาน และเชิดชูให้มีฐานะทางสังคมที่ควรค่าแก่การรำลึกถึงจากคนรุ่นหลัง ที่เข้ามาเสวยสุขบนร่องรอยของความทุกข์ยาก วิบากกรรมของคนที่ร่วมกันสร้างสรรค์สถาบันแห่งนี้มา
 
แม้จะมีคนคิดที่จะจัดทำโครงการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ โดยการจัดทำโครงการ “รางวัลศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ของ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังกลับไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเท่าที่ควรจะเป็น จนไม่แน่ใจว่ารางวัลนี้จะมีต่อไปหรือไม่
 
นับเป็นเรื่องน่าเสียใจสำหรับสถาบันทางวัฒนธรรม ที่ไม่ค่อยสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างที่อื่นๆ เช่น รางวัลปรีดี พนมยงค์ รางวัลอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รางวัลโกมล คีมทอง รางวัลสืบ นาคะเสถียร รางวัลชูเกียรติ อุททกพันธ์ เป็นต้น
 
สำหรับประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม น่าชื่นชมที่หลายฝ่ายพยายามรำลึก เพื่อให้การศึกษา เรียนรู้แก่อนุชน แต่น่าเสียใจที่การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้กลับสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับหลายฝ่ายที่เคยร่วมอุดมการณ์กันในอดีต แต่ปัจจุบันไปยืนอยู่คนละข้างของคู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงมีการวิวาทะกันหลายฝักหลายฝ่าย
 
ในส่วนของกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ที่เป็นแม่งานในการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคม ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค หรือท้องถิ่น ก็เกิดความขัดแย้งทางความคิด การฉกฉวยโอกาสในการจัดกิจกรรมที่ต้องอาศัยกลุ่มศิลปินกลุ่มเดียวกันในการมาสร้างสีสันให้แก่งานรำลึกนี้ ด้วยข้อจำกัดและความจำเป็นหลายอย่าง หลายประการ
 
จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่การจัดกิจกรรมอันเป็นมงคลนี้ กลายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลต่อหลายฝ่าย และหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ก็เชื่อได้ว่า อนาคตของการรำลึกประวัติศาสตร์ของชาติเรา คงมีจุดจบที่ไม่พึงประสงค์อย่างแน่นอน
 
ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์บางด้าน บางยุคสมัย และบางสถาบัน ผมมีความเป็นห่วงอยู่สองสามประการ ประการแรก ห่วงว่าคนรุ่นหลัง ทั้งในสถาบัน และนอกสถาบัน จะไม่ได้รับรู้เรื่องราวในอดีตที่ควรค่าแก่การรับรู้ ประการที่สอง ห่วงว่าเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ต่างก็มีความคิดที่ดีงามเพื่อบ้านเมือง และท้องถิ่น แต่ต้องมาขัดแย้งกัน เพราะทรัพยากรในการจัดงานมีจำกัด และเมื่อบริหารจัดการกันไม่ลงตัว หรือสร้างผลกระทบให้แก่งานของกันและกัน ก็จะเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีขึ้นต่องานรำลึกทางประวัติศาสตร์
 
และประการสุดท้าย ประเทศชาติของเราจะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีประวัติศาสตร์ เพราะปัจจัยสองข้อข้างต้นมันเข้าทางฝ่ายที่ไม่อยากให้รื้อฟื้น หรือเชิดชูประวัติศาสตร์ของประชาชน
 
ดังนั้น ผมจึงอยากเรียกร้องพี่น้องประชาชน หรือกลุ่มมวลชนทีมีใจให้แก่สังคมส่วนรวม ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์คนเดือนตุลาคม หันหน้ามาร่วมสร้างประวัติศาสตร์แห่งความร่วมมือ ประวัติศาสตร์แห่งความรักสามัคคี เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมสืบไป
 
เรียนเรียกร้องมาด้วยความเคารพในจิตสาธารณะของเพื่อนพ้องน้องพี่ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มพลัง เสื้อสี ฯลฯ ครับ เพราะ “ความหวังถ้าจะยังมี ก็อยู่ที่ประชาชน” (ยอร์จ ออร์เวลล์)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น