xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยม! คนน่านต่อยอดธนาคารขยะ-รีไซเคิลกล่องนม นร.สานเสื่อ-กันสาดขายดิบขายดี(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - เปิดกรณีศึกษาชุมชนปลอดขยะยั่งยืน “บ้านเจดีย์ 2 เมืองน่าน” ต่อยอดธนาคารขยะ นำกล่องนม UHT ของเด็กนักเรียนในหมู่บ้านที่ขายไม่ได้ผลิตเป็นเสื่อ-กันสาดผืนงามบังแดดบังฝนกันเองในชุมชน จนมีคนเห็นสั่งทำ สั่งซื้อกันมากต้องสานแบบมือเป็นระวิง สร้างรายได้กลับชุมชนเป็นกอบเป็นกำ



วันนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่หมู่บ้าน ชุมชนทั้งในตัวเมือง และชนบท ส่วนใหญ่ยังต้องผจญกับปัญหาการกำจัดขยะ จนบางแห่งเกิดขยะล้นชุมชนขึ้น แต่ที่บ้านเจดีย์ 2 หมู่ 10 ต.เชียงกลาง อ.เชียงกลาง จ.น่าน นอกจากจะมีการตั้งธนาคารขยะขึ้นมาแก้ปัญหาได้แล้ว ยังต่อยอดนำขยะรีไซเคิลมาผลิตเป็นสินค้าออกขาย นำรายได้กลับเข้าชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งนี้ ได้ผุดไอเดียนำกล่องนม UHT ที่เด็กนักเรียนดื่มหมดแล้ว และมีจำนวนมากในตำบลมารีไซเคิล ใส่ไอเดียประดิษฐ์เป็นเสื่อรองนั่ง กันสาดบังแดด ตะกร้าใส่ของรูปแบบสวยงาม และทนทาน ช่วยลดปัญหาขยะในชุมชน และนำออกขายมีรายได้เข้าพัฒนาชุมชนอีกด้วย

นางละมัย เวทำ ที่ปรึกษาอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้านเจดีย์ 2 ต.เชียงกลาง อ.เชียงกลาง จ.น่าน เปิดเผยว่า หมู่บ้านเจดีย์ 2 มีทั้งหมด 160 หลังคาเรือน ถึงแม้จะเป็นชุมชนไม่ใหญ่มากนักแต่ก็ประสบปัญหาขยะที่นับวันเพิ่มปริมาณมากขึ้น และการทิ้งขยะเรี่ยราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะทางการเกษตร ขยะจากครัวเรือน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ก็กลายเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อชุมชน

ทางหมู่บ้านฯ จึงริเริ่มโครงการคัดแยกขยะ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาให้ชุมชนน่าอยู่จากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งคณะกรรมการขยะ ซึ่งมีหน้าที่ออกให้ความรู้ รณรงค์ และสาธิตการคัดแยกขยะให้แก่ทุกครัวเรือน ออกมาตรการห้ามเผาขยะ ซึ่งใครฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับ พร้อมกับเปิดจุดรับซื้อขยะในหมู่บ้านเดือนละครั้ง

นางละมัยบอกว่า หลังดำเนินการมาได้ 6 เดือนก็พบว่าคนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาขยะ ลงมือคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน โดยนำขยะสดไปหมักทำปุ๋ยรดต้นไม้ ส่วนขยะทั่วไปจะคัดแยกนำมาขาย ไม่พบขยะทิ้งเรี่ยราดในหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนสะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีขยะบางประเภทที่ไม่สามารถขายได้ และมีปริมาณมาก เช่น กล่องนม กล่องเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งหากเด็กๆ ดื่มนมคนละ 2 กล่องต่อวัน จะมีขยะกล่องนมเดือนละ 60 กล่อง หรือปีละ 720 กล่องต่อคน ถ้าเด็กในโรงเรียนร้อยคน ดื่มนมคนละ 2 กล่องต่อวัน จะมีขยะกล่องนมเดือนละ 4,400 กล่องทีเดียว และกล่องนม UHT มีส่วนประกอบอยู่หลายชั้น ทั้งกระดาษ อะลูมิเนียม ฟอยล์ และพลาสติก ซึ่งเป็นสารที่ย่อยสลายได้ยาก หากทำลายด้วยการนำไปเผาก็จะก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้นการรีไซเคิลจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดขยะและลดมลพิษ

ต่อมาทางกรรมการขยะ รวมถึงผู้นำหมู่บ้านจึงได้ไปศึกษาดูงานแนวทางการนำมารีไซเคิล ทำให้รู้ว่ากล่องนม UHT มีความคงทนแข็งแรง สามารถกันน้ำ และกันปลวกได้ดีอีกด้วย จึงนำความรู้ที่ได้กลับมาประดิษฐ์สานเป็นเสื่อรองนั่ง และกันสาด บังแดด-บังฝน โดยเริ่มแรกทำกันไว้ใช้ในหมู่บ้าน ปรากฏว่ามีคนสนใจสั่งทำ สั่งซื้อ จึงทำให้นอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะแล้ว ยังมีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนอีกด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น