xs
xsm
sm
md
lg

มธ.เปิดพื้นที่ “ชาวนา” ขายข้าวตรงผู้บริโภค แนะ 4 ทางออกแก้ราคาข้าวตกต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มธ. ศูนย์รังสิต เปิดพื้นที่ชาวนาขาย “ข้าว” ตรงสู่ผู้บริโภครวมกว่า 2 ตัน ชี้ ระบบขายข้าวไทยขาดข้อมูลอุปสงค์ - อุปทาน ชัดเจน ทำผู้รับซื้อไม่มั่นใจรับซื้อในราคาต่ำ แนะ 4 ทางออก ชาวนารวมตัวสร้างความเข้มแข็ง ภาครัฐช่วยตั้งโรงสีข้าวป้องกันการกดราคา ภาคการศึกษาร่วมพัฒนาการผลิตและขายข้าว ภาคประชาชนร่วมซื้อโดยตรงจากชาวนา

วันนี้ (2 พ.ย.) ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ข้าวของชาวนาไทย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตข้าวได้กว่า 6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท แต่กลับพบว่าชาวนาไทยประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางผู้รับซื้อข้าว และโรงสีข้าวในพื้นที่ชุมชนที่มีจำนวนน้อย ล่าสุด ชาวนาไทยสามารถขายข้าวสารได้ในราคาเพียง 5,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาให้สามารถมีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 2 พ.ย. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงได้ร่วมกับสภาพนักงานมหาวิทยาลัย มธ. จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภค โดยในระยะแรกจะมีเครือข่ายชาวนาจากจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี และ ลพบุรี ขนข้าวมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคเป็นจำนวนกว่า 2,000 กิโลกรัม บริเวณพื้นที่ตลาดนัดวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

“ในอนาคต วิทยาลัยฯ เตรียมส่งเสริมให้นักศึกษา มธ. ได้มีส่วนร่วมในการช่วยชาวนาในการพัฒนาและบริหารการตลาดออนไลน์ สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ในหลักสูตรการพัฒนาชุมชนด้วย” ผศ.ดร.จิตติ กล่าว

ด้าน ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สภาวะราคาข้าวตกต่ำเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำแทบทุกปี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข รวมถึงปัจจุบันระบบการขายข้าวของไทยไม่มีการรวบรวมข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของการผลิตข้าวอย่างแม่นยำ ทำให้กระทบต่อราคาการขาย ผู้ซื้อจึงจำเป็นต้องรับซื้อราคาต่ำเพื่อป้องกันการขาดทุน ผลกระทบจึงตกอยู่ที่ภาคการเกษตรที่ต้องแบกรับปัญหาราคาตกต่ำ ดังนั้น ภาครัฐควรจัดระบบอุปสงค์ และอุปทานของข้าว กำหนดจำนวนการปลูก จำนวนการขาย ประเภทการขาย โดยใช้การบูรณาการองค์ความรู้และหลักการบริหารจัดการ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. ภาคเกษตรกร ชาวนาไทยแต่ละชุมชนควรรวมตัวเป็นเครือข่าย หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและโอกาสทางการแข่งขัน ควบคู่ไปกับสร้างคุณค่าให้กับข้าวในแต่ละท้องถิ่นด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อยกระดับเป็นสินค้าพรีเมียม อาทิ การสร้างแบรนด์ การสร้างเรื่องราวและความแตกต่างให้กับสินค้า แพ็กเกจจิง เป็นต้น 2. ภาครัฐบาล ควรเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการจัดตั้งโรงสีข้าวที่มีประสิทธิภาพสูงภายในชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อขจัดปัญหาเกษตรกรถูกโรงสีข้าวกดราคา และสนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าข้าวให้ถึงมือผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยให้เกิดระบบการกระจายสินค้าผ่านการขนส่งโดยไปรษณีย์ไทย ที่สามารถส่งตรงผู้บริโภคได้ถึงหน้าบ้านในราคาถูก เพื่อลดข้อจำกัดของชาวนาไทยที่มีต้นทุนสูงในการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภค และช่วยลดการพึ่งพากลไกการกระจายสินค้าผ่านโรงสีและพ่อค้าคนกลาง

3. ภาคการศึกษา สถาบันการศึกษา หรือบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย ทั้งการพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพของข้าว การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงการพัฒนา การบริหารจัดการ การตลาด การบริหารความเสี่ยง หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 4. ภาคประชาชน ควรสนับสนุนการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวโดยตรงจากชาวนาไทย เนื่องจากปริมาณข้าวสารร้อยละ 60 ของการผลิตทั้งหมดจะถูกบริโภคภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูง จึงเป็นโอกาสที่ผู้บริโภคในประเทศจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวโดยตรงจากชาวนาไทยได้

กำลังโหลดความคิดเห็น