พิจิตร - พัฒนาสังคมฯ พิจิตรนำทีมเปิดโครงการติวเข้มนักเรียน-นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนฯ กว่าร้อยคน ฝึกทั้งอาชีพทำนา ปั้นลูกประคบ จิตอาสาพัฒนาบ้านเกิด ยกคณะตระเวนเยี่ยม ดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุในชุมชน ทำเอาน้ำตาไหลกันแทบทุกบ้าน พร้อมชงเรื่องของบทำโครงการต่อเนื่องอีก
รายงานข่าวแจ้งว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ.พิจิตร ได้รับงบสนับสนุนจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ที่วิทยาลัยชุมชนพิจิตร หน่วยจัดการศึกษาโพธิ์ประทับช้าง หมู่ 11 ต.ทุ่งใหญ่ อ.โพธิ์ประทับช้าง
โดยนำนักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนฯ รวม 120 คน เข้าฝึกอบรม-ทำกิจกรรมฝึกอาชีพการทำลูกประคบ การเรียนรู้ดูแลผู้สูงอายุให้เยาวชนเป็นผู้มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม พร้อมทั้งจัดให้ปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีชีวิตการทำนาข้าวแบบมีกำไร เพื่อให้เยาวชนนำความรู้ไปบอกกล่าวผู้ปกครอง
นางกัญจะนา คำสะอาด อสม.ดูแลผู้สูงอายุ และนางสายฝน วงเงิน ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เปิดเผยว่า ต.ทุ่งใหญ่ อ.โพธิ์ประทับช้าง มี 19 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 5 พันคน เป็นคนชราคนป่วย รวมถึงผู้สูงอายุที่นอนป่วยติดบ้าน-ติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เกือบ 300 คน และผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง ไม่มีลูกหลานดูแลอีกประมาณกว่า 100 คน ดังนั้น การจัดอบรมเยาวชนจิตอาสาในครั้งนี้เป็นความหวังในอนาคตว่า ผู้สูงอายุจะได้รับการใส่ใจดูแลมากขึ้น และตัวของเยาวชนเองก็จะได้เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ซึ่งตลอดระยะเวลาการนำเยาวชนนักเรียนวิทยาลัยชุมชนฯ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ ที่ป่วยติดบ้านติดเตียง พบว่าบ้านบางหลังคาเรือนก็อยู่โดดเดี่ยวในป่า ในสวน บางหลังก็อยู่กลางทุ่งนา อยู่กันสองคนตา-ยายที่ทั้งชราภาพและป่วยด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยเพราะลูกหลานต่างไปทำงานในเมืองนานๆ จะกลับมาเยี่ยมเยียนสักครั้ง เมื่อผู้สูงอายุเหล่านี้เห็นเยาวชนที่เป็นลูกหลานมาเยี่ยม และนำสิ่งของมาให้คนชรา คนป่วย คนพิการ ต่างตื้นตันใจจนน้ำตาไหลร้องไห้กันแทบทุกราย
น.ส.รจนา เรเรือง หรือ “ส้ม” อายุ 17 ปี เรียนอยู่ ปวช.2 สาขาคอมพิวเตอร์ เล่าว่า การอบรมในครั้งนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรใกล้ตัว โดยมีนางสมพิศ ดอนศรีคุ้ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ทุ่งใหญ่ และเป็น อสม. ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านอีกหลายคนมาสอนให้รู้จักคุณค่าของการดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและของผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้นำความรู้ไปใช้ดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่เข้ารับการอบรมแล้วได้ความรู้นอกเหนือจากตำราที่เรียนมา
น.ส.พรทิพย์ ดิษกร หรือ“กวาง” อายุ 18 ปี เรียนอยู่ ปวช.3 สาขาคอมพิวเตอร์ บ้านอยู่หมู่ 10 ต.ทุ่งใหญ่ เปิดเผยว่า การอบรมในครั้งนี้ได้ความรู้และความสนุกสนานในเรื่องของการทำนา วิทยากรสอนให้รู้ถึงแนวทางการทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รู้ถึงประวัติ และที่มาที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย รวมถึงเรียนรู้เรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักสูตรต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำนาแบบมีกำไร ซึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้นี้ไปเล่าให้พ่อ-แม่ ได้รับทราบและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ลด-เลิก การใช้สารเคมีต่อไป
น.ส.วชิราภรณ์ คารวะ หรือ “นิว” เรียนอยู่ ปวช.3 บ้านอยู่หมู่ 8 ต.ทุ่งใหญ่ เล่าว่า อยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้อีก เพราะครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดโลกทัศน์เรียนรู้นอกตำราที่ได้ผู้มีประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดความรู้ให้ในหลายด้าน ทำให้รู้ตั้งแต่บทบาทหน้าที่ของเยาวชนกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนหรือบ้านเกิดของตนเอง ได้รู้สิทธิ หน้าที่ของเยาวชนว่าแท้ที่จริงแล้วมีความสำคัญเช่นไร ซึ่งจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นโครงการฯ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง พม.จังหวัดฯ วิทยาลัยชุมชนฯ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ได้ทำโครงการเพื่อของบทำโครงการต่อเนื่องผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่อไปด้วย