ในที่สุดเรื่องของการก่อวินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนก็เดินทางมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ว่า “เมื่อความจริงปรากฏ การโป้ปดก็หมดไป” เมื่อ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล รอง ผบ.ตร.ระบุชัดเจนว่า มีผู้ร่วมในขบวนการ จำนวน 17 คน
ในขณะที่ตัวเลขจากรายงาน “แกะรอยป่วน 7 จ.ใต้ (1)” ระบุไว้ว่านับได้ 13 คน ซึ่งเป็น “มือวางระเบิดและวางเพลิง” โดยไม่นับ “แพะ” ที่เป็นผู้อยู่ในกลุ่มก๊วนฝ่ายการเมืองของ “คนเสื้อแดง” ในภาคใต้ก็จาก จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการวางระเบิด และการวางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้
โดยแหล่งข่าวในชุดทำงานของฟากยุทธจักรตราโล่เองเปิดเผยว่า ตำรวจอยู่ในสภาพของการ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เมื่อควบคุมตัวคนเหล่านี้มาเค้นแล้วก็ยากปล่อยกลับไปโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา เพราะหากทำเช่นนั้นตำรวจอาจจะต้องถูกฟ้องกลับได้
เพราะฉะนั้นวิธีการของตำรวจคือ ต้องหาข้อหาให้ได้ แม้ว่าจะไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน หรือมีแต่ไร้น้ำหนักก็ตาม ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการ “กันเอาไว้ก่อน” เพราะสุดท้ายแล้วหลักฐานพอฟ้อง หรือไม่พอฟ้อง ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ แต่เป็นเรื่องของอัยการ และศาล
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในบรรดาผู้ต้องหาทั้ง 17 คนที่ตำรวจพยายาม “จับแพะ ชนแกะ” เพื่อออกหมายจับนั้น ไม่มีคนที่เป็นมือวางระเบิด และมือวางเพลิงจริงๆ ส่วนกลุ่มที่ปฏิบัติการจริงเวลานี้ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แม้แต่คนเดียว เพราะได้หลบหนีไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว
โดยในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการจริงนี้ ถ้าตรวจสอบรายชื่อของผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับแล้วก็จะพบว่าต่างเป็น “ผู้ต้องหาหน้าเดิมๆ” ที่มีหมายจับใน ป.วิอาญา และหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในข้อหาก่อการร้ายอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ก่อนแล้ว
ส่วนแหล่งข่าวจากกองพิสูจน์หลักฐาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบดินระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุร้ายครั้งนี้ พบว่า เป็นแบบเดียวกับดินระเบิดที่ “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน” เคยใช้ก่อเหตุระเบิดในพื้นที่ จ.ยะลา มาก่อน โดยเป็นระเบิดขนาดเล็ก ซึ่งยืนยันได้ว่า ผู้ก่อการร้ายทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ “บีอาร์เอ็น”
สำหรับผู้ต้องหาที่ตำรวจ และทหารบุกรวบตัวจากบ้านพักของภรรยาในโรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 17 ที่ผ่านมานั้นคือ “นายการิม โต๊ะมะ” เป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมกลุ่มขบวนการก่อการร้ายเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ “นายมูหะมัดรุสดี ปาเมาะ” ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมมาจากบ้านเช่าแห่งหนึ่งที่ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.นั่นเอง
การจับกุม “นายการิม โต๊ะมะ” ก็มาจากการเค้นสอบ “นายมูหะมัดรุสดี” ถึงผู้ร่วมขบวนการการก่อเหตุระเบิดในพื้นที่ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2556 โดยทั้ง 2 คนไม่ได้เกี่ยวข้องต่อการวางระเบิด และวางเพลิงหนล่าสุดใน 7 จังหวัดครั้งนี้แต่อย่างใด
แต่เป็นกระบวนการสืบสวนที่พยายามเค้นสอบเพื่อหา “ความเชื่อมโยง” และรายละเอียดของ “กลุ่มคน” ที่เดินทางออกไปจาก จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี แล้วไปวางเพลิงในพื้นที่ 7 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีการถนัดของตำรวจที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
