เมื่อวาน (23 ก.ค.59) ผมได้มีโอกาสร่วมเวทีคอนเสิร์ตเสวนาประเด็นเรื่อง “อธิปไตยปิโตรเลียมไทยเพื่อปวงชนชาวไทย” ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ด้วยความคิดว่า เพื่อให้ทั้งรัฐบาล และประชาชนมีทางออกในการจัดการพลังงาน ผมจึงขออนุญาตขยายประเด็นออกไปเป็น “จากปิโตรธิปไตยสู่ประชาธิปไตยพลังงาน” และในบทความนี้ ผมได้ผสมผสานเนื้อหาทั้งของเวที และของผมเองครับ
ปิโตรธิปไตย คืออะไร
คำว่า ปิโตรธิปไตย (Petrocracy) ถ้าแปลตามตัวหนังสือก็คือ “อำนาจของปิโตรเลียมเป็นใหญ่” แต่ถ้าแปลตามความหมายผมได้แปลว่า คือ “การครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม” ซึ่งผมได้เขียนเป็นหนังสือรวมบทความเมื่อปี 2551 (เป็นเล่มเดียวที่ขายได้หมด)
ในภาพข้างต้นได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย บริษัทน้ำมัน และรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปมีส่วนในการครอบงำเกือบทุกมุมโลก
บนเวทีเสวนา ผมไม่มีเวลามากพอที่จะขยายความ แต่ปัญหาในตะวันออกกลาง ที่ตามมาด้วยปัญหาผู้อพยพจำนวนมหาศาล รวมทั้งการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร การก่อการร้ายล่าสุดในประเทศเยอรมนี ก็ล้วนมาจาก “ปิโตรธิปไตย” ทั้งนั้น
ถ้าให้ชัดกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก ตลอดจน อุซามะห์ บิน ลาดิน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวโจกของปัญหา ต่างก็เคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ครอบงำปิโตรเลียมในตลาดโลกมาแล้วทั้งนั้น
นอกจากนี้ อีกสองปัญหาสำคัญของโลกที่ยังไม่มีทีท่าจะชะลอลงเลย คือ ปัญหาโลกร้อน และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็มีสาเหตุหลักมาจาก “การครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม”
ความจริงที่สำคัญ 5 ประการเกี่ยวกับปิโตรเลียมไทย
เนื่องจากมีผู้นำเสวนาหลายท่าน ผมจึงได้สรุปความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับปิโตรเลียมไทยไว้ 5 ประการ ดังนี้
1. บริษัทต่างชาติที่มารับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย คือ บริษัทยูโนแคล (ของสหรัฐอเมริกา ต่อมา ได้ขายกิจการให้บริษัทเชฟรอน-ดูรูปอีกครั้ง) โดยเริ่มผลิตในปี 2524
เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทยูโนแคล ได้เข้าไปทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2504 (ก่อนประเทศไทย 20 ปี) โดยใช้ระบบ “การแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing)” ซึ่งเป็นระบบที่อำนาจในการบริหารแหล่งปิโตรเลียม ความเป็นเจ้าของปิโตรเลียม เจ้าของอุปกรณ์การผลิต และการจำหน่าย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตยังคงเป็นของรัฐบาลซึ่งตามกฎหมายก็ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน
แต่ระบบสัมปทาน (Concession) ที่ประเทศไทยเรานำมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับระบบการแบ่งปันผลผลิตอย่างสิ้นเชิง
เราได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินของรัฐ หรือของเอกชนก็ตาม ผู้ใดจะนำมาใช้ประโยชน์จะต้องได้รับสัมปทานจากรัฐเท่านั้น แต่เมื่อบริษัทได้รับสัมปทานไปแล้ว อำนาจทุกอย่าง (ที่ได้กล่าวมาแล้ว) จึงเป็นของบริษัท ระบบสัมปทานจึงเป็นระบบเมืองขึ้น ที่อำนาจของเจ้าของแผ่นดิน หรือเจ้าประเทศทั้งหมดได้หลุดไปอยู่ในมือของเจ้าเมืองขึ้น เขาจะทำอะไรก็เป็นสิทธิของเขา
ดังนั้น วาทกรรมที่ว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ก็ไม่ต่างอะไรกับเพลงลูกทุ่งดังในอดีต “จดหมายผิดซอง ...ซองนั้นเป็นของพี่ แต่จดหมายนี้ สิเป็นของใคร... ยิ่งอ่าน ยิ่งช้ำสุดทน โถคน ละไม่น่าหลายใจ” นอกจากเราจะรู้สึกภูมิใจไม่ได้แล้ว ยังรู้สึกเจ็บปวด และเสียศักดิ์ศรีอีกด้วย
