สุราษฎร์ธานี - นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี แจงข้อมูลโรงงานคัดแยกขยะหลังชาวบ้านรวมตัวประทวงหวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ยืนยันโรงงานได้มาตรฐาน เป็นโครงการนำร่องในภาคใต้ ไม่เป็นพิษต่อชุมชน มีแต่ประโยชน์ทั้งสิ้น
จากกรณีชาวบ้านหนองยอ กว่า 200 คน ได้มารวมตัวกันที่วัดคูหา ต.ช้างขวา อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวานนี้ (12 กย.) เพื่อเรียกร้องให้เทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ ออกมารับผิดชอบกรณีขนขยะมาทิ้งในเขตหมู่บ้าน โดยชุมชนไม่รับรู้ และเรียกร้องให้ทางผู้บริหารเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ ขนขยะออกไปจากชุมชนให้เร็วที่สุดนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (13 ก.ย.) นายพีรเดช เกิดอุดม นายกเทศมนตรีตำบลกาญจนดิษฐ์ พร้อมด้วยผู้บริหารเทศบาลตำบลกาญจณดิษฐ์ ได้นำสื่อมวลชนเข้าดูโรงงานคัดเลือกขยะของเทศบาล ที่ร่วมทุนกับบริษัท อัลเทอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.กระแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ เป็นโรงงานที่ใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ นำร่องแห่งแรกของภาคใต้
นายพีรเดช เกิดอุดม นายกเทศมนตรีตำบลกาญจนดิษฐ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของ จ.สุราษฎร์ธานี จนกลายเป็นปัญหาระดับชาตินั้น ล่าสุด ในส่วนของขยะในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งมีวันละประมาณ 10 ตัน ทางเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ ได้ร่วมกับบริษัท อัลเทอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด ที่ใช้วิธีการบริหารจัดการขยะมาใช้ประโยชน์ และถูกสุขลักษณะ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของขยะรีไซเคิล เช่น กระป๋อง ขวดน้ำ จะคัดแยกได้วันละประมาณ 2 ตัน ส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล พลาสติกส่งให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์ ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลือเป็นดินเป็นปุ๋ยเตรียมแจกจ่ายให้ชาวบ้านซึ่งมีแร่ธาตุอาหารอย่างดี
“กรณีที่มีการเสนอข่าวออกไปว่า ทางชาวบ้านกว่า 200 คน ได้มีการโห่ขับไล่นายกเทศมนตรีตำบลกาญจนดิษฐ์ เมื่อวานนี้ ข้อมูลที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไปนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งในวันเวลาดังกล่าวตนได้ติดภารกิจอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่เข้าร่วมการประชุม ข่าวที่นำเสนอไปนั้นสร้างความเสียหายให้แก่ตนเอง จึงขอให้ทางสื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป”
โดยเมื่อวานนี้ มีนายพัลลภ จิตรจง รองปลัดเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ และนายธนวัน ปัญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลเทอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด เข้าไปชี้แจงข้อมูลรายละเอียดการนำขยะที่บดละเอียดที่เป็นเศษดินแต่มีขยะบางส่วนติดไปทิ้งในพื้นที่ของชาวสวน โดยชาวสวนเจ้าของที่ได้ขอให้ทางเทศบาลนำไปทิ้งและทำการกลบฝังเพื่อจะนำกลับมาเป็นปุ๋ยใส่บำรุงดินในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัญาหาดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดของชุมชนที่ทางเทศบาลจะได้เร่งทำความเข้าใจต่อไป
ด้านนายพัลลภ จิตรจง รองปลัดเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ กล่าวว่า ทางเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ ใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยการคัดแยกอย่างเป็นระบบ และชาวบ้านได้รับประโยชน์ ไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน โดยขยะในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ เป็นขยะชุมชนทั้งหมดประมาณวันละ 10 ตัน ทางบริษัทอัลเทอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด คัดแยกเป็นส่วนๆ แยกเป็นสัดส่วน โดยในส่วนที่เป็นดินเตรียมจัดทำเป็นปุ๋ยแจกจ่ายชาวบ้าน มีแร่ธาตุอาหารอย่างดี
ขณะที่นายธนวัน ปัญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลเทอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด กล่าวว่า สำหรับขยะที่ทางบริษัทฯ กำจัดเป็นขยะชุมชน หรือขยะที่มาจากครัวเรือนของชาวบ้าน ไม่มีขยะพิษ หรือขยะติดเชื้อ โดยทางบริษัททำการคัดแยกอย่างเป็นระบบ และขยะทุกอย่างมีมูลค่า ซึ่งทางบริษัทได้ลงทุนสร้างโรงงานกำจัดขยะด้วยวิธีการคัดแยกกว่า 50 ล้านบาท ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ จำนวน 5 ไร่ สามารถรองรับขยะได้ถึง 120 ตัน แต่ตอนนี้มีขยะป้อนเข้าโรงงานเพียงวันละประมาณ 20 ตัน ทั้งนี้ รอขยะจากท้องถิ่นที่ได้ทำสัญญา MOU กับเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ เพื่อจัดส่งขยะมายังโรงงานแห่งนี้ จำนวน 7 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการกำจัดขยะชุมชนแห่งนี้ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน ที่สำคัญเมื่อคัดแยกแล้วในส่วนที่เป็นดินสามารถทำเป็นปุ๋ยแจกชาวบ้านได้อีกด้วย โดยนักวิชาการยืนยันเรื่องแร่ธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืช และจัดเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของภาคใต้ตอนบนที่ใช้ระบบการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ และไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เริ่มกำจัดขยะด้วยวิธีการคัดแยกอย่างเป็นระบบ คือ เทศบาลตำบลเวียงสระ อ.เวียงสระ รองรับขยะได้ 40 ตัน อบต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน รองรับขยะได้ 170-190 ตัน แต่ทุกแห่งมีปัญหาเรื่องขยะไม่เพียงพอต่อการคัดแยก