xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหิน : สิ่งตกยุคทางประวัติศาสตร์ที่ผู้นำไทยแกล้งไม่รับรู้ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวคิดที่อาจจะนำบางสิ่งบางอย่างไปสู่ความทันสมัย หรือพ้นสมัยที่ผมเรียกว่า “ตกยุคทางประวัติศาสตร์” ผมขอนำเสนอภาพเรื่องราวของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้เกิดขึ้นกับประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (United Kingdom ) ในช่วง 115 ปีที่ผ่านมา โดยที่โรงไฟฟ้าโรงสุดท้ายซึ่งมีอายุการใช้งานนาน 43 ปี ได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ทำให้ขณะนี้ประเทศสกอตแลนด์ที่มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน เป็นประเทศที่ไม่ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว
 

 
นอกจากนี้ รัฐบาลสกอตแลนด์ยังได้ประกาศนโยบายที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้า 100% ภายในปี 2020 หรืออีก 4 ปีเท่านั้น ในขณะที่ประเทศสหราชอาณาจักรทั้งหมดได้ประกาศจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2025 หรืออีก 9 ปีนับจากปัจจุบันซึ่งไม่นานเกินรอ

ปัจจุบันประเทศสกอตแลนด์ได้ใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้าแล้วเกือบ 50% โดยที่ส่วนใหญ่ที่สุด คือ 38% ผลิตกังหันลม และที่น่าทึ่งมากที่สุดก็คือ เขามีเป้าหมายจะลดการใช้พลังงานทุกชนิดลง 12% ภายในปี 2020 แต่ปัจจุบันสามารถลดได้แล้วถึง 14% (ดูภาพประกอบ)
 

 
กลับมาที่โรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของประเทศสกอตแลนด์อีกครั้งครับ โรงไฟฟ้านี้ชื่อ Longannet Power Station มีขนาด 2,304 เมกะวัตต์ ตอนที่สร้างเสร็จเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ต่อมา ก็ถูกโรงอื่นแซงหน้าไป 2 โรง เท่าที่ผมดูจากแผนที่ และรูปภาพพบว่า ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ริมแหล่งน้ำที่เรียกว่า สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Estuary) แล้วก็ไหลออกสู่ทะเลเหนือ คล้ายๆ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มากเลยครับ

แต่ที่ต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ ที่สกอตแลนด์เขามีถ่านหินเป็นของตนเองครึ่งหนึ่ง และนำเข้าอีกครึ่งหนึ่ง โดยใช้ถ่านหินปีละ 4.5 ล้านตัน ในขณะที่ของประเทศไทยเรา รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เป็นการนำเข้าทั้งหมด เฉพาะที่จังหวัดกระบี่อย่างเดียว 800 เมกะวัตต์ ต้องนำเข้าถ่านหินปีละ 2.9 ล้านตัน

ในปี 2009 โรงไฟฟ้า Longannet แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนให้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปเก็บไว้ใต้ดิน (Carbon Capture Storage) ซึ่งถือเป็นการติดตั้งครั้งแรกในสหราชอาณาจักร แต่ใน 2 ปีต่อมาก็ต้องเลิกใช้เพราะการทำงานไม่ได้ผล (นายกรัฐมนตรี David Cameron ใช้คำว่า “isn’t working” https://www.theguardian.com/environment/2011/oct/19/david-cameron-longannet-carbon-capture)

จุดสุดท้ายในการตัดสินปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก่อนที่จะปิดจริงในอีก 2 ปีต่อมาก็เพราะสู้ไม่ได้ “การลงทุนที่สูงขึ้น และภาษีคาร์บอนไดออกไซด์”

เท่าที่ผมตรวจสอบค่าภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ถ่านหินชนิดซับบิทูมินัส ก็เท่ากับ $0.0119 หรือประมาณ 42 สตางค์ต่อหนึ่งหน่วยไฟฟ้า ในขณะที่ของประเทศไทยไม่มีภาษีดังกล่าว แต่เก็บเงินเข้ากองทุนรอบโรงไฟฟ้า 2 สตางค์ต่อหน่วย

