xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด” จี้ อบต.คู ยกเลิกการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีนใช้พื้นที่ หวั่นกระทบชุมชนหลายด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทาง อบต.คู ยกเลิกการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้พื้นที่และหยุดโครงการอย่างถาวร หวั่นส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม
 
 
วันนี้ (2 ก.ย.) เครือข่ายประชาชนในนามกลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ทาง อบต.คู เร่งพิจารณาเพื่อยกเลิกการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้พื้นที่ และหยุดโครงการอย่างถาวร ทั้งนี้ กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิดฯ หวั่นหากยังมีการดำเนินโครงการต่อไปแล้วนั้นจะส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม
 

 
กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 2 กันยายน 2559
เนื่องด้วยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ ขึ้นในพื้นที่หมู่ 3 ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย หมู่บ้าน 34 หมู่บ้าน, มัสยิด 12 แห่ง, โรงเรียน 8 โรง และวัด 3 แห่ง ใน 8 ตำบล ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ
 
ปัญหาเริ่มโครงการ
1.ปัญหาความแตกแยกของชุมชน และสังคมปัจจุบันนี้ แม้ว่าโครงการยังอยู่ในระยะเริ่มต้นก็ตาม แต่ส่งผลกระทบให้ชุมชนเกิดความแตกแยก ทั้งในระดับผู้นำชุมชนกับผู้นำชุมชน ชาวบ้านกับผู้นำ และชาวบ้านกับชาวบ้าน ประชาชนในพื้นที่จะถูกแยกออกจากกัน เพื่อเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ทำให้ชุมชนอ่อนแอ แยกกันเพื่อจัดการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือของโรงไฟฟ้า
 
2.การใช้ไฟฟ้าของ จ.สงขลา ปัจจุบัน จ.สงขลา ใช้โรงไฟฟ้าเพียง 450 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจะนะ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,460 เมกะวัตต์ ถือว่าเกินความจำเป็น จ.สงขลา มีความเพียงพอในการผลิตไฟฟ้าแล้ว จ.สงขลา เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ มีทั้งป่าเขา แม่น้ำ ทะเล ทุ่งนา และประชาชนในพื้นที่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ซึ่งต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
 
ปัญหาหลังจากมีโครงการ ถ้าหากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้เกิดขึ้นได้ คาดว่าจะเกิดปัญหาต่อไปนี้คือ
1.ปัญหาน้ำ
1.1 น้ำเสีย ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานไฟฟ้า ที่จะมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำที่อยู่ด้านหลังโรงงาน คือ แม่น้ำสะกอม ที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากบางสะกอม เมื่อน้ำเสียแล้วจะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำ ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มหนึ่งจาก ต.คู ท่าหมอไทร บ้านนา และ ต.สะกอม มีการจับสัตว์น้ำขายเป็นอาชีพเสริม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
 
1.2 ขาดน้ำ เพราะโรงไฟฟ้าจะใช้น้ำปริมาณมากในกระบวนการผลิต จึงต้องเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอโดยการขุดบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้น้ำใต้ดินแห้ง ส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม ทำให้น้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง กระทบพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ติดกับโรงไฟฟ้า คือ บ้านนายำ หมู่ที่ 3 ต.คู จำนวน 928 คน, บ้านคูศักดิ์สิทธิ์ หมู่ 4 ต.คู จำนวน 802 คน, บ้านพ้อแดงหมู่ 2 ต.คู จำนวน 1,209 คน, บ้านปลักพ้อ หมู่ 9 ต.คู 588 คน, บ้านแพร้ว หมู่ 8 ต.ท่าไหมอไทร จำนวน 283 คน, โรงเรียนบ้านโหนด จำนวนนักเรียน 90 คน และโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ จำนวนนักเรียน 730 คน
 
1.3 น้ำท่วม บริเวณพื้นที่โครงการซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นแก้มลิงที่รองรับมวลน้ำขนาดใหญ่จาก อ.นาทวี การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจะต้องถมดินให้สูง ซึ่งน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หรือ 3 เมตร เมื่อถึงฤดูฝนจะทำให้น้ำที่ไหลมาจาก อ.นาทวี เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ ต.คู, ต.แค, ต.น้ำขาว และ ต.ขุนตัดหวาย คลอบคลุมพื้นที่โดยกว้าง และนานกว่าเดิม นอกจากที่น้ำจะท่วมขังพื้นที่กุโบร์ (ที่ฝังศพของพี่น้องมุสลิม) ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีอายุยาวนานนับร้อยปี และเป็นที่ฝังศพของบรรพบุรุษของพี่น้องใน ต.คู และตำบลใกล้เคียง
 
2.ปัญหาเสียงดัง
ในการก่อสร้าง และกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะมีเสียงดัง กระทบต่อพี่น้องประชาชน และการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด 8 โรง โดยเฉพาะ โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ซึ่งเป็น “โรงเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน” ชาวบ้าน และรัฐได้ร่วมกันพัฒนามากว่า 30 ปี เสียงที่ดังย่อมทำให้ปริมาณนักเรียนน้อยลงไป ในที่สุดโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ก็จะกลายเป็นโรงเรียนที่มีแต่อาคาร แต่ไม่มีนักเรียน เหมือนโรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่โรงไฟฟ้าเพียง 100 เมตร เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 730 คน บุคลากร 61 คน
 
3.ปัญหาฝุ่นละอองขี้เถ้าของโรงไฟฟ้า
ในกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าจะมีฝุ่นละอองขี้เถ้าที่เป็นกากของเสียที่ถูกปล่อยออกมา ซึ่งเป็นผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และอื่นๆ ตามมา อีกทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (particle Mass < 2.5 micron) หรือเรียกย่อว่า PM 2.5 นั้น ปะปนอยู่ด้วย เมื่อเข้าสู่ปอด ผ่านสู่กระแสเลือด จะนำสารก่อมะเร็งเข้าไปสะสมในอวัยวะต่างๆ สะสมที่อวัยวะส่วนไหน นานเข้าก็จะกลายเป็นมะเร็งในส่วนนั้นด้วย
 
4.ปัญหาเศรษฐกิจของชุมชน
พื้นที่รอบโครงการเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมที่อาศัยน้ำฝน น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำชลประทานบางส่วน บางเวลา ถ้าหากมีโรงไฟฟ้า ทางโรงไฟฟ้าก็จะจัดเก็บน้ำจากในลำคลองไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็จะดูดน้ำใต้ดิน ต่อไปน้ำใต้ดินก็จะแห้งจนส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง
 
5.ปัญหาความร้อนในอากาศ
ความร้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกสู่อากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตของพี่น้องประชานชนโดยตรง และส่งผลต่อสวนยาง ทำให้หน้ายางแห้งเร็วขึ้น น้ำยางปริมาณจะน้อยลง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง รายได้ไม่พอต่อค่าครองชีพ การศึกษาของบุตรหลาน เป็นต้น
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา จึงคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน และขอเรียกร้องให้ทาง อบต.คู ยกเลิกการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้พื้นที่ เพื่อหยุดโครงการดังกล่าวอย่างถาวร
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น