ยะลา - ร.ร.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา ส่งเสริมกิจกรรมการลดเวลาเรียนในห้อง เพิ่มเวลาเรียนรู้ เสริมทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน เพื่อให้ได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมทั้งสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
วันนี้ (22 ก.ย.) นายเจริญ แขกไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหร กล่าวว่า การจัดการบริหารโรงเรียนในแต่ละแห่ง และแต่ละที่นั้นเราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดียวกันได้ ท้ายที่สุดต้องมองถึงสภาพแวดล้อมของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ หากเราดำเนินนโยบายต่างๆ โดยไม่ดูบริบทของเด็ก เด็กก็จะไม่มีความสุข และส่งผลให้คุณภาพของเด็กไม่ดีตามมาด้วย
80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านแหร ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นเด็กมุสลิม เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีการประเมินวัดการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก เราจำเป็นที่จะต้องสอนนักเรียนเหล่านั้นให้อ่านหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่อนุบาล 1 เพื่อให้ผลการประเมินของเราอยู่ในระดับดี และสิ่งที่ภูมิใจในตัวนักเรียนคือ สามารถอ่านออกเขียนได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ แม้ส่วนใหญ่นักเรียนจะเป็นเด็กมุสลิมก็ตาม
สำหรับโรงเรียนบ้านแหร ได้เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน จำนวน 364 คน จัดการเรียนการสอน 15 ห้องเรียน มีบุคลากรจำนวนทั้งสิ้น 33 คน เป็นโรงเรียนขนาดกลางค่อนไปทางขนาดเล็ก และโรงเรียนดำเนินกิจการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้มาตั้งแต่ปี 2558
การนำกิจกรรมลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้มาปรับใช้นั้น โดยมีเหตุผลที่ว่าเด็กนักเรียน 80 เปอร์เซ็นต์ของที่นี่เป็นเด็กมุสลิม เมื่อจบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 ไปแล้ว บางคนไม่ได้เรียนต่อ ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงมีกิจกรรมในด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่ออย่างน้อยเด็กเหล่านั้นจะได้รู้จักความรับผิดชอบ และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
นายเจริญ แขกไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหร บอกถึงที่มาที่ไปของการเรียนรู้ของนักเรียนว่า ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารโรงเรียนแห่งนี้มากว่า 7 ปี ได้เห็นการทำโครงการนี้มานานกว่า 4 ปี เห็นว่ามีประโยชน์ต่อเด็ก และตอบสนองกับชุมชนในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการผลักดันให้ดีขึ้น โดยมีนายอับดุลเราะมาน ขาวแท้ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการในการทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
นายอับดุลเราะมาน ขาวแท้ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการการทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพนี้ได้เริ่มมา 4 ปีแล้ว และได้มาบรรจุลงในหลักสูตรลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เมื่อปี 2558 ซึ่งกิจกรรมการทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพเป็นหลักสูตรที่เป็นการมุ่งทักษะอาชีพ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง
ด.ญ.นูรมี สาเมาะ นักเรียน ชั้น ป.5 ตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการการทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพ บอกว่า ครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรม คือ ปลูกยางพารา และปลูกพืชอื่นๆ เมื่อได้เข้ามาเรียนรู้ในโรงเรียน และได้สนใจกิจกรรมที่ทางโรงเรียนได้ทำขึ้น โดยเฉพาะการทำน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพนั้น ได้เข้ามาลงมือทำตั้งต้น โดยการใช้ผลไม้สีเหลือง และสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งได้นำผลไม้ที่มีอยู่ในสวนของตนเองที่เสียแล้วนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการนำมาทำน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถทำให้มีความรู้เกี่ยวกับอาชีพเพิ่มมากขึ้น และได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำให้ได้นำความรู้ที่ได้มาไปใช้ในประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวันได้
“เราได้ใช้ความรู้มาทำงานจริง เก็บเกี่ยวความรู้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มคิด วางแผนการทำน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการศึกษาสภาพพื้นที่ปลูกพืช ดินที่ปลูกว่าเหมาะสม หรือจะแก้ไขอย่างไรในการปลูกพืชทางการเกษตร และการนำน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพมาใช้กับพืชที่ปลูก ซึ่งได้รับความรู้จากครูผู้ฝึกสอน และเกษตรกรตัวจริงในพื้นที่ให้คำแนะนำ รวมทั้งการวิเคราะห์ และเก็บข้อมูลด้านการผลิตว่าวิธีไหนที่สามารถได้ผลผลิตมากกว่ากัน ซึ่งรวมทั้งการจัดจำหน่ายผลผลิตด้วย” ด.ญ.นูรมี สาเมาะ กล่าว
น.ส.นิรฮานี ยามูสะนอ ผู้ปกครองนักเรียน และเกษตรกรชาวสวนยางพารา บอกว่า กิจกรรมลดเวลา เพิ่มเวลารู้ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น ทำให้เด็กจากที่นั่งอยู่หน้าตำราตลอดเวลา ได้ฝึกกิจกรรมร่วมกัน อย่างเช่น ฝึกการทำงานเป็นทีม เด็กจะได้เกิดกระบวนการ เกิดทักษะการเรียนรู้ เกิดการคิดเป็น และทำกิจกรรมของเขาเป็นรูปเป็นร่าง กิจกรรมของเด็กในแต่ละอย่างทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม
นายมะนาเซ เด่นตุลาการ กรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองธารโต กล่าวว่า การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีข้อดีอยู่หลายอย่าง ทำให้เด็กมีทักษะ ทำงานเป็นทีม และสามารถดำเนินงานตามที่ตนเองถนัด ถนัดเรื่องอะไรสามารถนำมาต่อยอดได้ และมีความเชื่อมั่นว่าถ้าทุกโรงเรียนทำอย่างนี้ได้อย่างน้อยที่สุดสามารถต่อยอดแก่ชีวิตได้ในอนาคต
และนี่คือสิ่งที่โรงเรียนบ้านแหร ได้พัฒนาและยกระดับให้นักเรียนได้เรียนรู้ และนำชุมชนเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งไม่เพียงเกิดประโยชน์เฉพาะโรงเรียน นักเรียน ชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเห็นเยาวชนได้เรียนรู้ทักษะของชีวิต ด้วยจิตสำนึกของตัวเอง และสามารถนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง