xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีสื่อนำเสนอบทความ “ไฟใต้...ศึกในหนักกว่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีสื่อนำเสนอบทความเรื่อง “ไฟใต้...ศึกในหนักกว่า” ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยใช้ความรู้สึก และทัศนคติส่วนตัวที่ขาดองค์ความรู้อย่างแท้จริง

วันนี้ (15 ก.ค.) พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่บทความพิเศษ เรื่อง “ไฟใต้...ศึกในหนักกว่า” ซึ่งเป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจถึงการปฏิบัติงาน ซึ่งบทความดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจของพี่น้องประชาชน ดังนี้

1.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนทุกแขนง เพราะเชื่อมั่นในความปรารถนาดีในการช่วยสะท้อนปัญหา ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข แต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยใช้ความรู้สึก และทัศนคติส่วนตัว โดยขาดองค์ความรู้ที่แท้จริง และไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อาจทำให้สังคมเกิดความสับสน และอาจจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึก และความเชื่อมั่นในระบบอำนาจรัฐต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงาน ในเรื่องเอกภาพนั้นเกิดขึ้นจริงในรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเกิดการบรูณาการและประสานสอดคล้องกันตั้งแต่ระดับรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) คอยกำหนดนโยบาย สั่งการ และกำกับดูแลให้ระดับแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนระดับปฏิบัติในพื้นที่ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า (ศอ.บต.สน.) ที่ช่วยขับเคลื่อนงานในด้านการพัฒนาเป็นหลัก และมีศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เป็นหน่วยที่รับผิดชอบในด้านรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การจัดสรรงบประมาณมิได้อยู่ในมือของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรทั้งหมด ตามที่ผู้เขียนบทความได้กล่าวไว้ แต่จะเป็นของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ส่วนหนึ่ง และของกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งหน่วยงานที่ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผน และโครงการประจำปี ทั้งงานด้านการทหาร และด้านการพัฒนา โดยมีเจ้าหน้าที่ในส่วนระดับปฏิบัติในพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อนงาน

ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน จึงไม่จำเป็นที่รัฐบาล คณะรัฐมนตรี จะต้องลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่เพราะได้มอบนโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้รับผิดชอบหลักในระดับพื้นที่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็จะลงมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ตามห้วงเวลาที่เหมาะสม

3.ในขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานหลักในพื้นที่ โดยมี แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นผู้รับผิดชอบ ทำหน้าที่ในการบูรณาการทุกกลไก อำนาจรัฐให้เกิดความเป็นเอกภาพให้สามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อความมั่นคง และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นรายครัวเรือน ให้เป็นไปตามนโยบายประชารัฐ ร่วมใจเพื่อสร้างอำเภอสันติสุข สอดคล้องต่อแผนงาน/โครงการ/งบประมาณ ของแต่ละส่วนราชการ มิใช่เป็นงบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งหมดตามที่เข้าใจ

ทั้งนี้ ได้กระจายอำนาจการบังคับบัญชา ด้วยการมอบอำนาจให้ผู้บังคับหน่วยรอง ตั้งแต่รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ ลงไปถึงระดับต่ำสุดคือ ผู้บังคับหมู่

โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลให้นโยบายดังกล่าวถูกนำไปสู่การปฏิบัติ จึงไม่จำเป็นต้องลงไปก้าวก่ายการปฏิบัติงานของผู้บังคับหน่วยรอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ โครงสร้างของการบังคับบัญชา และการปกครองของหน่วยทหาร โดยตลอดห้วงที่ผ่านมา ทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ และไม่มีประเด็นความขัดแย้งตามที่ผู้เขียนบทความได้จินตนาการแต่อย่างใด

4.ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อย่างรอบด้าน เช่น สถิติเหตุการณ์และการสูญเสีย ทัศนคติและความพึงพอใจของประชาชน และคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ดังกรณีจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสถาบันวิจัยและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยผลสำรวจ เรื่องความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยการสำรวจ พบว่า

4.1 ความรุนแรงในพื้นที่ลดลง พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 63.6, ไม่แน่ใจ ร้อยละ 16.2, ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 18.2
4.2 ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 68.2, ไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.6, ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 13.1
4.3 ความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร้อยละ 71.2
4.4 ความพึงพอใจในผลงานภาพรวมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 72

จากผลการสำรวจสามารถสรุปผลได้ว่า ประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจ และเห็นด้วยต่อการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องคุณภาพชีวิต สภาพเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเข้าใจ และประชาชนให้ความร่วมมือต่อภาครัฐมากขึ้น ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่มีสถิติที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องอะไรก็ตามจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ปราศจากอคติ รวมทั้งต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น