xs
xsm
sm
md
lg

มธ.ตั้งวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย ผลิตบัณฑิตนัก CSR “เก่ง+ดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


•ธรรมศาสตร์เดินเครื่อง “วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เปิดรับรุ่นแรกขณะนี้
•ตั้งใจสร้างนัก CSR มืออาชีพสาขา “การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์” ภายใน 3 ปี เปิดสอนทั้งระดับปริญญาตรี, โท และเอก
•มุ่งผลิตบัณฑิตนักพัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม และการจัดการงานอาสาสมัคร
•ตอบสนองความต้องการขององค์กรยุคใหม่ที่ต้องการเจ้าหน้าที่ด้าน CSR


ย้อนอดีตไปตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหน่วยงาน “สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร” ได้เริ่มดำเนินการในยุคที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2512 วัตถุประสงค์เริ่มแรกให้ความสำคัญของการสร้างเสริมจิตใจอาสาสมัคร การเสียสละเพื่อสังคมเป็นเรื่องแรก แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ก็ยังคงให้ความสำคัญของการเรียนรู้ชนบทไทยและการมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม จะเห็นได้ว่า อาจารย์ป๋วย มีวิสัยทัศน์เรื่อง การรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการจัดการศึกษา และเมื่อมาสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ การสืบทอดเจตนารมณ์อาจารย์ป๋วยด้านนี้จึงกลายเป็นหลักสูตรปริญญาตรี “การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์”
หลักสูตรที่ผ่านการศึกษาวิจัยและทดลองในมิติต่างๆ
สำนักบัณฑิตอาสาสมัครนั้น มีความเชี่ยวชาญเป็นองค์ความรู้ด้านอาสาสมัครและการพัฒนาชนบท เมื่อรวมกับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชนและความร่วมมือของโครงการเคลื่อนโลกไปด้วยกัน ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แก้ปัญหาชุมชน รวมถึงกระแสโลกที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งด้านธุรกิจและการพัฒนาสังคม จึงเกิดเป็นหลักสูตรปริญญาตรี “การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์” ที่เน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจจากการปฏิบัติจริงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นักศึกษาแต่ละคนจะศึกษาสองกลุ่มวิชาจาก กลุ่มวิชาทั้งสาม ได้แก่ 1) กลุ่มวิชาการพัฒนาชุมชนร่วมสมัย 2) กลุ่มวิชาการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม และ 3) กลุ่มวิชาการจัดการงานอาสาสมัคร เนื้อหาในหลักสูตรมีความทันสมัยและสอดคล้องกับกระแสโลกโดยเฉพาะแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเรียนการสอนเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งเป้าหมายการพัฒนาประเทศ
ด้วยประสบการณ์ของคณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ที่ได้ออกแบบกิจกรรมโครงการ “เคลื่อนโลกไปด้วยกัน” (Move world together) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและสมาคมพัฒนาอัจฉริยภาพและศักยภาพมนุษย์ ฯลฯ ในการอบรมนักเรียนชั้นมัธยมและสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาชุมชน โดยได้เห็นความสำเร็จจากรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ สะท้อนศักยภาพในการพัฒนานักศึกษาและความพร้อมในการพัฒนาบัณฑิตยุคใหม่
หลักสูตรที่มีกรรมการนโยบายที่เชี่ยวชาญ CSR
หลักสูตรนี้มีการบริหารในสองระดับ คือ มีกรรมการนโยบายคอยให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการศึกษาที่เน้นเป้าหมาย “การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์” โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้าน CSR ด้านธุรกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านงานอาสาสมัคร ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการวางนโยบายสาธารณะ และมีกรรมการบริหารหลักสูตรรับแนวทางไปสู่การพัฒนาการศึกษา
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์-ป๋วย-อึ๊งภากรณ์
ผสานความต้องการของสังคมยุคใหม่และความต้องการของนักศึกษาปัจจุบัน

ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ชี้แจงว่า ในขณะที่นักศึกษาปัจจุบันจำนวนมากมีความประสงค์จะทำงานแบบอิสระ และอยากมีโอกาสสร้างสรรค์การพัฒนาประเทศผ่านงานที่ตนเองทำ หลักสูตรนี้จึงตอบสนองการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และองค์ความรู้ของการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ผ่านรายวิชาและการฝึกงานในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ประสงค์ที่จะมีบุคลากรที่มีความรู้แต่มีความคล่องตัวและมีพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งบัณฑิตที่จบในหลักสูตรนี้จะมีคุณลักษณะดังกล่าวเลือกรายวิชาตามความสนใจ และพัฒนาความรู้ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์ การลงพื้นที่จริง ปฏิบัติงานจริง ทั้งในภาคธุรกิจ หน่วยงานอาสาสมัคร แม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศในประเทศไทย

คน “เก่งและดี” มีจริงและพัฒนาได้
ด้วยความเชื่อว่า คน “เก่งและดี” มีอยู่จริงและพัฒนาได้ หลักสูตรนี้จึงรับนักเรียนจากโรงเรียนทางเลือก และโรงเรียนสายสามัญ ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของการศึกษาในยุคใหม่ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วน “ไม่เชื่อ” กระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาพื้นฐาน หลักสูตรนี้ไม่ปิดกั้นระบบการเรียนรู้ของนักศึกษาแต่จะส่งเสริมต่อยอดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
กิจกรรมดำนา ข้าวน้ำน้อย ที่แปลงนาสาธิต วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อเร็วๆ นี้  รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเปิดกิจกรรมโดยใช้เทคนิคจากปราชญ์ชาวบ้านที่ได้ทดลองทำนามาหลายปีจนประสบผลสำเร็จ ทำให้มีการใช้น้ำน้อยลง 3 เท่า แต่สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวถึง 6 เท่า และมีความปลอดภัยอีกด้วย
มีศูนย์การเรียนรู้ฯ และศูนย์บ่มเพาะฯ
วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตร อาหาร พลังงาน และป่าไม้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกปฏิบัติของนักศึกษามีกิจกรรมในศูนย์การเรียนรู้ฯจำนวนมาก เช่น ไบโอแก๊ส การปลูกข้าวโดยใช้น้ำน้อยแต่ผลผลิตสูง ป่าพึ่งพาอาศัย พืชริมรั้วสวนครัวแนวตั้ง เป็นต้น และได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะอัจฉริยภาพและศักยภาพนักศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมและค่ายการพัฒนาศักยภาพ

“เก่ง ดี ขาดแคลน” เรียนฟรี
หลักสูตรได้ตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เก่ง ดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ชั้นปีละ 10 ทุนเป็นอย่างน้อย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ขาแคลนได้เข้าศึกษาเพื่อนำองค์ความรู้สังคมกลับไปช่วยได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น