xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลากไส้ MOU-ใบเสร็จค่าเก็บขยะ7 พันแห่ง สอดรับโรดแมป"แผนแม่บทขยะ"5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ หลังจากส่งไปให้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า “เนื่องจากกฎหมายเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี 2535 ไม่ทันสมัย เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำกฎหมายไปแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่มีในพื้นที่อย่างเร่งด่วน และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ไปพิจารณาดำเนินการจัดทำกฎหมายเฉพาะในการบริหารจัดการขยะ”
 

โดยร่าง พ.ร.บ. นี้มีสาระสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ปี 2535 เช่น ให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอย กำหนดค่าธรรมเนียมในการให้บริการให้ส่วนราชการท้องถิ่นมีอำนาจนำปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บไปใช้หรือหาประโยชน์ได้ โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการเก็บ ขน กำจัด หรือหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ร่างฉบับนี้ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ครม.รับหลักการ กำหนดให้การทำการเก็บ ขนกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่น โดยให้เทศบาล อบต. ดำเนินการในพื้นที่ของตน โดยจะทำร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือเอกชน หรือมอบอำนาจให้หน่วยงานเหล่านี้ดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน กำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยแทน และ พ.ร.บ.นี้มิให้ใช้บังคับการจัดการของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน มูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยที่เป็นพิษ หรืออันตรายจากชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข
 
นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินกิจการรับทำการเก็บขน กำจัด หรือการหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย โดยทำเป็นธุรกิจ หรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการคัดแยก เก็บ ขน กำจัด และให้ท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการจัดการรักษาความสะอาดและการจัดระเบียบในการคัดแยก เก็บ ขน

ทั้งนี้ จะมี “คณะกรรมการกำกับการบริหารการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของราชการส่วนท้องถิ่น”ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ พิจารณากลั่นกรองแผนงาน โครงการที่อยู่ในแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด เสนอของบประมาณ เห็นชอบแผนงาน ขอตั้งงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งให้ท้องถิ่นจัดทำแผนงานโครงการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเสนอต่อจังหวัด ให้จังหวัดจัดส่งแผนปฏิบัติการการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นอกจากนั้นยังกำหนดโทษกรณีดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน กำจัด หรือการหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ โดยทำเป็นธุรกิจ หรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นต้น

“ตามกฎหมายปี 2535 ปกติจะมีเอกชนเข้าไปเก็บขยะแล้วเก็บเงิน แต่ต่อไปนี้ทำไม่ได้ เว้นเสียแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่ท้องถิ่นก็ต้องไปรับหน้าเสื่อเอาเองว่า วันข้างหน้าจะได้รับการคัดเลือกเลือกเข้ามาอีกหรือไม่ และกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดบทลงโทษด้วยถ้าใครไม่ปฏิบัติตามมีทั้งโทษจำคุก 3 เดือน และปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท”

ข้างต้นคือรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 “กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น”ได้มีคำสั่งด่วนที่สุด ไปยังท้องถิ่นจังหวัด 76 จังหวัด เพื่อสรุปข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายการเก็บขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล อบต.) โดยแยกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก เป็นข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน รวมถึงค่าใช้จ่าย เงินเดือน เงินล่วงเวลา ค่าสวัสดิการ เชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะ ค่าซ่อมรถจัดเก็บขยะ ค่างบลงทุนรถเก็บขยะมูลฝอย ระหว่างปี 2558 และ ส่วนที่สอง เป็นข้อมูลค่าใช้จ่ายสาธารณะ ลงลึกไปถึง “เงินเดือนพนักงานเก็บกวาดถนน” “ค่าใช้จ่ายรถกวาดดูดฝุ่น” และล่วงถึงไปถึงแม้กระทั่ง “ค่าถังขยะ”ที่ อปท.ใช้อยู่
 
พูดง่ายๆ คำสั่งนี้ก็คือขอร้องให้ "อปท.ทั่วประเทศ" เอาใบเสร็จที่ไปลงนามบันทึกความร่วมมือ( MOU)กับ "บริษัทจัดเก็บขยะเอกชน" 7,000 กว่าแห่งมาส่งอย่างเร่งด่วน จากข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบัน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,441 แห่ง แบ่ง เป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,334 แห่ง และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (เมืองพัทยา) 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,852 แห่ง

การขอให้ อปท.ส่งข้อมูลดังกล่าวมายังกระทรวงมหาดไทยนั้น สอดคล้องกับเมื่อ วันที่ 3 มิถุนายน 2559 ที่ กระทรวงมหาดไทย สั่งมายังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สั่งการไปยัง อปท.ทั่วประเทศ ระงับหรือชะลอการลงนาม MOU กับบริษัทเอกชน (จัดเก็บขยะ) ไว้ก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับนี้บังคับใช้และอาจทำให้ข้อตกลง (MOU)ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าวได้

ต่อมา 3 สิงหาคม 2559 หลังจาก กระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมกับท้องถิ่นให้เรื่องแผนการจัดเก็บขยะ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด มายังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ตามแผน “จังหวัดสะอาด”ในระดับจังหวัด อำเภอ และ อปท. ตามแผน “แม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) งบประมาณดำเนินการรวม 50,000 ล้านบาท ที่สองกระทรวง คือ พบว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาดไทย และกรมควบคุมมลพิษ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำ และย้ำคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งการมายังผู้ว่าฯ ให้ดำเนินการตามแผน “ประเทศไทยไร้ขยะ ตามแนวทางประชารัฐ ระยะ 1 ปี” ตามหลักการ 3Rs คือ ใช้น้ำน้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่

โดยรัฐบาลมีเป้าหมายลดปริมาณขยะร้อยละ 5 จากการเก็บขยะมูลฝอยทั่วประเทศของปี 2559 ตั้งเป้าหมายทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมลดและคัดแยกขยะไว้ 100% ตั้งเป้าชุมชนใช้หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เป็นต้นแบบร้อยละ 40 ตั้งเป้าชุมชนตั้ง “จุดรวบรวมขยะอันตราย 100%” ตั้งเป้ากำจัดกาอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายร้อยละ 70 และมูลฝอยติดเชื้อ ร้อยละ 85 และสุดท้ายขอให้ผู้ว้าราชการจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ (MOU) กับ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

เรื่องนโยบายขยะนี้ ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำร่องในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, ลพบุรี, สระบุรี, ปทุมธานี โดยเฉพาะใน จ.อยุธยา ที่คสช. เข้ามาของบฯ ไปกำหนดแผนเพื่อดำเนินการจัดทำ “หลุมฝังกลบ”รวมถึง “แผนสร้างโรงไฟฟ้า”ขึ้นมารองรับ มีการกำหนดอัตราเก็บค่าจัดการ (เฉพาะโรงฟ้า) ที่อัตรา 250 บาท/ตัน แต่แผนทั้งหมดยังมีปัญหาที่ “ท้องถิ่น”ไม่ต้องการเสียเงิน

แต่ต่อมาก็มีการออกคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมในกิจการบางประเภท ประกอบด้วย 1. โรงไฟฟ้า 2. โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ 3. โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม (โรงบำบัดน้ำเสีย/เตาเผาขยะ) 4. โรงงานคัดแยกและฝังกลบ 5. โรงงานเพื่อการรีไซเคิลทั้งหมดนี้รองรับ“แผนสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ”ในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น