2. จากข้อมูลที่ทางราชการไทยได้รับ พบว่า แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณที่บริษัทยูโนแคลได้รับสัมปทานไปนั้นจะหมดภายใน 17 ปีนับจากปีที่เริ่มเจาะ คือ 2524 แต่วันนี้ 2559 ผ่านมา 35 ปีแล้ว ยังไม่หมดเลยครับ และตามกฎหมาย บริษัทนี้ไม่สามารถต่ออายุได้อีกแล้ว จึงเป็นที่มาของการร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ และได้ผ่านวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว โดยที่ร่างดังกล่าวได้ขัดแย้งในประเด็นสำคัญกับที่ได้ผ่านกรรมาธิการพลังงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
3.ส่วนราชการไทยมักจะบอกกับคนไทยว่า ผลประโยชน์ที่คนไทยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแล้ว ประเทศไทยได้รับมากกว่าบริษัท
ข้อมูลที่คนไทยเราได้รับดังกล่าวเป็นการทำให้เราหลงประเด็นครับ ประเด็นสำคัญเราควรจะถามว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานไปนั้นได้รับผลตอบแทนร้อยละเท่าใดของเงินลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ เหมาะสมหรือไม่
จากเอกสารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ในปี 2555 (ซึ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประมาณ $98 ต่อบาร์เรล) ทุกบริษัทรับสัมปทานได้ลงทุนไปประมาณ 1.6 แสนล้านบาท แต่ได้กำไรสุทธิรวม 1.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 117 ของเงินลงทุนในปีนั้น ถามว่ามีกิจการใดบ้างที่เป็นกิจการผูกขาด และรวมทั้งประเทศจะได้กำไรในอัตราสูงถึงขนาดนี้
ผมเคยถามนักศึกษาว่า “ถ้าคุณขายก๋วยเตี๋ยว โดยลงทุนทุกอย่างแล้วรวม 16 บาท คุณควรจะขายชามละกี่บาท” ผมคิดในใจว่าควรจะขายชามละ 25 บาท แต่นักศึกษาหลายคนตอบว่า “35 บาท, 40 บาท ค้าขายก็ต้องมีกำไร”
ผมตอบพวกเขาไปว่า “ถึงคุณจะขาย 35 หรือ 40 บาท ซึ่งกำไรเกิน 100% แต่คุณก็ขายได้ในบริเวณแคบๆ ในซอยริมถนน จะขายทั้งประเทศไม่ได้ แต่กิจการปิโตรเลียมเขาผูกขาดขายทั้งประเทศครับ”
เมื่อประมาณปี 2542 ผมจำได้แม่นเลยว่า เอกสารประชาสัมพันธ์ของบริษัทยูโนแคล ซึ่งเขาได้ไปขุดเจาะในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เขาบอกว่ากำไรเกินครึ่งหนึ่งมาจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียว
4.เมื่อราคาก๊าซในพม่าที่ส่งให้ไทยลดลงเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท แต่ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยไม่ลดลงเลย
ในช่วงปี 2557 ถึง 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงมาก ราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาก็ลดลงในอัตราที่มากกว่า แต่คนไทยเราได้รับข้อมูลจาก “กูรู” ว่า ราคาก๊าซในสหรัฐอเมริกาลดลงเพราะการผลิตจากการระเบิดหิน (Fracking) ราคาก๊าซเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละประเทศเพราะก๊าซของแต่ละประเทศต้องส่งทางท่อซึ่งไปไม่ได้ไกล ต่างกับน้ำมันดิบที่ขนใส่เรือไปทั่วโลก
แต่ผมพบโดยบังเอิญ จากหนังสือพิมพ์ “เมียนมาร์ไทมส์” ว่าราคาก๊าซในพม่าที่ส่วนใหญ่ส่งให้ไทย และจีนก็ลดลงด้วย ในช่วงดังกล่าวราคาก๊าซจากพม่าลดลง 24% แต่ราคาก๊าซที่ปากหลุมในประเทศไทยลดลงเพียง 8% เท่านั้น
ส่งผลให้รายได้ของประเทศพม่า (ในส่วนที่ส่งให้ไทย) ต้องหายไปวันละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือวันละ 35 ล้านบาท แต่ราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทย (ซึ่ง 64% ผลิตจากก๊าซ) ไม่ได้ลดลงเลย (ดูภาพประกอบ)
นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยเราครับ เราทราบดีแล้วว่า อธิปไตยปิโตรเลียมของประเทศไทย ได้หลุดไปอยู่ในมือของบริษัท (ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ) แต่ทำไมมันจึงได้รุนแรงกว่าในประเทศเมียนมาร์
5.คำขู่เรื่องไฟฟ้าจะดับ ถ้าไม่รีบต่ออายุสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกฎ
แหล่งเอราวัณจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 (ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถต่ออายุได้อีกแล้ว) ดังนั้น รัฐบาลซึ่งได้รับการป้อนข้อมูลจาก “กูรู” ได้บอกว่า ถ้าไม่รีบจัดการให้เรียบร้อย เราจะไม่มีก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า ผลที่ตามมา จะทำให้ไฟฟ้าดับ
ผมอยากจะเรียกรัฐบาลนี้ว่า “รัฐบาลแผนโบราณ” จริงๆ แต่ก็เกรงว่าความหมายดีๆ ของคำว่า “โบราณ” มันจะเสียไป เพราะว่าในวันนี้ ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถูกลงกว่าการผลิตจากก๊าซในหลายพื้นที่ของโลกแล้ว
ถ้ารัฐบาลไทยปลดล็อกโดยอนุญาตให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้านสามารถไหลเข้าสู่สายส่งได้ในตอนกลางวัน (แต่คนไม่อยู่บ้าน) แล้วให้ไหลกลับมาในตอนกลางคืน (เมื่อคนกลับบ้าน) เราก็สามารถลดการใช้ก๊าซลงได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใด
ถ้าคนไทย 2 ล้านหลังคาเรือนติดโซลาร์เซลล์ก็ไม่ต้องใช้ก๊าซจากแหล่งเอราวัณได้เลย อย่าคิดว่าตั้ง 2 ล้านหลังคาเรือน มันเยอะจัง แต่อย่าลืมว่า เมื่อเดือนเมษายน 2559 ชาวออสเตรเลียซึ่งมีประชากรแค่ 24 ล้านคน ได้ติดตั้งไปแล้ว 1.4 ล้านหลัง แล้วคนไทยเกือบ 70 ล้านคนจะกลัวอะไร
ถ้าคิดเป็นมูลค่าแสงแดดต่อปีที่รัฐบาลไทยทิ้งไปเฉยๆ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท น่าเสียดายไหมครับ
ความจริงแล้วผมยังได้นำเสนอเพิ่มอีก 1 ความจริงที่คนไทยต้องเจ็บปวดก็คือ ราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยในแต่ละวัน จากการศึกษาทั้งหมด 61 ประเทศของ Bloomberg พบว่า ราคาน้ำมันเบนซินของประเทศไทยเมื่อเทียบกับรายได้ หรือที่เขาเรียกว่า “ความเจ็บปวดที่ปั๊มน้ำมัน”สูงหรือเจ็บปวดมากเป็นอันดับที่ 54 หรือเกือบบ๊วย ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้เจ็บปวดน้อยกว่าเรา คือ อันดับที่ 27 เพราะเขามีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,510 บาท ราคาน้ำมัน 34 บาทต่อลิตร แต่คนไทยเรามีรายได้เฉลี่ย 573 บาท (หรือ 1 ใน 5 ของเกาหลีใต้) แต่ราคาน้ำมัน 34 บาทต่อลิตร
ความจริงเนื้อหาที่ผมได้นำเสนอมานี้ มันได้ครอบคลุมไปถึงเรื่อง “ประชาธิปไตยพลังงานแล้ว” การที่ประชาชนได้มีโอกาสใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ธรรมชาติได้กระจายพลังมาให้สรรพชีวิตทั้งหลายอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน “หนึ่งหัว หนึ่งดวงอาทิตย์” และแย่งกันไม่ได้ มันจะมีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้อีก
ที่สำคัญพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มาสดๆ วันต่อวัน ไม่เป็นพิษ ไม่เหมือนกับพลังงานฟอสซิลที่บูดเน่ามานาน 200 ล้านปีแล้ว
มาถึงตอนนี้ ผมได้ตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่า จากความจริงสำคัญ 5 ประการที่กล่าวมาแล้ว โดยผ่านเรื่องตลกจากหนังตะลุง คนไทยเรารู้สึกอย่างไร
มันรู้สึก “พรื่อโฉ้ๆ” บ้างไหมครับ
หรือว่า “เฮ้ย อย่าคิดมาก คิดมากแล้วมันจะยุ่ง”
หรือเราจะร่วมกันเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาจากกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกระทำโดยเร็ว