ยะลา - แกนนำเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดยะลา เข้าหารือกับรองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลา ว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจาก จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา จำนวนเกือบ 500 คน ได้รวมตัวกันเดินทางมายังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ต่อเลขาธิการศูนย์อำนวยจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรายงานให้แก่ทางรัฐบาลได้รับทราบ พร้อมกับยื่นข้อเสนอในการเรียกร้อง และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ล่าสุด วันนี้ นายสมนึก ระฆัง ประธานเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดยะลา พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนจำนวนหนึ่งได้เข้าพบกับ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสนั่น สนธิเมือง ผอ.ฝ่ายจิตวิทยา ศอ.บต. และ พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ วังสุภา รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนฝ่ายทหาร
โดยทางกลุ่มเครือข่ายชาวไทยพุทธจังหวัดยะลา ได้นำบันทึกร่างข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อเสนอเพิ่มเติมเป็น 15 ข้อ ในการเข้าหารือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ
1.ขอให้ปฏิรูปการบริหารปกครองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่
2.การปฏิรูปการศึกษา
3.การปฏิรูปพระพุทธศาสนา
4.การพิจารณาความสัมพันธ์กับขบวนการ BRN ของรัฐบาล
5.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
6.ขอให้รัฐบาลให้มาตรา 44 แก้ปัญหา
7.เรื่องการลดภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
8.ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เต็มรูปแบบ และเท่าเทียมกัน
9.ให้เลิกการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการมาราปัตตานี
10.ให้เลิกโครงการพาคนกลับบ้าน
11.ให้เงินช่วยเหลือการศึกษาให้เท่าเทียมกัน
12.ให้จัดงบประมาณช่วยเหลือวัดไทยพุทธ เหมือนกับปอเนาะอิสลาม
13.ให้การช่วยเหลือการไม่มีงานทำของชาวพุทธ ส่งเสริมอาชีพไทยพุทธ
14.ให้สิทธิไทยพุทธและอิสลามเท่าเทียมกันทุกอย่าง
และ 15.ให้จัดพระเข้าไปประจำทุกๆ วัด ไม่ให้เกิดวัดร้าง
นายสมนึก ระฆัง กล่าวว่า ในการเรียกร้องที่ว่าให้เป็นการปกครองพื้นที่พิเศษนั้น ไม่ใช่หมายความว่าเมืองพัทยา หรือเช่น กรุงเทพมหานคร แต่พื้นที่ตรงนี้อยากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในตำบลของตนเอง หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่โยนให้แต่ส่วนกลาง หรือโยนให้แต่ฝ่ายทหาร ตำรวจ ซึ่งจริงๆ แล้วประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ในการดูแลแผ่นดินของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ หรือมุสลิม โดยเฉพาะขบวนการ BRN เป็นขบวนการที่แบ่งแยกดินแดนจริงๆ โดยมีหน่วยงานอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนการพูดคุยกับมาราปัตตานี ตนเองคิดว่าไม่รู้ว่าเขามีอำนาจแค่ไหน เป็นกลุ่มไหน คือ มีการพูดคุยมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จสักที และพอจะมีการพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ปรากฏว่า ก็มีเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องมาเสียชีวิตไปแล้วกว่า 20 ราย ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลก็ทุ่มเต็มที่กับการพูดคุยสันติภาพ แต่รัฐบาลยังไม่รู้ว่ามาราปัตตานีมีอำนาจจริงหรือไม่อย่างไร ทำให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณไปมากโดยไม่ได้อะไร ปัจจุบันพี่น้องชาวไทยพุทธเหลือน้อยลงทุกวัน เช่น ที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ปัจจุบันนี้มีพี่น้องไทยพุทธอยู่แค่ 7 หลังคาเรือนเท่านั้นเอง
ด้าน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยส่วนตัวแล้วยังเชื่อมั่นในกระบวนการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอยู่ เพราะที่ผ่านมา มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงในช่วงก่อนหน้านี้ลดลง แต่เมื่อกลับมามีสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งในส่วนของ ศอ.บต.นั้น ต้องเร่งสร้างกระบวนการรับรู้ ความเข้าใจให้แก่คนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน