xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ. โชว์ความพร้อมสู้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.
ธนรัชต์ ภุมมะกสิกร
สถานการณ์วิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการเตรียมพร้อมวางแผนและรับมือไว้ก่อนหน้า “ธนรัชต์ ภุมมะกสิกร” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เผยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และกฟผ.เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ พร้อมหนุนทุกภาคส่วนใช้น้ำตามหลัก 3 R
ธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าสถานการณ์น้ำแล้งได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา กฟผ.จึงเตรียมพร้อมวางแผนรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยจัดประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำ และดำเนินการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตามมติคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กฟผ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการ กรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยร่วมกันติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผล เพื่อเตรียมแผนรับมือสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งอย่างใกล้ชิด มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์


กฟผ.ให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตภัยแล้ง โดยการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนในพื้นที่รอบเขตเขื่อน และโรงไฟฟ้าต่างๆ ของกฟผ. มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558
ช่วงที่ผ่านมา กฟผ.ให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตภัยแล้ง โดยการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนในพื้นที่รอบเขต เขื่อน และโรงไฟฟ้าต่างๆ ของกฟผ. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558-มกราคม 2559 กว่า 14,000 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นปริมาณเท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกราว 6 สระ
ธนรัชต์ กล่าวว่า ทางกฟผ.จะยังเดินหน้าแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้ถึงมือประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาทุกข์ภัยแล้งในปีนี้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนคนไทยทุกคนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุดตามหลัก 3 R ได้แก่ Reduce Reuse Recycle หรือลด ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่
พร้อมกันนี้ กฟผ.ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบ แก่ภาคประชาชน ภาคเกษตรกรรม และทุกภาคส่วนโดยรอบเขื่อนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางเตรียมการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนทั่วประเทศที่สามารถนำมาใช้งานได้ แต่ก็มีปริมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และอาจไม่เพียงพอต่อภาคเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร งดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง งดสูบน้ำและปิดกั้นลำน้ำ ไม่ปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำต่างๆ รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วไปในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการใช้อุปโภคบริโภค แต่ย้ำว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างแน่นอน เพราะสัดส่วนการใช้น้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
กฟผ. จะดำเนินการระบายน้ำตามมติคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ภายใต้แผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 จากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวม 4,247 ล้านลบ.ม. ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ รวม 4,748 ล้านลบ.ม. และลุ่มน้ำพอง (เขื่อนอุบลรัตน์) มีปริมาณน้ำต้นทุน เพียง 230 ล้านลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำพอง อันเป็นสถานการณ์ที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนในแต่ละเขื่อนของกฟผ. ได้มีการระดมความช่วยเหลือภัยแล้งแก่ชุมชนโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ และวางแผนการระบายน้ำในฤดูแล้ง ให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2559 ที่จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำวันละ 5 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำวันละ 10 ล้านลบ.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ ระบายน้ำวันละ 7 ล้านลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ์ ระบายน้ำวันละ 9 ล้านลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ ระบายน้ำวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น
ติดตามสถานภาพน้ำในเขื่อนต่างๆ ล่าสุดที่ http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/egat_dam.php
นอกจากนี้ กฟผ.ได้ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง โดยรณรงค์ให้พนักงานกฟผ. ใช้น้ำอย่างประหยัด ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลงอย่างน้อยร้อยละ 10 สอดคล้องกับเป้าหมายที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด ใช้แนวทางตามหลัก 3R คือ 1. การลดใช้น้ำ (Reduce) 2. การใช้ซ้ำ (Reuse) 3. การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยกฟผ.ขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำตั้งแต่วันนี้ เพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตภัยแล้งนี้ไปด้วยกัน

“วิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ สาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แต่ “ธรรมชาติ” ก็ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยเรามาแล้วจากหลายปัจจัย ตั้งแต่กลางปี 2558 จึงถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่เตือนให้เรารู้ว่า ขาดน้ำเราอยู่ได้ แต่อยู่ตลอดไปคงไม่ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น