คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
“เมื่อมีการนำสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาอะไรก็ตาม คนเรามักจะตอบสนองด้วยความรู้สึก 3 ขั้นตอน คือ หนึ่ง เฉยๆ ไม่สนใจ สอง สงสัยและคัดค้านอย่างแข็งขันเอาจริงเอาจัง และสุดท้าย คนที่เคยคัดค้านและสงสัยอย่างแข็งขันนั้นจะกลับมาเป็นฝ่ายสนับสนุนการริเริ่มของคำตอบใหม่ดังกล่าว”
คำพูดดังกล่าวเป็นของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของประเทศเยอรมนี (Arthur Schopenhauer, 1788-1860) ซึ่ง ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ อดีตประธานสมาคมพลังงานหมุนเวียนโลก ได้นำมาอ้างในการกล่าวปราศรัยในเวทีองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2005 เรื่อง “คิดใหม่กระบวนทัศน์พลังงาน”
แต่ ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ก็ได้เพิ่มเติมความเห็นทั่วไปของนักปรัชญาข้างต้นว่า “แต่เรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไม่ได้เป็นตามที่นักปรัชญาคนสำคัญกล่าว ทุกวันนี้ ทุกคนต่างก็ชื่นชมพลังงานหมุนเวียน แต่ขณะเดียวกัน พวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลก็พยายามขัดขวางอย่างต่อเนื่องด้วยข้อแก้ตัวต่างๆ นานา”
ข้อแก้ตัวที่เราได้ยินกันบ่อยๆ มี 4 ประการ คือ “พลังงานหมุนเวียน มีน้อย แพง ไม่เสถียร และเป็นไฟฟ้าหลักไม่ได้” ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงอย่างกระชับพร้อมกับหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้
หนึ่ง พลังงานหมุนเวียนมีน้อย
ในปี 2558 ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกันได้มากกว่าไฟฟ้าทุกชนิดที่ประเทศไทยใช้
นี่หรือครับที่เขาแก้ตัวว่าพลังงานหมุนเวียนมีน้อย ทั้งๆ ที่เยอรมนีมีแสงแดด และชีวมวลน้อยกว่าประเทศไทยเราเยอะเลย
ขณะนี้ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 32.5% โดยมีเป้าหมายจะให้ถึง 45% ในปี 2030 และสูงกว่านี้อีกในปีต่อๆ ไป
ลงมาที่ปัญหาขัดแย้งกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่ทางกลุ่ม “ปกป้องอันดามัน” ได้เสนอให้จังหวัดกระบี่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% จากผลงานงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งเขามาศึกษาในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย พบว่า ถ้าเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำให้สูงขึ้น ทุกๆ 1 ตันของผลผลิตจากปาล์มน้ำมัน จะสามารถนำของเหลือผลิตไฟฟ้าได้ 218 หน่วย ดังนั้น จากข้อมูลในปี 2558 ผลผลิตปาล์มจากจังหวัดกระบี่ 3.5 ล้านตัน สามารถนำของเหลือไปผลิตไฟฟ้าได้ 785 ล้านหน่วย ในขณะที่ชาวกระบี่ใช้ไฟฟ้าปี 2558 เท่ากับ 777 ล้านหน่วย
สอง พลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง ถ้าประเทศไทยใช้เยอะๆ จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพง
ถ้าว่ากันตามข้อมูล ประเทศเยอรมนีเคยรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในปี 2005 ในราคาเกือบ 17 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องถือว่าแพงมากสำหรับคนไทยเรา แต่ในปี 2015 ได้ลดลงมาเหลือเพียง 3.40 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยเรารับซื้อในราคา 5.66 บาทต่อหน่วย และโปรดสังเกตจากรูปนะครับว่า ราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลก็ราคาอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกับพลังงานจากโซลาร์ฟาร์ม (สีเข้มๆ ในกราฟแท่งขวามือสุดคือค่าเฉลี่ย สีจางๆ คือค่าแปรผัน)
พลังงานชีวมวล (ซึ่งมาจากพืช และมูลสัตว์) ที่ทางรัฐบาลเยอรมนีรับซื้อก็ถูกกว่าที่ประเทศไทยซื้อ (ขนาดเกิน 5 เมกะวัตต์) ค่อนข้างมาก ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทางรัฐบาลไทยจะแก้ตัวว่าอย่างไร
ในเรื่องพลังงานลม เอกสารของหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนีได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2558 ต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานลม และแสงแดดจะประมาณ 2.73 ถึง 3.90 บาทเท่านั้น
ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ทางรัฐบาลเยอรมนี และรัฐเมืองดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ได้จัดประกวดราคาโซลาร์ฟาร์ม ปรากฏว่า ผู้ชนะได้เสนอราคาที่ 2.90 และ 1.05 บาท เท่านั้น (ผมเคยเขียนถึงแล้ว) โดยมีราคาคงที่ตลอด 25 ปีข้างหน้า ข้อแก้ตัวเรื่องราคาแพง เอาแค่นี้นะครับ
สาม พลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร
คำว่า “เสถียร” แปลว่า “แข็งแรง, มั่นคง, ไม่เปลี่ยนแปลง” ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาเลือกเอาคำแปลไหนไปใช้ แต่จะเถรตรงว่า “ลมไม่แข็งแรง” ก็ไม่จริงเพราะมันทำให้บ้านเรือนพังมามากต่อมากแล้ว
จะเอาความหมายใดก็ตาม ตราบใดที่โลกยังกลม และเอียง จะไม่มีแสงแดดและลมที่ไหนในโลกเสถียร แต่ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากลม และแสงแดดได้จำนวนมหาศาล และมีต้นทุนต่ำด้วยท่ามกลางความไม่เสถียร (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
แต่ความสำเร็จของประเทศเยอรมนีอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลที่ว่า “ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อนเข้าสู่สายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน หากยังไม่พอจึงให้พลังงานฟอสซิลเป็นผู้ผลิต” แต่ประเทศไทยเราทำกลับกัน คือ ให้พลังงานฟอสซิลผลิตก่อน และรับซื้อไฟฟ้าในราคาแพงอย่างน่าเกลียดมาก ในขณะเดียวกัน ก็กีดกันการรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้านทุกวิถีทาง
สี่ พลังงานหมุนเวียนเป็นโรงไฟฟ้าหลัก (Base-Load) ไม่ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการอธิบาย แต่ในที่นี้ผมขอยกแนวคิดซึ่งถือว่าเป็น “กระบวนทัศน์ใหม่” เพื่อให้สังคมไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วอย่างน้อย 2 รัฐของประเทศเยอรมนีที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 100% รวมทั้งได้เกิดขึ้นด้วยการใช้แบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) เพื่อจำลองสถานการณ์
เดิมทีเดียว เชื่อกันว่า ในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศหนึ่งๆ จำเป็นต้องมี “โรงไฟฟ้าหลัก” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากถึง 50-70% ของความต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยความคิดนี้ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีจำนวนน้อย
แต่ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ได้ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น การบริหารระบบการผลิตพลังงานจึงอนุญาตให้พลังงานหมุนเวียนสามารถผลิตได้เต็มความสามารถ หากไม่พอจึงนำพลังงานที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) ได้ดี มาเสริมซึ่งสามารถกระทำได้ทันทีในเวลาที่นับเป็นแค่นาทีเท่านั้น
ภาพข้างบนเป็นการแสดงในเชิงหลักการ แต่ภาพข้างล่างนี้เป็นสถานการณ์จริงซึ่งเกิดขึ้นในรัฐออสเตรเลียใต้ โดยที่พลังงานลม และแสงแดดมีส่วนร่วมในการผลิตรวมกันถึง 41% ซึ่งมากที่สุด
หากกล่าวบนกระบวนทัศน์เดิม พลังงานหมุนเวียนก็สามารถเป็นไฟฟ้าหลักได้
ผมได้นำหลักฐานมาแย้งกับข้อแก้ตัวครบทั้ง 4 ประการแล้ว ขออีกนิดครับ เพราะจะได้เปรียบเทียบกับต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน
จากข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้า (LCOE) ต่อหน่วยของโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ระหว่าง 3.33 ถึง 5.05 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกชนิดที่ผมได้กล่าวมาแล้ว นี่ยังไม่นับต้นทุนภายนอกที่เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก
วันนี้ขอเขียนสั้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาแต่ข้อมูลเพียบ ขอท่านผู้อ่านกรุณาพิจารณาดูซิครับว่า พลังงานหมุนเวียนในบ้านเราแพงเพราะอะไร และถ้าจะมีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนกันเยอะๆ แล้วจะเกิดปัญหาอะไร
สำหรับผมแล้วเห็นว่า มีแต่กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าถ่านหินไม่กี่คนเท่านั้นที่เสียผลประโยชน์ เหตุผลที่เขานำมาแก้ตัว “ขี้หกทั้งเพ”