xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ไปสมุย สอบปัญหาขยะ เหตุเตาเผาแตกใช้การไม่ได้ นายกชงแก้ กม.ชี้ทำงานลำบาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ตรวจฯ ลงพื้นที่สมุย สอบปัญหาขยะท่วม หลัง โรงเผาขยะร้าง เตาเผาแตกใช้การไม่ได้ นายกสมุย เตรียมทำประชาคมชาวบ้านหาแนวทางบริหารจัดการ 23 พ.ค. นี้ บ่น กฎหมายไม่เอื้อ - ทำงานลำบาก ชง ผู้ตรวจฯเสนอแก้ไขกฎหมายจัดเก็บภาษีขยะ พร้อมตรวจแนวก่อสร้างท่อประปา ส่งน้ำจากฝั่งขึ้นเกาะ เหตุ กระทบแนวปะการัง

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดย นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังเกี่ยวกับระบบกำจัดขยะบนพื้นที่เกาะสมุย ของโรงเผาขยะที่ ต.มะเร็ด อ.เกาะสมุย เนื่องจากเตาเผาขยะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2542 ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้ ทำให้มีขยะสะสมเป็นจำนวนมาก และส่งกลิ่นเน่าเหม็นกระทบต่อประชาชน 4,000 คน ใน 4 หมู่บ้าน

โดย นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเกาะสมุย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขี้น มาจากเตาเผาขยะไม่สามารถใช้การได้ตั้งแต่ปี 2555 สาเหตุมาจากการไม่แยกขยะ ทำให้ผนังเตาแตก จากนั้นเทศบาลนครเกาะสมุย ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการก่อสร้างบ่อฝั่งกลบขยะมูลฝอย แต่ยังมีขยะตกค้างอยู่ถึง 2 แสนตัน ในขณะที่ยังมีขยะเพิ่มขึ้นใหม่อีกวันละ 200 ตัน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางกลิ่นมาก เบื้องต้นเทศบาลได้ใช้น้ำอีเอ็ม จำนวน 4,000 ลิตรต่อวัน ฉีดพ่นเพื่อลดกลิ่น อีกทั้งพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดเหนือลม และใกล้ต้นแหล่งน้ำอีกด้วย

นายรามเนตร กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ค. นี้ จะมีการทำประชาคมประชาชนเพื่อสอบถามความเห็นถึงวิธีจำกัดขยะ 3 วิธี คือ จัดการขยะในพื้นที่เกาะสมุย โดยให้เอกชนบริหารจัดการ จัดการขยะโดยให้เอกชนนำไปกำจัดในพื้นที่อื่น และ กำจัดขยะโดยให้เทศบาลนครเกาะสมุย เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งจะให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจได้เต็มที่ และเป็นอิสระ แต่เท่าที่รับฟังความเห็นของประชาชนมีความต้องการให้นำขยะออกนอกพื้นที่ ทั้งนี้ การบริหารจัดการขยะในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากติดขัดที่ข้อกฎหมาย ทำให้การออกกฎระเบียบในระดับท้องถิ่นนั้นทำได้ยากด้วย

ด้าน นายศรีราชา กล่าวว่า ผู้ตรวจฯ จะได้ช่วยดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมายอาจเป็น พ.ร.บ. สาธารณสุข ในเชิงป้องกันตั้งแต่กระบวนการทิ้งขยะ เช่น การจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ประกอบการ การเพิ่มเพดานค่ากำจัดขยะ หรือ มาตรการคัดแยกขยะได้

ขณะที่ นายสมเชษฐ สมวงษ์ ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงโรงเผาขยะ หมู่ที่ 5 ในพื้นที่อ.สมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สิ่งที่กระทบกับชาวบ้าน คือ กลิ่นขยะ และแหล่งน้ำสายน้ำเล็ก ๆ ที่ไปรวมกันกับแม่น้ำสายใหญ่ เนื่องจาก น้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องใช้ดื่มและใช้ ทั้งนี้ สายน้ำที่ผ่านโรงเผาขยะมูลฝอยอาจจะไปไหลรวมกับน้ำสายอื่น ถ้าเกิดปัญหาช่วงฤดูฝนก็จะน่ากลัวมาก เพราะจะมีทั้งกลิ่นและสิ่งสกปรกไหลไปตามแม่น้ำสายเล็กที่ผ่านบ้านเรือนต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากสำหรับบ้านเรือนที่อยู่ใกล้โรงงานเผาขยะ

“ผมเคยมารับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำโรงงานเผาขยะ ตอนนั้นผมเห็นว่าโครงการดังกล่าวนี้ดีมาก เลยไม่ประท้วงอะไร แต่พอทำไปสักพัก ปรากฏว่า ไม่มีการคัดแยกขยะ มีทรายมีเหล็กโยนลงไปเผาพร้อมกันหมด มันก็พังในที่สุด เมื่อเกิดปัญหาขึ้นฝ่ายที่ควรแก้ไขก็ไม่ทำอะไร

นายสมเชษฐ กล่าวอีกว่า ขณะที่ปัญหาขยะตกค้างดำเนินการไม่ทันแล่ว ยังมีขยะเพิ่มเข้ามาทุกวัน เราก็กลัวเชื้อโรคที่มาจากขยะ แต่ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่ามาจากโรงขยะ ถ้าหากมีการจ้างบริษัทที่ดีมีคุณภาพมาจัดการโรงเผาขยะน่าจะแก้ไขปัญหาได้ แต่อยู่ที่ว่าทางเทศมนตรีจะมีการตัดสินใจอย่างไร ทั้งที่เห็นว่าจะมีการนำเอาขยะที่มีอยู่ไปไว้ที่อื่นนั้นไม่สมควร เพราะไม่ควรทำให้คนอื่นเดือดร้อน หากคิดที่จะทำก็ลงมือทำไปเลย อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวหากตั้งใจทำจริง คงแก้ไขได้ไปนานแล้ว แต่ที่เกิดความล้าช่าอาจจะมีผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ ส่งผลทำให้ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้สักที

จากนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินยังลงพื้นที่บริเวณอ่าวพังกา ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย เพื่อติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการระบบท่อส่งประปาลอดใต้ทะเล จากบนฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี มายัง อ.เกาะสมุย พร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการวางท่อประปาที่ต้องผ่านแนวปะการัง เนื่องจากมีพื้นที่การวางท่อครอบคลุม 5 อำเภอ คือ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.บุญพิน อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก และ อ.เกาะสมุย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปาบริเวณเกาะสมุย

นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การประปาส่วนภูมิภาคได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาแผนการดำเนินงานและว่าจ้างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ ไออีอีโครงการดังกล่าว ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการตามคำแนะนำของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และได้จัดทำการประชาคมครอบคลุมทุกพื้นที่ที่การประปาส่วนภูมิภาควางท่อผ่าน ทั้งนี้ การดำเนินการครั้งนี้มีความคืบหน้าแล้วทั้ง 3 ส่วน ตามแผนการก่อสร้าง ซึ่งตนได้กำชับผู้รับเหมาให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 ก.พ. 2560 ตามสัญญาที่ระบุไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุยนั้น ได้กำหนดแนวทางการวางท่อประปาเป็นแนวเดียวกับการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกด้วย

ขณะที่ นายศรีราชา ระบุว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ เกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่เติบโตเร็ว การใช้น้ำประปามีสูงเกินกว่าที่ได้วางแผนการใช้เอาไว้ แนวทางการหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณา คือ การแปรรูปน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดเหมือนประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นเกาะเหมือนกันจะดีกว่าหรือไม่ แต่ทั้งนี้ น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้น การดำเนินการเช่นนี้ก็ถือเป็นวิธีทางหนึ่งเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ บางครั้งเราต้องแลกบางอย่างเพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขอฝากไว้ด้วยว่า จะทำอะไรต้องคำนึงถึงประชาชนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น