ในขณะที่แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า “นายอาหะมะ เล็งหะ” ซึ่งเป็นผู้ที่กองพิสูจน์หลักฐานเก็บดีเอ็นเอได้ในที่เกิดเหตุระเบิดที่หาดป่าตอง อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต นั้น ถือเป็น “บุคคล 2 สัญชาติ” โดยมีชื่อในบัตรประชาชนฝั่งประเทศมาเลเซียว่า “รุสดี บิน โมฮัมเหม็ด” และระบุถิ่นที่พักอาศัยอยู่ที่ “รัฐกลันตัน”
ด้านแหล่งข่าวจากตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า การก่อเหตุใน 7 จังหวัดภาคใต้ของไทยนั้น มีคนในขบวนการบีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลัง โดยบีอาร์เอ็นนำเอาประเด็นการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญของไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อ “ศาสนา” และ “การศึกษา” ไปใช้เป็นเงื่อนไขปลุกระดมต่อชาวไทยมุสลิม
อันนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ด้วย โดยมีการวางแผนกันตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีการประชุมกำหนดแผนการก่อการร้าย กำหนดเป้าหมายในการก่อวินาศกรรมในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งตรงกับ “วันเยาวชน” ของบีอาร์เอ็น
ทั้งนี้ เป้าหมายของบีอาร์เอ็นไม่ได้ต้องการก่อวินาศกรรมด้วยความรุนแรง เพียงแต่ต้องการ “ทดสอบการปฏิบัติการนอกพื้นที่ของสมาชิก” และต้องการ “เขย่ารัฐบาลไทย” เพื่อดิสเครดิต และบอกนัยบางประการให้รับทราบเท่านั้น
ภายหลังเกิดเหตุ และเมื่อสื่อหลายสำนักรายงานข่าว โดยเฉพาะ “สื่อตะวันตก” วิเคราะห์ว่า ระเบิดและการวางเพลิงครั้งนี้เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น ปรากฏว่า “ฝ่ายโฆษณา” ของบีอาร์เอ็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำการปฏิเสธกับมวลชนในพื้นที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของบีอาร์เอ็น แต่เป็นการสร้างสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย เพื่อที่จะได้กวาดล้างฝ่ายที่เห็นต่างหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคงวิเคราะห์ว่า การที่บีอารเอ็นโฆษณาชวนเชื่อด้วยวิธีนี้เป็นการพยายาม “ตอกลิ่ม” ให้เกิดความแตกแยก หรือให้เกิด “ช่องว่าง” มากขึ้นระหว่างคนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยบีอาร์เอ็นจะได้ผลประโยชน์ในเรื่องของ “มวลชน”
หน่วยข่าวในพื้นที่ได้แจ้งเตือนว่า การที่เจ้าหน้าที่จับกุมคนในพื้นที่แบบ “เหวี่ยงแห” สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นเงื่อนไขให้มีการก่อการร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกระลอก โดยมีการพบว่า “แนวร่วม” ในพื้นที่มีแผนในการก่อเหตุร้ายในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือน ส.ค.นี้ เพื่อตอบโต้แทนกลุ่มคนที่ถูกจับแบบเหวี่ยงแหจากสาเหตุก่อวินาศกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้
รวมถึงมีการแจ้งเตือนว่า “จ.สงขลา” คือ เป้าหมายหนึ่งของการที่จะก่อเหตุวินาศกรรม
ทั้งนี้ สายข่าวฝ่ายความมั่นคงรายงานว่า มีแนวร่วมจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 3-5 คน ได้อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ที่หมู่บ้านริมทะเลแห่งหนึ่งใน ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งสายเข้าตรวจสอบกลับพบว่า มีการหลบหนีออกจากพื้นที่ไปแล้ว
เช่นเดียวกับสายข่าวใน อ.สะเดา จ.สงขลา ตรวจพบความผิดปกติในพื้นที่ ต.สำนักขาม และ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งมีคนใน จ.ปัตตานี ผู้เป็นนักธุรกิจค้ารถยนต์มือสอง ได้ติดต่อขอซื้อรถยนต์ทั้งกระบะ และเก๋งเก่าๆ ที่เจ้าของเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ทายาท หรือบุคคลอื่น โดยให้ราคาสูงผิดปกติ
อันเชื่อว่าจะมีการนำรถยนต์เก่าเหล่านี้ไปประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” เพราะการ “ปล้นชิงรถยนต์” ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เวลานี้ทำได้ยากขึ้นแล้วนั่นเอง