บุรีรัมย์ - เทศบาลเมืองนางรอง จ.บุรีรัมย์ ยอมจ่ายวันละ 15,000 บาท ขนขยะวันละกว่า 30 ตันไปกำจัดที่เทศบาลสตึก หลัง ปทส.เข้าตรวจสอบเอาผิดเทศบาลที่นำขยะมาทิ้งฝังกลบใน สนง. ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นและเสี่ยงมลพิษ ด้านนายกเทศมนตรีฯ ยอมรับมีปัญหาสถานที่กำจัดขยะ หลังตั้งงบ 100 ล้านก่อสร้างบ่อกำจัดแต่ถูก ปชช.คัดค้าน
วันนี้ (15 มิ.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ร่วมกับหน่วยงาน เข้าตรวจสอบพื้นที่ภายในเขตเทศบาลเมืองนางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่าทางเทศบาลมีการลักลอบนำขยะที่จัดเก็บจากสถานที่ต่างๆ ภายในเขตเทศบาลมาทิ้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลังอาคารที่ทำการของเทศบาลโดยการขุดหลุมฝังกลบ ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนและก่อมลพิษเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียงมาเป็นเวลานานกว่า 7 เดือน
ล่าสุดหลังจากทางเทศบาลเมืองนางรองได้ประชุมร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 หน่วยงาน ได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยการใช้รถบรรทุกขยะจำนวน 4 คันขนถ่ายขยะที่จัดเก็บในเขตเทศบาลวันละกว่า 30 ตัน ไปกำจัดที่เทศบาลตำบลสตึก อ.สตึก ระยะทางกว่า 100 กม. ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะให้ทางเทศบาลตำบลสตึกวันละ 15,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้รถขนถ่ายขยะ และหากยังไม่มีแนวทางอื่นในการแก้ไข เทศบาลต้องแบกรับภาระในการขนขยะไปกำจัดที่เทศบาลสตึกเฉลี่ยปีละร่วม 10 ล้านบาท แต่ทางเทศบาลสามารถจัดเก็บค่าขยะจากประชาชนในชุมชนได้เพียงปีละ 600,000 บาทเท่านั้น
จากกรณีดังกล่าวทางเทศบาลได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังประชาชนทั้ง 13 ชุมชน ได้ร่วมกันคัดแยกขยะต้นทาง โดยขยะเปียกให้ประชาชนทำการฝังกลบกำจัดเอง ส่วนขยะแห้งหรือขยะทั่วไปทางเทศบาลจะดำเนินการจัดเก็บแล้วนำไปกำจัดที่เทศบาลตำบลสตึก เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะในอีกทางหนึ่งด้วย
นายมาโนช ตันเจริญ นายกเทศมนตรีเมืองนางรอง กล่าวว่า กรณีที่ทางเทศบาลต้องนำขยะมาทิ้งภายในบริเวณสำนักงานเทศบาลโดยใช้วิธีการฝังกลบนั้น สืบเนื่องมาจากสถานที่ทิ้งขยะเดิมที่เทศบาลเคยเช่าที่ของเอกชนในการฝังกลบขยะนั้นได้ฝังกลบเต็มแล้ว จากนั้นได้พยาบาลหาสถานที่ใหม่ที่ ต.สะเดา ในเขต อ.นางรอง ซึ่งได้ตั้งงบกว่า 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารและบ่อกำจัดขยะแบบฝังกลบไปแล้วบางส่วนแต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน ทำให้โครงการดังกล่าวต้องชะลอ
ทั้งยังระบุด้วยว่า แต่ละวันทางเทศบาลไม่ได้รับภาระดูแลเฉพาะขยะของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองนางรองเท่านั้น แต่มีประชาชนที่อยู่รอบนอกเขตเทศบาลก็ได้นำขยะมาทิ้งในเขตด้วยจึงทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นซึ่งหลังเกิดปัญหาดังกล่าวทางเทศบาลก็จำเป็นจะต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนนอกเขตนำขยะเข้ามาทิ้งในพื้นที่
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในระยะยาวนั้น ทางเทศบาลได้เร่งหาสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่หรือการใช้สถานีขนถ่ายซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าของเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