โดยการใช้ความรู้ในวิชาเคมีเบื้องต้น ทำให้เราทราบว่า เมื่อเผาถ่านหิน 1 กิโลกรัม จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 3.67 กิโลกรัม (เพราะคาร์บอนจับกับก๊าซออกซิเจนในอากาศ) จากข้อมูลทราบว่า ในการผลิตไฟฟ้า จำนวน 1 หน่วย ต้องใช้ถ่านหินจำนวน 0.47 กิโลกรัม ดังนั้น โรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ที่ทำงาน 75% ของเวลา จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละประมาณ 9.1 ล้านตัน (ปี 2558 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 254 ล้านตัน)

ทำไม “ถ่านหินเป็นสิ่งตกยุคทางประวัติศาสตร์”  

วิธีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำที่คิดค้นโดยชาวอังกฤษในประมาณปี 1880 หรือเกือบ 300 ปีมาแล้ว แม้เชื้อเพลิงที่ใช้จะมาจากดวงอาทิตย์ แต่ก็เป็นเชื้อเพลิงที่ได้สะสมไว้ใต้ดินเมื่อ 200 ล้านปีมาแล้ว ต้องเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะสามารถลงไปขุดขึ้นมาใช้ได้

วิธีการผลิตก็ใช้วิธีการเผาเพื่อเอาความร้อนไปต้มน้ำ แล้วเอาไอน้ำไปหมุนเทอร์ไบน์เพื่อให้ขดลวดทองแดดตัดสนามแม่เหล็กก็จะเกิดกระแสไฟฟ้า ด้วยวิธีการผลิตดังกล่าวทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานส่วนใหญ่ไปกับความร้อน พลังงานจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะกลายมาเป็นไฟฟ้า องค์ความรู้ที่ใช้ก็เป็น “ฟิสิกส์แบบดั้งเดิม” ผู้เขียนหนังสือเล่มที่ผมอ้างถึงในรูปใช้คำว่า “เป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพที่น่าหัวเราะเยาะ”
 

 
ขณะเดียวกัน การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เป็นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์สดๆ วันต่อวัน ซึ่งอยู่บนหลังคาบ้านของตัวเอง ไม่ต้องใช้รถแทรกเตอร์ไปขุด ไม่ต้องใช้น้ำหล่อเย็น ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลิตที่ไหนก็ใช้ในบริเวณใกล้ๆ ที่นั่น องค์ความรู้ที่ใช้ก็คือ“ควอนตัมฟิสิกส์” ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่

ในเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของฟาร์มขนาดใหญ่ ประเทศเยอรมนี (ซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย) ผู้ชนะการประมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ในราคาหน่วยละ 2.90 บาท โดยนาน 25 ปี ในขณะที่ประเทศไทยรับซื้อจากบริษัทในราคา 5.66 บาท และไม่รับซื้อจากหลังคาบ้านผู้พักอาศัย

โรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกาก็ปิดตัวไปเยอะ

ในปี 2015 หรือเมื่อปีที่แล้วปีเดียว โรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกาได้ปิดไปถึง 94 โรง มีกำลังการผลิตรวมกัน 13,556 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปีนี้ คือ 2016 จะปิดอีก 41 โรง (ที่มา https://morningconsult.com/2016/05/03/coal-plants-shutting-without-clean-power-plan/)

ในปี 2016 มี 6 รัฐที่ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว (ดูภาพประกอบ) และอีก 3 รัฐ คือ แมสซาชูเซตส์ (ปัจจุบันมี 1,071 เมกะวัตต์) ออริกอน (ปัจจุบันมี 585 เมกะวัตต์) และวอชิงตัน ได้มีแผนจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2025
 

 
เท่าที่ผมตรวจค้นจาก U.S. Energy Information Administration พบว่า จากปี 2010 ถึง 2015 การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินในสหรัฐอเมริกาได้ลดลงถึง 26.6% ต้องถือว่าเป็นข่าวดีนะครับ

