xs
xsm
sm
md
lg

นอภ.หนองจิกรุดแก้ปัญหาปลาในกระชังตายเกลื่อนนับแสนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - นายอำเภอหนองจิก รุดแก้ปัญหากรณีปลาในกระชังนับแสนตัวตายเกลื่อน เสียหายกว่า 10 ล้านบาท หลังชลประทานงดปล่อยน้ำจากสภาวะน้ำแล้ง เผยการชดเชยของทางราชการไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงปลากระชังในพื้นที่ห้ามเลี้ยง

วันนี้ (19 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จากชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ ม.1 บ.ดาโต๊ะ ต.ดาโต๊ะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่า ในขณะนี้ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชั่งกว่า 100 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขาดออกซิเจนทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ทยอยตายกันเป็นจำนวนมาก

เมื่อลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพบว่า เป็นกระชังเลี้ยงปลาทับทิมของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้ตามคลองส่งน้ำของชลประทานจังหวัดปัตตานี ทีเลี้ยงติดกันเป็นทางยาว กว่า 200 กระชัง โดยชาวบ้านหลายรายกำลังตักปลาที่ตายในกระชังใส่กระสอบเพื่อนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ บางส่วนก็ต้องนำเอาไปกลบฝัง เนื่องจากปลาเริ่มเน่า และส่งกลิ่นเหม็น ส่วนปลาที่ยังไม่ตาย และเริ่มอ่อนแอ ชาวบ้านก็จะรีบตักขึ้นมาเพื่อนำออกไปขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนมาก ซึ่งชาวบ้านบางรายไม่สามารถตั้งราคาได้ แล้วแต่ผู้ซื้อว่าจะซื้อในราคาเท่าไหร่ ซึ่งพบว่าปลาในกระชังที่ล้มตายในครั้งนี้กว่า 1 แสนตัว เสียหายกว่า 10 ล้านบาท สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
 

 
นายอับดุลมูตอเล็บ เจ๊ะเลาะ ผู้เลี้ยงปลากระชังเปิดเผยว่า สาเหตุที่ปลาตายเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ก็เกิดจากคลองชลประทานไม่มีการปล่อยน้ำลงสู่คลอง ทำให้ปลาเกิดอาการช็อกเนื่องจากขาดออกซิเจน ทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ทยอยตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะเร่งนำเครื่องทำออกซิเจนมาติดตั้งอย่างเร่งด่วนแต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากระดับในลำคลองลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา จะมีการแจ้งเตือนจากคลองชลประทานจังหวัดปัตตานี ว่า ให้รีบนำปลาขึ้นจากกระชั่ง และงดนำพันธุ์ปลาลงในกระชังในช่วงนี้ เนื่องจากเขื่อนบางลางมีน้ำไม่เพียงพอในการระบายน้ำลงสู่คลอง

แต่ก็สายเกินไป เนื่องจากชาวบ้านได้นำพันธุ์ปลาลงกระชังก่อนหน้านั้นแล้วกว่า 1 เดือน ส่วนปลาที่มีอยู่ก็ไม่สามารถนำขึ้นมาได้เพราะขนาด และน้ำหนักยังน้อย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงจำเป็นต้องเลี้ยงปลาในกระชังต่อไป เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทำให้ตอนนี้เดือดร้อนมาก เนื่องจากต้องแบกภาระหนี้สินทั้งเรื่องพันธุ์ปลา อาหารปลา เป็นจำนวนมาก จึงอยากวอนทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาถึงแม้จะไม่ได้เต็มจำนวน ก็ขอเพียงบางส่วนเพื่อจะได้นำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้ต่อไป

ส่วนทางภาครัฐหลายภาคส่วนหลังจากทราบเรื่อง ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย ทั้ง นายเอก ยังอภัยย์ นายอำเภอหนองจิก ตัวแทนจาก ศอ.บต. เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ประมงอำเภอหนองจิก เพื่อรวบรวมข้อมูล และความเสียหาย และหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป
 

 
โดย นายเอก ยังอภัยย์ นายอำเภอหนองจิก กล่าวว่า ในคลองแห่งนี้ทางกรมชลประทานได้ประกาศเป็นเขตห้ามเลี้ยง หรือปลูกสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ เพราะเป็นคลองสำหรับใช้ในการระบายน้ำ เพราะฉะนั้น ในการเลี้ยงปลาทางประมงไม่สามารถอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์น้ำในคลองแห่งนี้ได้ ซึ่งชาวบ้านทราบกันดี แต่ชาวบ้านใน อ.หนองจิก นอกจากทำเกษตรเป็นหลักแล้วก็ต้องหารายได้เสริม หลายคนไม่อยากไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย อยากอยู่กับครอบครัว จึงเลือกอาชีพทำปลากระชัง ซึ่งทำกันมาตั้งนานแล้ว 

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นวันนี้ก็ต้องมาคุยกันว่า จะต้องมีการควบคุมปริมาณการเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งในระยะยาวจะมีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิดอาชีพต่อชาวบ้านในพื้นที่ จึงจำเป็นจะต้องมีการขุดคลองอีกสายหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับการเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจพื้นที่บ้างแล้ว ส่วนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็จะต้องลงมาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเบื้องต้น จะมีการเจรจากับเจ้าหนี้ หรือนายทุนที่จำหน่ายทั้งพันธุ์ปลา และอาหารปลา ซึ่งตนจะช่วยเป็นผู้ประสานงานในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน ทั้งทางด้านธนาคาร ธ.ก.ส.หรือแหล่งทุนต่างๆ ที่พอจะช่วยเหลือได้ ส่วนการชดเชยของทางราชการไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงปลากระชังในพื้นที่ห้ามเลี้ยง วันนี้จึงลงมารับฟังปัญหา และมาเจรจาสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านเลี้ยงปลากระชัง โดยชาวบ้านเข้าใจและจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

ด้าน นายสวัสดิ์ สุขคง หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 กล่าวถึงสาเหตุของการงดปล่อยน้ำลงสู่คลองชลประทานในครั้งนี้ เนื่องจากสภาวะแห้งแล้งที่ติดต่อยาวนานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนบางลางลดน้อยลง ล่าสุดเหลือเพียง 187 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการกักเก็บน้ำไว้สำหรับบริโภค และใช้ในยามฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น