คำพยากรณ์ที่โง่เขลาทางเทคโนโลยีนำไปสู่ความล่มสลายของธุรกิจ

คราวนี้มาถึงเรื่องเชิงแนวคิดของผู้บริหารธุรกิจคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก ด้วยความผิดพลาดในเชิงแนวคิดได้นำไปสู่ความล่มสลายเชิงธุรกิจ แต่ก่อนอื่นผมขอเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัวเราก่อน

เมื่อหลายปีก่อน พิธีกรซึ่งเป็นตลกชื่อดังได้ตั้งคำถามต่อ คุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ศพว่า“คุณหมอเอางานพวกนี้ไปทำต่อที่บ้านไหมครับ” นับว่าเป็นมุกตลกที่คม และขำได้ลึกมากๆ เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า คงไม่มีใครหอบชิ้นส่วนของศพกลับไปพิสูจน์ต่อที่บ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่มีความเชื่อเรื่องกลัวผี

ในทางตรงกันข้าม หรือเหมือนกันผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ คือ ในปี 1977 ซีอีโอของบริษัท Digital Equipment Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ (Mainframe) อันดับต้นๆ ของโลก ได้ให้ความเห็นซึ่งถือเป็นนโยบายของบริษัทนี้ในเวลาต่อมาว่า “เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลที่คนทั่วไปจะมีคอมพิวเตอร์ไว้ที่บ้าน (There is no reason anyone would want a computer in their home.)”

คำพูดดังกล่าวได้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 7 ของ “Foolish Tech Prediction” เพราะดังที่เราทราบกันดีในปัจจุบันนี้ว่า ได้มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเข้ามาแทนคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีใช้กันเฉพาะในมหาวิทยาลัย และได้พัฒนาต่อมาเป็นโทรศัพท์มือถือที่แพร่หลายไปทั่วแทบทุกตัวคน ทั่วทั้งโลกได้อย่างรวดเร็ว

แล้วบริษัท Digital Equipment Corporation ซึ่งในปี 1987 มีพนักงานมากถึง 1.4 แสนคน และมีรายได้หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ต่อปีก็ต้องล่มสลายไปตามระเบียบ เพราะวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาดของซีอีโอที่ชื่อ Ken Olsen

การมองว่า คอมพิวเตอร์คือเครื่องคำนวณขนาดยักษ์ จึงเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลที่คนทั่วไปจะมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานในบ้าน แต่ต่อมาด้วยความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นนับหลายล้านเท่าตัวทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ได้ทำให้คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ได้ลดขนาดลงมาเหลือเล็กเท่าฝ่ามือ มันได้ทำให้ความหมายของคอมพิวเตอร์ต้องเปลี่ยนไปที่เคยใช้ในการคำนวณ กลายมาเป็นโทรศัพท์ ไฟฉาย ทีวี กล้องถ่ายรูป ฯลฯ

ในด้านเทคโนโลยีพลังงานก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่ต้องอาศัยทฤษฎีของ “ควอนตัมฟิสิกส์” ได้ทำให้เทคโนโลยีพลังงานมาบรรจบกับเทคโนโลยีการสื่อสาร (ที่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์มือถือ) กลายมาเป็น “Intergrid” ที่สามารถเป็นตัวกลางให้ไฟฟ้าไหลแบบเดียวกัน “Internet” ที่ข้อมูลไหลไป-มา คือ ผู้ใช้สามารถทั้งส่งและรับข้อมูลได้สองทาง

สรุป 

ประเทศไทยเรา ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2015 กำลังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 9 โรง มีอายุการใช้งาน 40-50 ปี โดยที่แผนดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว (ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเฉลี่ย 3.94% ตลอด 20 ปีจาก 2558 ถึง 2579 โดยที่ในปีแรกมีการเติบโตจริงเพียง 2.0% และคาดว่าปี 2559 จะเติบโตเพียง 3.2%) ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่หลายประเทศเขาได้มองเห็น และปรับตัวกันไปแล้ว

ผมว่าเรื่องราวที่ผมได้กล่าวมานี้ ผู้นำประเทศ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ทราบดี แต่เขาได้แกล้งทำเป็นไม่รับรู้ ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะความเสี่ยงทั้งหลายไม่ได้ตกอยู่กับพวกเขา แต่จะตกกับประชาชนในอนาคต น่าห่วงมากครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น